xs
xsm
sm
md
lg

Life of Pi : งานดีๆ ที่ไม่ควรพลาด

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


อั้ง ลี คือผู้กำกับภาพยนตร์อีกหนึ่งในโลกนี้ที่ไม่เคยทำให้คนดูผิดหวัง เขาเป็นคนที่ทำหนังซึ่งมีความลุ่มลึกในเชิงเนื้อหาได้ดี ขณะที่ไม่หลงลืมความสนุกของเนื้อเรื่อง และ Life of Pi ก็คือประจักษ์พยานชิ้นสำคัญอีกหนึ่งชิ้นซึ่งทำให้เราเห็นว่า แม้เวลาจะผ่านไป แต่ผู้กำกับคนนี้ก็มือยังไม่ตก หนังเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำในหลากหลายสาขา รวมทั้งรางวัลผู้กำกับและภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และก็เป็นที่แน่ใจได้ว่า บนเวทีออสการ์ ชื่อของ Life of Pi และอั้ง ลี คงมีอยู่ในโผด้วยอย่างปราศจากข้อกังขา

Life of Pi นั้นมีต้นทางมาจากวรรณกรรมยอดเยี่ยมเล่มหนึ่งของโลก นักประพันธ์ชาวสเปนอย่าง “ยานน์ มาร์เทล” ทำให้นวนิยายชิ้นนี้อยู่ในดวงใจของหนอนหนังสือ ด้วยเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ต้องเผชิญกับภาวะโดดเดี่ยวท่ามกลางความเวิ้งว้างของผืนน้ำและความระห่ำของลมฟ้าพายุ ในเรือลำเล็กซึ่งมีสายตาและคมเขี้ยวของเสือเบงกอลคุกคามอยู่ใกล้ๆ แน่นอนว่า ด้วยทิศทางของนิยายซึ่งดูเหมือนจะดำเนินไปด้วยตัวละครเพียงไม่กี่ตัว ก็น่าสนใจว่า พอผ่องถ่ายออกมาสู่แผ่นฟิล์ม มันจะทำให้เป็นหนังสนุกได้อย่างไร อย่างไรก็ดี อั้ง ลี ก็ไม่ถูกดักด้วยข้อจำกัดนี้ เขาทำมันออกมาได้อย่างงดงามหมดจด

“พาย พาเทล” เด็กชายชาวอินเดียที่เติบโตมาในครอบครัวซึ่งพ่อประกอบธุรกิจสวนสัตว์ จนกระทั่งเขาก้าวเข้าสู่วัยรุ่น สถานการณ์บ้านเมืองที่พลิกผัน ทำให้พ่อของเขาจำต้องขายสวนสัตว์ แต่ยังคงเก็บบรรดาสัตว์เหล่านั้นไว้ พร้อมทั้งโยกย้ายครอบครัวและสัตว์เหล่านั้นมุ่งสู่ดินแดนใหม่ อย่างไรก็ดี ในระหว่างการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล เรือเกิดอัปปางด้วยพายุโหมกระหน่ำ และหลังจากความชุลมุนผ่านพ้น ก็เหลือเพียงเด็กหนุ่มกับสัตว์อีกสองสามตัวบนเรือลำเล็กๆ ซึ่งสุดท้าย มันได้กลายเป็นที่มาแห่งเรื่องเล่าอันสุดแสนมหัศจรรย์ของพาย พาเทล

ก่อนจะไปหลงรักเสือเบงกอลที่ชื่อ “ริชาร์ด ปาร์คเกอร์” ผมคิดว่าคนดูน่าจะตกหลุมรักตัวละครอย่างพาย พาเทล มาแล้วตั้งแต่ต้นๆ เรื่อง หนังเล่าตัวละครตัวนี้ออกมาได้แบบมีมิติ ถ้าไม่นับรวมเรื่องการถูกเพื่อนร่วมรุ่นรุมล้ออย่างตลกขบขันแล้ว ในด้านของตัวตน พาย พาเทล ก็ดูน่าสนใจมาตั้งแต่วัยเยาว์ เขาคือเด็กที่อยากรู้อยากเห็นไปซะทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องศาสนา เขาดูอ่อนโยนในภายนอก แต่ลึกๆ ก็แฝงความขบถอยู่ในที ผมชอบบทสนทนาบนโต๊ะอาหารที่พ่อของเขาสาธยายอะไรยืดยาวให้เขาฟัง และเขาก็ฟัง แต่สุดท้าย เขาก็ทำให้ทุกคนหัวเราะออกมาด้วยถ้อยคำที่ใสซื่ออย่างถึงที่สุด

ผมคิดว่าพาย พาเทล นั้นโชคดี เขาเกิดมาในครอบครัวที่พ่อและแม่เหมือนตาชั่งแห่งความคิดความเชื่อ ขณะที่เรานึกชมชอบในตัวพ่อที่ดูมีเหตุมีผลกับการเป็นคนหัวก้าวหน้า แต่แม่ของพาย พาเทล ที่แม้จะมีบทเพียงน้อยนิด แต่ก็มีส่วนทำให้ชีวิตของพาย พาเทล ไม่ขัดแย้งจนเกินไป แม่ของเขากับเรื่องราวเศร้าๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้แม่ตระหนักเห็นความสำคัญของการนับถือศาสนา ผมคิดว่าเนื้อหาสั้นๆ ในช่วงต้นเรื่องที่ยาวราวๆ แค่ยี่สิบนาทีนี้ ได้ฝากรอยจดจำไว้ในใจของคนดูมากพอสมควร เพราะสุดท้ายแล้ว มันได้ทิ้งคำถามเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิทยาการกับความสำคัญของศาสนาที่มีต่อผู้คนไว้ในใจของเราให้ขบคิดต่อไป

พาย พาเทล ในวัยเด็ก คือสัญลักษณ์แห่งเปิดใจ ครอบครัวเขาไม่ปิดกั้น และเขาเองก็เปิดใจ เรียนรู้โลกรอบตัวแบบไม่ตัดสิน เขาโบยบินเข้าไปใต้ชายคาของศาสนาถึงสามศาสนาในวัยนั้น (ฮินดู คริสต์ อิสลาม) จนกระทั่งแม้แต่พ่อของเขายังล้อเอาว่า ถ้าเขานับถือศาสนาเพิ่มอีกสัก 2-3 ศาสนา เขาจะมีวันหยุดครบทั้งปี แน่นอนว่ามันเป็นมุกที่ฟังแล้วน่าขัน แต่ในความรู้สึกนึกคิดของพาย พาเทล ในตอนนั้น เขาเพียงสงสัยว่าเพราะอะไร คนเราถึงต้องจองจำตัวเองไว้กับความคิดความเชื่อของศาสนาใดเพียงศาสนาหนึ่ง ทั้งๆ ที่เรามีโอกาสจะเรียนรู้สัมผัสความหลากหลายเหล่านั้นได้

มองกันอย่างถึงที่สุด ช่วงต้นเรื่องราวๆ ยี่สิบนาทีแรก หนังพยายามสื่อสะท้อนให้เราเห็นถึงเบ้าหลอมอันหลากหลายที่บ่มเพาะตัวตนและจิตวิญญาณของพาย พาเทล ก่อนจะชักนำชะตาชีวิตของเขาเข้าสู่บททดสอบอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อเรือลำนั้นอัปปางกลางทะเล มันเปรียบเสมือนห้วงยามที่จะพิสูจน์ความเชื่อมั่นศรัทธาที่งอกงามอยู่ในใจของเขามาตั้งแต่เยาว์วัย

แทนที่จะเป็นความน่าเบื่อ...ตรงกันข้าม การเล่นกับตัวละครเพียงไม่กี่ตัว คนและสัตว์สองสามชีวิต กลางผืนน้ำที่กว้างใหญ่ ผู้กำกับอั้ง ลี สามารถทำให้หนังมีอรรถรสความน่าติดตามได้อย่างน่าชื่นชม ผมและคุณ นอกจากจะชอบท่าทีที่บางครั้งชวนขันและบางครั้งแลดูน่าเวทนาสงสารของพาย พาเทล แล้ว คู่ปรับของเด็กหนุ่ม อย่างเสือเบงกอลที่มีชื่อเท่ๆ ว่าริชาร์ด ปาร์คเกอร์ ก็กลายเป็นเสน่ห์อย่างยิ่งยวดของหนัง พาย พาเทลมีบทบาทสำคัญเพียงใด ริชาร์ด ปาร์คเกอร์ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านั้น และยิ่งดูไปจนจบ เราจะพบการตีความเจ้าเสือร้ายตัวนี้ในแบบที่ทิ้งคำถามไว้ให้เราครุ่นคำนึง

เหนืออื่นใด ผมคิดว่าวันเวลาช่วงผจญภัยของพาย พาเทล น่าจะส่งผลต่อคนดูในแง่ของพลังชีวิตได้บ้างไม่มากก็น้อย สุดแท้แต่ใครจะรู้สึกจริงจังไปกับหนังมากน้อยเพียงใด การแสดงของเด็กหนุ่มชาวอินเดียนั้น ถ่ายทอดตัวตนและจิตวิญญาณของพาย พาเทล ออกมาได้อย่างงดงามประทับใจ ทั้งความหวาดหวั่น ความโดดเดี่ยว หรือแม้แต่ความคั่งแค้นอัดอั้นจนระเบิดออกมาในเวลาซึ่ง “ถึงที่สุด” แล้วจริงๆ ผมว่าฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่งของหนังก็คือตอนที่เด็กหนุ่มกู่ก้องร้องถามต่อเมฆฟ้านภากาศที่สาดพายุฝนใส่เขา และไม่ว่าเขาจะไถ่ถามต่อพระเจ้าหรือสิ่งใดก็ตาม แต่มันก็คือห้วงยามที่สามารถเกิดขึ้นกับเราๆ ท่านๆ ได้

สุดท้าย ถ้าจะมองหนังเรื่องนี้ให้งาม เช่นเดียวกับความงามของเทคนิคด้านภาพ ผมคิดว่า นอกไปจากการสื่อให้เห็นถึงความพลังแห่งความพยายามและสัญชาตญาณแห่งการดิ้นรนอันไม่สิ้นสุดของมนุษย์ งานชิ้นนี้ยังพูดถึงความสำคัญทั้งของศาสนาและวิทยาการควบคู่กันไป ตั้งแต่ต้นเรื่อง เราก็สัมผัสได้แล้วจากบทพูดของพ่อของพาย พาเทล และถึงกลางๆ เรื่อง ถ้าจะมองกันในเชิงสัญลักษณ์จริงๆ ผมคิดว่าหนังสือคู่มือการเอาตัวรอดในทะเลที่พาย พาเทล ค้นเจอในกล่องบรรจุสิ่งของที่ติดมากับเรือนั้น คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุดสำหรับบางเนื้อหาที่หนังเล่ามาตลอดทั้งเรื่อง

หลังจากชี้แนะและอธิบายวิธีการอะไรเสร็จสรรพแล้ว ข้อแนะนำสุดท้ายที่หนังสือคู่มือเล่มนั้นบอกไว้สั้นๆ ก็คือคำว่า “อย่าสิ้นหวัง” (Don’t lose hope) วิธีการนั้นดั่งวิทยาการ แต่สุดท้ายที่ต้องทำคือย้อนกลับเข้ามาสู่สภาวะจิตใจ และเรื่องจิตใจก็ยึดโยงไปถึงศาสนา เพราะแก่นของศาสนาบรรดามี ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตใจ หลายต่อหลายคน หาเงินได้เป็นร้อยเป็นพันล้าน สุดท้ายก็หมอบคลานเข้าหาธรรม หรือว่าไม่จริง?





กำลังโหลดความคิดเห็น