xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้ปี56รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อ ดันนอนแบงก์ทำไมโครไฟแนนซ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติลั่นปีหน้าเดินหน้าผลักดันให้รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อ เชื่อแบงก์กำไรอู่ฟู่จากสินเชื่อขยายตัวดีตามภาวะเศรษฐกิจ เป็นปีแห่งการสร้างความมั่นคงของระบบและเป็นตัวกลางสำคัญสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ระบุต้องลดต้นทุนให้แบงก์ คาดลดกฎเกณฑ์ในเรื่องของสาขาและผลักดันให้นอนแบงก์ทำไมโครไฟแนนซ์มากขึ้น

นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ในปี 56 ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีกว่าปี 55 จึงมีแนวโน้มกำไรเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อที่ขยายตัวได้ดี ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ดังนั้น ปี 56 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์นำกำไรมาตั้งสำรอง เพื่อเป็นกำลังที่ดีในการสร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง อีกทั้งจะเป็นตัวกลางที่จะปล่อยกู้ เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ ครัวเรือนและเศรษฐกิจประเทศต่อไป
ทั้งนี้ จากการสำรวจของธปท. พบว่า แม้การปล่อยสินเชื่อค่อนข้างดีในช่วงที่ผ่าน โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไม่น่าห่วง เพราะไม่ได้มีปัญหาเรื่องหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) อีกทั้งธนาคารพาณิชย์มีการดูแลคุณภาพสินเชื่อที่ค่อนข้างดี นอกจากนี้เห็นว่าปี 56 ธุรกิจขนาดกลางและใหญ่จะมุ่งลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งตลาดในไทยค่อนข้างอิ่มตัว ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) จะเป็นผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบที่สำคัญให้แก่ธุรกิจที่ไปลงทุนในต่างประเทศ จึงส่งผลให้สินเชื่อยังคงขยายตัวดีอยู่
นางสาลินี กล่าวว่า สิ่งที่ธปท.จะพยายามทำเพิ่มขึ้นในปี 56 ถือเป็นพันธกิจเสริมและเป็นส่วนหนึ่งในแผนกลยุทธ์ ประเด็นแรกดูแลให้ประชาชนมีความรู้บริการทางการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อประชาชนร้องเรียนเข้ามาก็พยายามตอบสนองให้เร็วขึ้น ประเด็นสอง ดูแลให้รายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งกระทรวงคลังทำผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ค่อนข้างได้ผลมาก ขณะที่ธปท.พยายามทำผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยขณะนี้ส่วนหนึ่งธปท.จะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ในระบบวิเคราะห์สินเชื่อรายย่อยที่มีความละเอียดได้เร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง
“ธปท.พยายามส่งเสริมให้คนเล็กๆ เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งรากหญ้าจะมีจำนวนเยอะและมีต้นทุนเข้าถึงค่อนข้างสูง จึงต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปล่อยกู้ต่ำ ซึ่งเท่าที่เราดูตอนนี้ก็มีกฎเกณฑ์บางเรื่องของธปท.ที่ยังส่งผลให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ยังสูงอยู่ เช่น ลักษณะของสาขา เป็นต้น จึงพยายามหาวิธีการมาช่วยสนับสนุนสิ่งเหล่านี้”
การปล่อยกู้ให้แก่ประชาชนระดับรากหญ้า(ไมโครไฟแนนซ์) สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง โดยขณะนี้มองว่าควรเพิ่มจำนวนผู้ให้กู้ที่เป็นบริษัทไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) ซึ่งไม่ได้รับเงินฝากและมีความยืดหยุ่นมาก ซึ่งเรื่องนี้จะทำในระยะต่อไป
สำหรับเหตุผลสำคัญที่ธปท.จะต้องมีพันธกิจเสริม เพราะเห็นว่าโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจำเป็นที่ต้องตอบสนองสังคม ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะต้องพึ่งพาระบบของภาคเอกชนค่อนข้างมากและธปท.เองก็ไม่ได้มีอำนาจไปบังคับได้ แต่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เพื่อเอื้อให้เกิดพันธกิจเสริมเหล่านี้และดูแลประชาชนมากขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น