ความตายที่ก้าวอย่างเงียบๆ มาเยือน “เถ้าแก่เยี่ยม” หรือนายบุญเยี่ยม ตันชัชวาล ด้วยวัย 72 ปี อดีตเจ้าของร้านแสงไทยโลหะกิจกลางเมืองยะลา แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องราวสลักสำคัญอะไรที่รัฐบาลหรือภาคราชการจะต้องใส่ใจพิจารณาเป็นพิเศษ
ยิ่งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งไม่ควรที่ใครจะนำเรื่องนี้ไปรายงานให้รกสมอง เพราะเดี๋ยวจะยิ่งเอ๋อไปกันใหญ่ ส่วนรองนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่ถูกมอบหมายงานให้เกี่ยวข้องกับการดับไฟใต้ก็อย่าไปรบกวนเลย ขนาดบางคนแค่ได้ยินคำชวนให้มาเหยียบแผ่นดินชายแดนใต้อุจาระแทบแตกรดกางเกง สำหรับบรรดาผู้คุมกองกำลังปราบโจรใต้ก็อย่างไปจำจี้จ้ำไชดีกว่า เราจะได้ไม่ต้องทนฟังเสียงคำรามสำรากให้รกหู
เถ้าแก่เยี่ยมเสียชีวิตในสภาพจิตใจที่แสนจะบอบช้ำยิ่งนัก บอบช้ำจากการที่บ้านพักอาศัยและกิจการจำหน่ายสีสเปรย์ เครื่องมือจักรกลและสินค้าทางการเกษตร ซึ่งปลุกปั้นหาเลี้ยงครอบครัวสร้างฐานะมั่นคงมาได้ตลอดทั้งชีวิต กลับต้องมลายหายไปแทบหมดสิ้นในพริบตาชั่วสิ้นเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวกลางใจเมืองยะลาจากเหตุการณ์จักรยานยนต์บอมบ์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555
แม้เหตุการณ์ในวันนั้นเถ้าแก่เยี่ยมจะเอาชีวิตรอดมาได้ แต่ภาพอันโหดร้ายที่ยังความสูญเสียแบบหมดเนื้อหมดตัว ชนิดไม่มีแม้บ้านจะอยู่อาศัย ต้องอพยพครอบครัวตัวเองไปหลบร้อนผ่อนหนาวอยู่ที่บ้านลูกชายที่อยู่ในตัวเมืองยะลาเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ได้กัดกร่อนชีวิตที่เหลืออยู่ทีละน้อยๆ แล้วในที่สุดก็ขาดผึงลงเมื่อร่างกายทนทานไม่ไหวขณะอยู่ในห้องน้ำบ้านลูกชายในช่วงก่อนรุ่งสางของวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา
แม้คนในครอบครัวจะพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รวมถึงส่งให้ถึงมือหมอโดยเร็วที่สุดแล้ว แต่ก็ไม่สามารถยื้อยึดชีวิตเถ้าแก่เยี่ยมให้กลับคืนมาได้ ซึ่งขณะนี้ครอบครัวตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่ที่ฉื่อเซียงตึ้ง มูลนิธิแม่กอเหนี่ยวยะลา
“หลังจากบ้านและร้านได้รับความเสียหายจนหมดสิ้นจากระเบิดในวันนั้น เราต้องไปอาศัยอยู่บ้านลูกชาย เถ้าแก่เยี่ยมก็ยังคงกลับเข้าไปรื้อค้นหาสิ่งของในซากบ้านและร้านที่ถูกไฟไหม้แทบทุกวัน ถูกเศษเหล็กแทงเข้าที่ขาจนเป็นแผลก็เคย ล่าสุดก่อนเสียชีวิตบ่นว่าปวดหัวอยู่หลายวัน น่าจะเป็นผลจากความเครียด สุดท้ายก็ช็อกหมดสติในห้องน้ำ”
นี่คือคำบอกเล่าจากนางวิภารัตน์ ตันชัชวาล ภรรยาของเถ้าแก่เยี่ยม
เมื่อสอบถามถึงเรื่องการเยียวยาช่วยเหลือจากภาครัฐ ภรรยาและลูกๆ ช่วยกันบอกเล่าว่า หลังเกิดเหตุเถ้าแก่เยี่ยมได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือเพียง 180,000 บาท โดยทางจังหวัดบอกว่าให้นำเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินไปยื่นต่อศูนย์ปฏิบัติการเยียวยา เพื่อทำเรื่องร้องขอค่าเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ หลักฐานและสิ่งของทุกอย่างถูกเผาหมดไปกับกองเพลิง แล้วจะเอาอะไรไปยื่นได้อีก
ผมนำเรื่องราวของเถ้าแก่เยี่ยมมาเล่าให้ฟัง เนื่องจากภายหลังที่ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” รายงานข่าว (“เถ้าแก่เยี่ยม” เจ้าของร้านแสงไทยฯ ยะลา เครียดเป็นลมเสียชีวิตหลังถูก จยย.บอมบ์จนหมดตัว http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9550000155943) ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาคึกคักและมีหลากหลายแง่มุมให้ขบคิดต่อพอสมควร
ประเด็นหนึ่ง เป็นเรื่องสุดอเนจอนาถใจของผู้คนจำนวนมากคือ คนเสื้อแดงร่วมกันเผาเมือง ตายแล้วยังได้รับการเยียวยาถึง 7.75 ล้านบาท แต่คนค้าขายสุจริตอย่างเถ้าแก่เยี่ยม ถูกโจรใต้วางระเบิดทั้งบ้านและร้านค้าชนิดหมดเนื้อหมดตัว แถมต้องจมจ่อมอยู่กับกองทุกข์ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ซึ่งกัดกร่อนสภาพจิตใจที่บอบช้ำอย่างสาหัส และสู้ทนอยู่ได้เพียงเดือนกว่าร่างกายก็รับไม่ไหว เมื่อสิ้นลมหายใจจากสาเหตุที่ตกเป็น “เหยื่อไฟใต้” โดยตรง แต่กลับได้รับการเยียวยาเพียง 1.8 แสนบาท
ทำไมชีวิตของสุจริตชนอย่าง “เถ้าแก่เยี่ยม” จึงต่ำต้อยด้อยค่ากว่า “คนเสื้อแดง” ราวสุดปลายฟ้ากับก้นเหวลึก
ประเด็นหนึ่ง การเยียวยาในครั้งนี้หน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลปูแดงขาเกให้เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบโดยตรงก็คือ “ศอ.บต.” ในเวลานี้ผู้ที่ถูกส่งมานั่งบัญชาการในฐานะเลขาธิการได้แก่ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นที่รับรู้กันทั้งบ้านเมืองมาตลอดว่าคือ สายตรงของระบอบทักษิณ และสายสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้นำหญิง ซึ่งจะถูกส่งมาเพื่อภารกิจอะไรก็ตาม แต่เสียงแซดที่ตามหลังมาด้วยก็คือ เพื่อการไต่เต้ารอกลับไปนั่งเป็นปลัดกระทรวงสำคัญ
ความจริงแล้วปัญหาการเยียวยาเหยื่อไฟใต้ไม่ใช่เพิ่งเกิด นับตั้งแต่นักโทษหนีคุกทักษิณ ชินวัตร จุดไม้ขีดก้านแรกส่งผลให้ไฟใต้ระลอกใหม่ปะทุคุโชนเมื่อต้นปี 2547 พร้อมๆ กับเปิดยุทธการดับไฟใต้ด้วยการให้เอาเบนซินไปราดรดต่อเนื่องเกือบทศวรรษมานี้ กระบวนการเยียวยาเหยื่อไฟใต้ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่ง มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องและร้องเรียนมากมาย มีการแบ่งฝักฝ่ายและเล่นพวกเล่นพ้อง โดยเฉพาะกับความเลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมมีต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
เวลานี้ปัญหาการเยียวยาไฟใต้น่าจะถูกยกระดับให้เป็นอีกวิกฤตชาติสำคัญ ที่สามารถแยกออกจากวิกฤตไฟใต้ได้แล้ว
แต่ประการที่ต้องนับว่าสำคัญยิ่งก็คือ หลายปีที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขรมต่อกระบวนการดับไฟใต้ หอกและดาบแทบทั้งหมดที่ถูกทำให้พุ่งออกไปไม่ว่าจากสื่อหรือฝ่ายใด แทบจะกล่าวได้ว่าล้วนมีเป้าหมายอยู่ที่ฝ่ายคุมกองกำลังรัฐ โดยเฉพาะฝ่ายทหารที่ถืออำนาจมากที่สุด ตามด้วยฝ่ายตำรวจที่มีหน้าที่โดยตรง ซึ่งข้อกล่าวหาที่นับว่ารุนแรงประเภทค้าสงคราม เลี้ยงไข้โจรใต้ หากินกับงบประมาณ หรือนับแต่เกิดไฟใต้ระลอกใหม่มีแต่ภาพแห่งความล้มเหลวปรากฏชัดมาตลอด ข้อกล่าวหาเทือกนี้หากพิจารณาให้ดีก็ดูเหมือนว่าจะมีความเป็นไปได้เสียทั้งหมด
ทว่า ในส่วนของฟากฝ่ายพลเรือนนกลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์น้อยมาก ที่ยังมีอยู่บ้างก็แค่พอเป็นกษัยคือพุ่งไปหา ศอ.บต. หน่วยงานนี้ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นหัวใจของฝ่ายพลเรือนในจังหวัดชายแดนใต้นั่นเอง
ดังนั้น ความล้มเหลวในกระบวนการเยียวยาไฟใต้มันคือการตอกย้ำว่า แท้จริงแล้วการทำหน้าที่ของ ศอ.บต.ที่เป็นใจกลางของฝ่ายพลเรือนก็ล้มเหลวไม่ต่างจากฝ่ายกองกำลัง ซึ่งมันคือภาพสะท้อนต่อไปให้เห็นว่า ไม่ว่าจะหน่วยงานรัฐที่มุ่งเน้นงานความมั่นคง การไล่ล่าปราบปรามขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานด้านการพัฒนาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ต่างล้วนปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างล้มเหลวด้วยกันทั้งสิ้น
สุดท้ายจึงเป็นอื่นไปไม่ได้ ทั้งหมดทั้งปวงก็คือการฉายภาพให้เห็นกระบวนการดับไฟใต้ของฝ่ายกุมอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะประกาศยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีอะไรไปแล้วมามายมาย ไม่ว่าจะยุบทิ้งหรือก่อตั้งองค์กรหรือหน่วยงานอะไรขึ้นมาใหม่ให้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะทุ่มเทงบประมาณลงไปให้แล้วหลายแสนล้านล้านบาทและกำลังจะติดตามมาอีกนับแสนนับล้านบาท ไม่ว่าจะมอบหมายให้ใครหน้าไหนรับผิดชอบ และที่สำคัญไม่ว่าระบอบทักษิณจะเปลี่ยนรัฐบาลมาแล้วกี่ชุดต่อกี่ชุดก็ตาม ความล้มเหลวของกระบวนการดับไฟใต้ก็ยังคงดำรงอยู่ให้เห็นอย่างเป็นที่ประจักษ์
ช่วงเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่เวลานี้ เป็นห้วงเวลาเดียวกับการย่างเข้าสู่ปีที่ 10 ของวิกฤตไฟใต้ระลอกใหม่ ซึ่งนับเอาเหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายปิเหล็งที่นราธิวาสเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นจุดเริ่มต้นนั้น ผมอยากเสนอว่าให้รัฐบาลปูแดงจัดฉลองใหญ่ โดยเชิญคนเสื้อแดงมาชุมนุมที่ชายแดนใต้ ซึ่งจะให้มีการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงเพิ่มขึ้นอีกก็ยิ่งดี แล้วระดม ครม.ไปตั้งโต๊ะทำแอ็กอาร์ตประชุมในเวลาเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้นเชิญนักโทษหนีคุกไปเป็นสัมภเวสีเร่ร่อนอยู่นอกประเทศให้สไกด์หรือวิดีโอลิงก์โชว์ตัวแบบเป็นๆ สมทบเข้าไปด้วย
รับรองกระบวนการดับไฟใต้ในปี 2556 จะดูครึกครื้นและครึกโครมแบบเร้าใจได้เพิ่มขึ้นอีกเยอะ