xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้หลังศึกอภิปราย คนไทยมองการเมืองเท่าเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดุสิตโพลเผยความเห็นคนไทยหลังศึกอภิปราย ระบุความเชื่อมั่นรัฐ-ฝ่ายค้าน “ปู-มาร์ค” รวมไปถึงภาพรวมการเมืองยังคงเท่าเดิม ขณะที่ส่วนใหญ่เชื่อลมปากนักการเมืองจะพัฒนาประเทศ จี้รัฐบาลเร่งจัดการคอร์รัปชัน ขอฝ่ายค้านมีหมัดเด็ดศึกอภิปราย ด้านเอแบคโพลเผยคนไทยทุกข์การเมืองขัดแย้ง ส่วนความสุขคนไทยพุ่งได้จงรักภักดี

วานนี้ (2 ธ.ค.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,356 คน ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2555 ในหัวข้อ “ความเชื่อมั่น” “การเมืองไทย” หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยระบุว่า หลังจากการอภิปรายเสร็จสิ้นลง และมีการลงคะแนนไปแล้ว แต่การอภิปรายของฝ่ายค้านและการตอบของรัฐบาล ย่อมมีผลต่อความเชื่อมั่นทางการเมืองของประชาชน เพื่อที่จะรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในแต่ละด้านให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะที่ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองและแสวงหาฐานข้อมูลด้านความคิดเห็นของประชาชน สรุปผลดังนี้

เมื่อถามถึง “ความเชื่อมั่น” ของประชาชน ต่อ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในฐานะนายกรัฐมนตรี หลังการอภิปรายอันดับ 1 เชื่อมั่นเท่าเดิม 55.31% เพราะยังคงไว้วางใจให้นายกฯเดินหน้าบริหารบ้านเมืองต่อไป เชื่อว่า นายกฯจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ฯลฯอันดับ 2 เชื่อมั่นน้อยลง 23.89% เพราะยังมีบางประเด็นที่ไม่สามารถชี้แจง หรือแก้ปัญหาให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ อันดับ 3 เชื่อมั่นมากขึ้น 20.80% เพราะนายกฯสามารถชี้แจงประเด็นต่างๆ ด้วยความมั่นใจ มีความเข้าใจในเรื่องการเมือง และมีประสบการณ์ทางการเมืองมากขึ้น ฯลฯ

เมื่อถามถึง “ความเชื่อมั่น” ของประชาชน ต่อ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน หลังการอภิปรายอันดับ 1 เชื่อมั่นเท่าเดิม 55.73% เพราะยังทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านที่ดี คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่ยังคงใช้หลักการเดิมๆ ฯลฯ อันดับ 2 เชื่อมั่นน้อยลง 24.85% เพราะการอภิปรายครั้งนี้ยังไม่สามารถเอาผิดรัฐบาลได้ ข้อมูล หลักฐานต่างๆ ยังอ่อนไป ฯลฯ อันดับ 3 เชื่อมั่นมากขึ้น 19.42% เพราะการอภิปรายครั้งนี้สามารถทำหน้าที่ได้ดี มีบุคลิกภาพที่ดี การวางตัวเหมาะสม มีความเป็นผู้นำ ฯลฯ

เมื่อถามถึง “ความเชื่อมั่น” ของประชาชน ต่อ “รัฐบาล” หลังการอภิปรายอันดับ 1 เชื่อมั่นเท่าเดิม 48.00% เพราะคิดว่าการทำงานของรัฐบาลมาถูกทางแล้ว แต่ควรให้เวลาในการทำงานต่อไปอีกสักระยะ ปัญหาบ้านเมืองมีมาก ฯลฯ อันดับ 2 เชื่อมั่นน้อยลง 34.22% เพราะมีหลายโครงการที่รัฐบาลดำเนินการผิดพลาด โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ฯลฯ อันดับ 3 เชื่อมั่นมากขึ้น 17.78% เพราะมีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมืองมากขึ้น สิ่งไหนที่ผิดพลาดก็น่าจะนำมาแก้ไขให้ดีขึ้น เพื่อพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาล ฯลฯ

เมื่อถามถึง “ความเชื่อมั่น” ของประชาชน ต่อ “ฝ่ายค้าน” หลังการอภิปรายอันดับ 1 เชื่อมั่นเท่าเดิม 47.53% เพราะเชื่อว่าฝ่ายค้านก็ยังคงต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลต่อไป โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำทีม ฯลฯ อันดับ 2 เชื่อมั่นน้อยลง 31.39% เพราะยังไม่สามารถหาข้อมูล หรือประเด็นใหม่ๆ มาอภิปรายได้ เน้นแต่โจมตีรัฐบาลมากเกินไป อภิปรายนอกประเด็น ฯลฯ อันดับ 3 เชื่อมั่นมากขึ้น 21.08% เพราะฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ดี การอภิปรายในภาพรวมถือว่าเป็นไปค่อนข้างเรียบร้อย มีการเตรียมพร้อมเตรียมข้อมูลมากขึ้น ฯลฯ

ขณะที่ถามถึง “ความเชื่อมั่น” ของประชาชน ต่อ “ภาพรวมการเมืองไทย” หลังการอภิปรายอันดับ 1 เชื่อมั่นเท่าเดิม 51.56% เพราะการเมืองไทยมีผลต่อการพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน นักการเมืองทุกคนคงอยากเห็นประเทศชาติพัฒนา ฯลฯ อันดับ 2 เชื่อมั่นน้อยลง 32.00% เพราะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างมุ่งหวังแต่เอาชนะกัน มัวแต่เล่นเกมการเมือง มุ่งหวังแต่อำนาจและผลประโยชน์ ฯลฯ อันดับ 3 เชื่อมั่นมากขึ้น 16.44% เพราะทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างมีทีมงานและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน ฯลฯ

และเมื่อถามว่า สิ่งที่ “รัฐบาล” ควรนำผลจากการอภิปรายไปใช้คือเรื่องใด? อันดับ 1 การตรวจสอบและแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง 54.26% อันดับ 2 เร่งหามาตรการหรือแนวทางในการบริหารงานที่ชัดเจน พร้อมทั้งแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ 26.71% อันดับ 3 การพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่เหมาะสม ไม่แทรกแซงการทำงานของบุคคลอื่น 19.03% เมื่อถามว่า สิ่งที่ “ฝ่ายค้าน” ควรนำผลจากการอภิปรายไปใช้คือเรื่องใด? อันดับ 1 การตั้งโจทย์ ประเด็นในการอภิปรายในครั้งต่อไปต้องรัดกุมมากขึ้น 44.91% อันดับ 2 การรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆจะต้องชัดเจน เป็นข้อมูลใหม่ๆ ตรงประเด็น น่าเชื่อถือ 36.23%อันดับ 3 ตั้งใจทำหน้าที่ในฐานะของฝ่ายค้านต่อไปถึงแม้จะเป็นเสียงข้างน้อย 18.86%

*เผยคนไทยทุกข์การเมืองขัดแย้ง

ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความสุขประเทศไทยกับความสำนึกรู้คุณแผ่นดินประจำเดือนพฤศจิกายน 2555 โดบสำรวจประชาชนทั่วประเทศ พบว่า ความสุขคนไทยเพิ่มขึ้น จากความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติ และการแสดงความจงรักภักดี โดยได้คะแนน 9.10 เพิ่มจากเดิมที่ 9.06 คะแนน ส่วนค่าเฉลี่ย ที่พบว่าลดลงมากที่สุดคือ สถานการณ์การเมืองโดยภาพรวม ได้ 5.04 จากเดิม 5.17 คะแนน

อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยนความสุขที่เห็นคนไทยแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบัน จำแนกตามกลุ่ม พบว่า กลุ่มสนับสนุนรัฐบาล มีค่าเฉลี่ยความสุข 9.16 กลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล มีค่าเฉลี่ย 9.15 และกลุ่มพลังเงียบ มีค่าเฉลี่ย 9.18 ตามลำดับ พร้อมกันนี้ ยังพบว่า รูปแบบการสำนึกรู้คุณแผ่นดินที่ตั้งใจจะทำเพื่อในหลวง คือ การแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบัน ร้อยละ 94.8 และการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 90.5
กำลังโหลดความคิดเห็น