xs
xsm
sm
md
lg

“ดุสิตโพล” ชี้ประชาชนไม่เชื่อข้อมูลซักฟอกทั้งสองฝ่าย-ประทับใจ “ปู-มาร์ค” อภิปราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
สวนดุสิตโพลสำรวจความคิดเห็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในทัศนะของประชาชน พบส่วนใหญ่สนใจอยู่บ้าง แต่ไม่ค่อยกระทบกับการดำรงชีวิต พอใจการเปิดเผยข้อเท็จจริง แต่ไม่เชื่อข้อมูลทั้งสองฝ่ายเพราะเบื่อการเมือง แต่ยังเชื่อได้ประโยชน์ พบ “ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์” ได้รับความประทับใจการอภิปราย

วันนี้ (27 พ.ย.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้เปิดเผยผลสำรวจในหัวข้อ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในทัศนะของประชาชน” จากที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเพื่อตรวจสอบการทำงาน ซึ่งกระแสข่าวดังกล่าวได้รับความสนใจและมีการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนที่ติดตามการเมืองและการอภิปรายมาโดยตลอด เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อการอภิปรายครั้งนี้ สวนดุสิตโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ทั่วประเทศ จำนวน 1,194 คน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการอภิปรายที่จะมีขึ้น ระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย. 2555 สรุปผลดังนี้

เมื่อถามว่า ประชาชนสนใจการอภิปรายไม่ไว้วางใจมากน้อยเพียงใด พบว่า อันดับ 1 สนใจอยู่บ้าง ร้อยละ 52.63 เพราะมีประเด็นทางการเมืองหลายเรื่องที่ประชาชนต่างให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ เช่น โครงการรับจำนำข้าว ฯลฯ, อันดับ 2 สนใจมาก ร้อยละ 23.02 เพราะการเมืองไทยมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆด้าน มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ฯลฯ, อันดับ 3 ไม่ค่อยสนใจ ร้อยละ 18.42 เพราะมีแต่โต้เถียงกันไปมา ขุดคุ้ยเรื่องเก่า พูดพาดพิงผู้อื่นให้เสียหาย หวังแต่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ฯลฯ, อันดับ 4 ไม่สนใจ ร้อยละ 5.93 เพราะเบื่อ ไม่ชอบการเมือง ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ

เมื่อถามว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือไม่ พบว่า อันดับ 1 ไม่ค่อยกระทบ ร้อยละ 40.13 เพราะเป็นเรื่องของ ส.ส. ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน เป็นการอภิปรายในเรื่องเดิมๆ ฯลฯ, อันดับ 2 กระทบบ้าง ร้อยละ 30.92 เพราะเมื่อติดตามการอภิปรายบางครั้งรู้สึกเครียด ไม่เข้าใจการทำงานของนักการเมือง ฯลฯ, อันดับ 3 ไม่มีผลกระทบ ร้อยละ 17.63 เพราะไม่ได้สนใจหรือติดตาม ไม่มีผลกับการดำรงชีวิตประจำวัน ฯลฯ, อันดับ 4 กระทบมาก ร้อยละ 11.32 เพราะชีวิตของประชาชนขึ้นอยู่กับนักการเมือง สภาพเศรษฐกิจยังไม่ดี ข้าวของแพง ฯลฯ

เมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนพอใจในการอภิปรายครั้งนี้คืออะไร พบว่า อันดับ 1 การรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ เพิ่มมากขึ้น ประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น ร้อยละ 48.52, อันดับ 2 ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเตรียมตัวมาดี มีข้อมูลเอกสารมาชี้แจง ร้อยละ 29.18, อันดับ 3 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขึ้นชี้แจงด้วยตนเอง ร้อยละ 14.59, อันดับ 4 ส.ส.ส่วนใหญ่ให้ความเคารพประธานสภาและที่ประชุมดี ร้อยละ 7.71 แต่เมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนไม่พอใจในการอภิปรายครั้งนี้คืออะไร พบว่า อันดับ 1 มีการโต้เถียง ทะเลาะเบาะแว้ง ลุกขึ้นประท้วง ร้อยละ 30.27, อันดับ 2 พูดจาโจมตีกันไปมา นำเรื่องเก่ามาพูด ร้อยละ 25.58, อันดับ 3 ใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม ร้อยละ 24.11, อันดับ 4 พูดพาดพิงบุคคลอื่น พูดนอกประเด็น ร้อยละ 20.04

เมื่อถามว่า ประชาชนเชื่อข้อมูลของใครมากกว่ากัน พบว่า อันดับ 1 ไม่เชื่อทั้งสองฝ่าย ร้อยละ 41.06 เพราะเบื่อการเมือง มีแต่การโต้เถียงทะเลาะเบาะแว้ง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว หยิบยกแต่เรื่องดีๆมาพูด ฯลฯ, อันดับ 2 เชื่อฝ่ายรัฐบาลมากกว่า ร้อยละ 24.50 เพราะสามารถตอบโต้ ชี้แจงได้ทุกประเด็น รัฐบาลให้ความช่วยเหลือประชาชนจริง ฯลฯ, อันดับ 3 เชื่อพอๆ กัน ร้อยละ 19.21 เพราะต่างฝ่ายต่างมีข้อมูล เหตุผลมาหักล้างพอๆกัน พูดโต้ตอบได้ดีทั้งสองฝ่าย ฯลฯ, อันดับ 4 เชื่อฝ่ายค้านมากกว่า ร้อยละ 15.23 เพราะเอกสารหลักฐาน คลิปภาพที่นำมาดูมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ มีการเตรียมตัวมาดี ฯลฯ

เมื่อถามว่า ประชาชนประทับใจการอภิปรายของใครมากที่สุด ในส่วนของฝ่ายรัฐบาล พบว่า อันดับ 1 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 51.79, อันดับ 2 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 38.95, อันดับ 3 พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ร้อยละ 9.26 ในส่วนของฝ่ายค้าน พบว่า อันดับ 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ร้อยละ 50.04, อันดับ 2 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ร้อยละ 25.13, อันดับ 3 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน ร้อยละ 24.83

เมื่อถามว่า ประชาชนได้รับประโยชน์จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้หรือไม่ พบว่า อันดับ 1 ได้รับประโยชน์ ร้อยละ 51.65 เพราะได้รับรู้ข้อมูลต่างๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน มีความเข้าใจในการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น ได้เห็นการอภิปรายของทั้ง 2 ฝ่าย ฯลฯ, อันดับ 2 ไม่ได้รับประโยชน์ ร้อยละ 48.35 เพราะเป็นเรื่องของการเมือง ไม่ได้ช่วยให้บ้านเมืองหรือประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รัฐบาลมีเสียงมากกว่า ฯลฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น