ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ที่แล้ว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมนายกเทศมนตรีในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 3 (Asian Mayors Forum : AMF) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี โดยการประชุมครั้งนี้มีตัวแทนนายกเทศมนตรี และผู้ว่าการเมืองในภูมิภาคเอเชีย จำนวน 40 เมือง เข้าร่วมประชุม
มติการประชุม ก็เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาของแต่ละเมือง เช่น ปัญหาขยะล้นเมือง ปัญหาสาธารณสุข ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ปัญหาน้ำสกปรก นำไปสู่แนวทางการปฏิบัติ และ นำมาพัฒนาเมืองของแต่ละประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของกลุ่มเมืองในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และเมืองต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย และเสริมภาพลักษณ์ให้กรุงเทพมหานครเตรียมพร้อมก้าวสู่เวทีโลก
มีการกำหนดหัวข้อการประชุมหลัก เรื่อง การริเริ่มของเมืองเพื่อความก้าวหน้าและความเสมอภาค และหัวข้อการประชุมกลุ่มย่อย 3 หัวข้อ ได้แก่ ความท้าทายร่วมกันของเมืองในภูมิภาคเอเชีย ความร่วมมือระหว่างเมืองต่อเมือง และการปกครองท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชน
การประชุม จะมีผลอย่างไร เชื่อว่าคงไม่เป็นข่าวใหญ่โตแน่ เพราะการประชุมประเภทนี้ ก็เปรียบเหมือนนักการเมืองระดับท้องถิ่นของประทศต่าง ๆ เดินทางมาท่องเที่ยวในภูมิภาคใหม่ ก็ไม่ต่างกันนัก
จะสอดคล้องหรือไม่ เพราะ กทม. เคยประกาศ แผนวิสัยทัศน์พัฒนากรุงเทพฯ 2575 อีก 20 ปีข้างหน้า ให้เป็น "มหานครแห่งเอเชีย" เมืองกรุงเทพฯ ในฝัน
มีการปรับโครงสร้างเมืองจากเดิมที่เป็นเมืองใหญ่และแออัด ไปเป็นกลุ่มเมืองขนาดเล็กหลายๆ เมืองประกอบกัน โดยแต่ละเมืองจะมีฐานเศรษฐกิจ การจ้างงาน ที่พักอาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล และย่านการค้าอย่างครบครัน ส่วนด้านสังคม จะมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค รองรับกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพ รวมถึงผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น ถนน ทางเดิน พื้นที่สาธารณะ สัญญาณจราจร และระบบบริการสาธารณะต่างๆ
เมื่อกทม.กำลังจะเป็นเมืองใหญ่ระดับโลก
วันนี้ก็เลยมีข้อเสนอใหม่ ๆ ให้เทียบกับเมืองระดับโลก
เมื่อ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง และในฐานะประธานหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ออกมาเสนอแนะว่า
จากการที่ท่านได้เป็นอาจารย์พิเศษ ณ สถาบันการศึกษาระดับสูงหลายแห่ง พบว่า หลายฝ่ายมีข้อพิจารณาถึงชื่อตำแหน่งผู้บริหารทางการเมืองของกรุงเทพมหานคร สมควรที่จะปรับเปลี่ยนจาก “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (Governor of Bangkok Metropolitan)” เป็น “นายกเทศมนตรีกรุงเทพมหานคร (Lord Mayor of Bangkok Metropolitan)” ในสมัยการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้
สาเหตุที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทางการศึกษาได้ถูกต้องว่าประเทศไทยมีรูปแบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย 76 จังหวัด ไม่ใช่ 77 จังหวัดตามที่มีการกล่าวกันอย่างผิด ๆ กับอีกทั้งชื่อของตำแหน่งที่เป็นภาษาอังกฤษ คือ Lord Mayor ยังถือเป็นเกียรติต่อผู้บริหาร กทม. ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง
เช่นเดียวกับ Lord Mayor of the City of London (นายกเทศมนตรีมหานครลอนดอน) Mayor of New York City (นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก) และนครสำคัญแห่งอื่น ๆ ของโลก
ทั้งนี้ตั้งแต่อดีตตราบจนปัจจุบัน คำว่า “ผู้ว่าราชการ” จะสื่อความหมายถึงบุคคลผู้เป็นข้าราชการประจำ (Civil Servant) ซึ่งรูปแบบการบริหารจัดการของ กทม.
จัดเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่น(Local Administration) เช่นเดียวกับเมืองพัทยา อบจ. เทศบาล และอบต. ซึ่งนักเรียนนักศึกษามีความสับสนในการทำความเข้าใจ และจำแนกแยกแยะได้ไม่ถูกต้องระหว่างรูปแบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค คือ ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ แรงงานจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ฯลฯ
ม.ล.ปนัดดา ให้ความเห็นว่า ตำแหน่งต่างๆ ต่างทำหน้าที่ดำรงความเป็นหนึ่งประเทศเดียวกัน และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น คือ ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. นายกเมืองพัทยา นายก อบจ. นายกเทศมนตรี และนายก อบต. ฯลฯ การพิจารณาปรับเปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นจะก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องและเหมาะสม
ดูจากบทสัมภาษณ์ของรองปลัดมหาดไทย ก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อเปลี่ยนมาเป็น “นายกเทศมนตรีกรุงเทพมหานคร” แล้ว ชื่อตำแหน่งทางการบริหารของกรุงเทพมหานคร
เช่น รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (Deputy Bangkok Governor) ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (Adviser to Bangkok Governor) เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (Secretary to Bangkok Governor)
หรือตำแหน่งจากการเลือกตั้ง อื่น ๆเช่น ประธานสภากรุงเทพมหานคร (Chairman of the Bangkok Metropolitan Council) รองประธานสภากรุงเทพมหานคร (Vice-Chairman of the Bangkok Metropolitan Council) สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (City Councilor) สมาชิกสภาเขต (District Councilor)
หน่วยราชการกทม. อย่าง ปลัดกทม. ผู้อำนวยการเขต จะต้องเปลี่ยนเป็น ปลัดเทศบาลนครกทม. ผู้อำนวยการเขตเทศบาล กทม.หรือไม่
รวมทั้งชื่อตำแหน่งต่าง ๆใน กทม.อีกกว่า 100 ตำแหน่ง เช่น ในโรงเรียนสังกัดกทม. จะต้องเปลี่ยนตามหรือไม่
ข้อเสนอนี้ ก็ไม่รู้ว่าเลือกตั้งผู้ว่ากทม. เดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการเปลี่ยนให้ทันได้หรือไม่
เปลี่ยนมาเป็น“นายกเทศมนตรีกรุงเทพมหานคร”ก็เท่ห์ดี
ว่าแต่จะเป็น“Lord ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร”หรือ “Lord พลตำรวจเอก พงศพัศ พงษ์เจริญ”ดี