xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (36)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

*แนวทางการพัฒนาศักยภาพของสมองด้วยกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*

ทั้งการบำเพ็ญมี่ซิว ชี่กง และโยคะ ล้วนมุ่งไปที่การต่อต้านสิ่งเร้าจากภายนอก หรือ “อินทรียสังวร” ซึ่งก็คือการสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 หรือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส และระวังมิให้กิเลสครอบงำใจในเวลารับรู้ เพื่อปรับสภาพร่างกายจิตใจให้อยู่ในสภาวะสูงสุดที่สามารถควบคุมสั่งการได้ด้วยจิตสำนึก

หลักการหายใจเพื่อสุขภาพและการมีอายุยืนของชี่กง (เต๋า) จะเริ่มจากง่ายไปสู่ยาก จากเบาไปหาหนัก ฝึกฝนร่างกายแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อเสริมภูมิชีวิต และภูมิต้านโรคอย่างเป็นขั้นตอน หลักการหายใจของโยคะเพื่อฝึกจิตก็เช่นกัน ใช้การเชื่อมโยงจิตใจของผู้ฝึกกับพลังของธรรมชาติและจักรวาล มุ่งทำให้จิตใจของผู้ฝึกเปิดออก เปิดกว้างเบิกบาน ผ่อนคลาย และเป็นสมาธิ ขณะที่วิถีของมี่ซิว หลักการคือการบีบเค้นสังขารร่างกายด้วยวิธีการที่หักดิบ ท้าทายขีดจำกัดเพื่อนำไปสู่การฝืนเปลี่ยนธรรมชาติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ วิธีการฝึกหายใจ ถ้าเป็นชี่กง และโยคะ จะฝึกการควบคุมลมหายใจจากง่ายไปหาซับซ้อนปรับตัวตามธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นมี่ซิวของทิเบต การฝึกหายใจจะเริ่มจากให้ผู้ฝึกนั่งสมาธิอยู่ท่ามกลางหิมะเอาผ้าคลุมตัว แล้วราดด้วยน้ำเย็น ผู้ฝึกจะต้องเร่งปลุกเตโปธาตุในกายให้เกิดความร้อนด้วย การบังคับลมหายใจเพื่อทำให้ผ้าที่คลุมตัวแห้งโดยเร็ว มิฉะนั้นก็จะแข็งตายหรือเป็นปอดบวมตาย

จะเห็นได้ว่า ชี่กงกับโยคะนั้น ใครๆ ก็ฝึกได้ แต่มี่ซิวไม่ใช่ใครๆ ก็ฝึกได้ เพราะมันใช้วิธีการแบบขวานผ่าซากเพื่อคัดเลือกผู้ที่สภาพร่างกายจิตใจเหมาะสมสำหรับการบำเพ็ญมี่ซิวเท่านั้น เพราะฉะนั้นต่อไปจึงจะขอกล่าวเฉพาะหลักการควบคุม “ระบบประสาทอัตโนมัติ” ที่ใช้ในการฝึกโยคะ และชี่กงเป็นหลักเท่านั้น

ระบบประสาทอัตโนมัติเป็นเรื่องของธรรมชาติ มันเป็นระบบที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ โดยไม่ขึ้นกับเจตนารมณ์ของมนุษย์ผู้นั้น เช่น อวัยวะภายในทั้งหมด ต่อมไร้ท่อและกระแสเลือดเหล่านี้เป็นต้น มันทำงานของมันเองโดยอัตโนมัติตามหน้าที่ของมัน ระบบประสาทอัตโนมัตินี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วนคือ

(ก) เส้นประสาทซิมพาธีติก (Sympathetic Nerve) กับ

(ข) เส้นประสาทพาราซิมพาธีติก (Parasympathetic Nerve)

เส้นประสาทสองชนิดนี้ทำหน้าที่ตรงข้ามกัน เพื่อปรับสมดุลในการทำงานของอวัยวะภายใน ยกตัวอย่างเช่น ประสาทซิมพาธีติกช่วยกระตุ้นหัวใจบีบรัดเส้นโลหิตเหล่านี้เป็นต้น การทำงานอย่างราบรื่นของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ล้วนเกิดจากการทำงานอย่างปรองดองกันของเส้นประสาท 2 ชนิดนี้นั่นเอง หากความปรองดองอันนี้เกิดเสียสภาพไปย่อมเป็นที่มาของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

ถ้าหากเราไม่พิจารณาการเสียสภาพของความปรองดองของระบบประสาทที่เกิดจากความบกพร่องของตัวอวัยวะภายในเองแล้ว เราจะพบว่า สาเหตุของการเสียสภาพความปรองดองนั้น ล้วนเป็นสาเหตุทางจิตใจแทบทั้งสิ้น เช่น ความกลัดกลุ้ม ความวิตกกังวล ความโศกเศร้า ความกลัว ความโกรธ เพราะเมื่อเกิดความเครียดทางจิตใจขึ้นมา สมองของคนเราจะสั่งงานผ่านต่อมพิทูอิทารีที่ควบคุมต่อมไร้ท่อในร่างกายไปยังประสาทซิมพาธีติก ที่ต่อมอะดรีนัลเพื่อให้หลั่งสารอะดรีนาลิน และสารนอร์อะดรีนาลินออกมาเพื่อเตรียมเผชิญกับภาวะความเครียด อันเป็นการทำงานโดยอัตโนมัติของร่างกาย แต่สารฮอร์โมนเหล่านี้เมื่อหลั่งออกมามากเกินไปจะก่อให้เกิดภาวะเหนื่อยล้าแก่ร่างกายและจิตใจของคนผู้นั้นอย่างที่คนผู้นั้นเองก็ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะมันเป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ

การสร้างสมดุลระหว่างเส้นประสาทซิมพาธีติกกับเส้นประสาทพาราซิมพาธีติก จึงเป็นสิ่งสำคัญ และถ้าจะให้ดีคนเราควรฝึกให้เส้นประสาทพาราซิมพาธีติกทำงานเข้มแข็งเข้าไว้ เพราะถ้าเราจำแนกผู้คนออกเป็น 2 ประเภทตามการทำงานของเส้นประสาท เราสามารถจำแนกมนุษย์ได้เป็น 2 แบบใหญ่คือ

(ก) มนุษย์แบบ “เส้นประสาทซิมพาธีติก กับ

(ข) มนุษย์แบบ “เส้นประสาทพาราซิมพาธีติก”

มนุษย์แบบเส้นประสาทซิมพาธีติกมีลักษณะเด่นคือ ขี้ตื่น โกรธง่าย หัวร้อน เท้าเย็น ส่วนมนุษย์แบบเส้นประสาทพาราซิมพาธีติกมีลักษณะเด่นคือ อารมณ์ดี โกรธยาก หัวเย็น เท้าอุ่น คนแบกแรกเป็นลักษณะของคนเจ้าอารมณ์ที่ใช้ศีรษะหรือสมองเป็นศูนย์กลางของชีวิต ขณะที่คนแบบหลังเป็นลักษณะของคนที่มีจิตใจหนักแน่น มุ่งมั่นใช้ท้องเป็นศูนย์กลางของชีวิต กล่าวโดยทั่วไป สตรีมีแนวโน้มเป็นแบบแรกมากกว่าบุรุษ เด็กวัยรุ่นมีแนวโน้มเป็นแบบแรกมากกว่าแบบหลัง ครั้นพอแก่ตัวเข้ามีแนวโน้มเป็นแบบหลังแทนในวัยกลางคน แต่เมื่อเข้าสู่วัยชราจะกลับมาเป็นแบบแรกอีก เมื่อคนทั่วไปมีลักษณะเป็นเช่นนี้แล้ว จึงเห็นได้ชัดว่า คนเราต้องหันมาฝึกเส้นประสาทพาราซิมพาธีติกให้เข้มแข็งเข้าไว้ เพื่อเป็นมนุษย์แบบหลังไปจนตลอดชีวิต แต่จะฝึกได้อย่างไรเล่า?

คำตอบก็คือ สามารถฝึกได้ด้วยการหัดหายใจด้วยท้องตามหลักของโยคะ และชี่กง หรือฝึกวิชาลมปราณที่ใช้กระบังลมเคลื่อนไหวขึ้นลง ส่งแรงดันไปที่บริเวณช่องท้องเป็นจังหวะอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ใจกลางของระบบประสาทอัตโนมัตินั้น อยู่ที่บริเวณช่องท้องที่เรียกกันว่า โซลาร์เพลกซัส (Solar Plexus) การฝึกหายใจด้วยท้องจนเคยชินจะไปกระตุ้นโซลาร์เพลกซัส (จักระที่ 3) นี้อยู่เสมอ หากสามารถสำรวมจิตไปที่ตำแหน่งนี้ (จักระที่ 3) ด้วยได้ก็จะสามารถควบคุมความเครียด และระบบประสาทอัตโนมัติให้ทำงานอย่างมีสมดุลได้เสมอ

กระบังลมที่เคลื่อนไหวพร้อมกับการหายใจด้วยท้อง จะเคลื่อนไหวทั้งวันทั้งคืน ราวๆ วันละสองหมื่นสี่พันครั้ง ซึ่งจะไปบีบรัดอวัยวะภายใน และการไหลเวียนของโลหิตในช่องท้องดุจเครื่องปั๊มน้ำอันหนึ่งจนถึงกับอาจกล่าวได้ว่า กระบังลมทำงานเหมือนเป็นหัวใจอันที่สองของมนุษย์ กระบังลมเคลื่อนไหวเพียงหนึ่งในสี่ของการเต้นของหัวใจก็จริง แต่แรงสูบฉีดโลหิตของกระบังลมแรงกว่าการสูบฉีดของหัวใจมากนัก เพราะฉะนั้น การไหลเวียนของโลหิตไปทั่วร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีการทำงานของกระบังลมมาประกอบด้วย

ไม่แต่เท่านั้น การเคลื่อนไหวของกระบังลมโดยผ่านการหายใจด้วยท้อง ทั้งแบบธรรมดาและแบบปฏิภาค จะไปกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ สร้างความแข็งแรงให้แก่การทำงานของต่อมไร้ท่อ ส่งเสริมกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย ทำให้ร่างกายมีชีวิตชีวา เมื่อกระแสโลหิตไหลเวียนไปทั่วร่างกายอย่างคึกคัก มันย่อมส่งโลหิตใหม่ๆ ไปให้สมองอยู่เสมอ สมองของคนผู้นั้นย่อมเฉียบแหลมตลอดเวลา

(3) การควบคุมการหลั่งฮอร์โมนของต่อมไร้ท่อต่างๆ ในร่างกาย

คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ยังไม่ค่อยทราบกันว่า ในร่างกายของคนเรานี้มีสารพิสดารอยู่ 3 ชนิดที่มีจำนวนน้อยมาก แต่กลับปกครองควบคุมการทำงานทางกระบวนการเคมีของร่างกายมนุษย์ทั้งหมดเอาไว้ สารพิสดารหรือสารมหัศจรรย์ที่ว่านั้นคือ

(ก) ฮอร์โมน ที่เป็นสารเคมีที่ทรงพลังที่หลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อ

(ข) เอนไซม์ ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนสารเคมีชนิดหนึ่งๆ ให้เป็นสารเคมีชนิดอื่น และ (ค) วิตามิน

วิตามินเป็นสารที่ร่างกายต้องรับเสริมเข้ามาจากภายนอก แต่ฮอร์โมนกับเอนไซม์เป็นสิ่งที่ร่างกายต้องเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง ตรงนี้แหละคือข้อเท็จจริงที่สำคัญมาก เมื่อเราต้องการพัฒนาศักยภาพของสมอง และยังเป็นเหตุผลสำคัญมากประการหนึ่งที่คนเราควรหันมาฝึกฝนศาสตร์ตะวันออก โดยเฉพาะกุณฑาลินีโยคะ เพราะวิชากุณฑาลินีโยคะเป็นวิชาเพียงไม่กี่วิชาที่มุ่งฝึกฝนการควบคุมการหลั่งฮอร์โมนของต่อมไร้ท่อต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งมีความพิสดารมาก และควรได้รับการสนใจศึกษาจากสังคมมากกว่านี้ (ยังมีต่อ)

www.dragon-press.com
กำลังโหลดความคิดเห็น