xs
xsm
sm
md
lg

คนด้อยค่า : ปัจจัยแรกที่จะต้องปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในระยะนี้ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจติดตามข่าวสารบ้านเมืองคงจะได้ยินได้ฟังคำพูดที่ว่า ปฏิรูปประเทศไทย บ่อยขึ้น จากกลุ่มคนที่ต้องการเห็นประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าเท่าเทียมนานาประเทศที่เจริญแล้วทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อันเป็นด้านหลักในการขับเคลื่อนประเทศ และคนกลุ่มนี้เห็นว่าทางเดียวที่ประเทศไทยจะเป็นเช่นนี้ได้ ก็คือจะต้องมีการปฏิรูปประเทศไทย และการปฏิรูปประเทศไทยจะเริ่มขึ้นได้ก็จะต้องมีการปฏิวัติปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเป็นประการแรก

แต่การจะทำเช่นนี้ได้ประเทศไทยจะต้องปลอดจากการเลือกตั้งทางการเมืองระยะหนึ่ง อาจเป็น 3 ปีหรือ 5 ปี หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภารกิจปรับปรุง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างดังกล่าวแล้ว

ทำไมต้องไม่มีการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปอย่างไร

เพื่อให้มองเห็นประเด็นแห่งปัญหานี้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูพฤติกรรมทางการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อันเป็นบันไดขั้นต้นของการก้าวไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็จะพบว่าการเลือกตั้งเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศดังต่อไปนี้

1. ในการเลือกตั้ง ส.ส.ทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่เลือกตั้งในชนบทห่างไกลความเจริญ ประชาชนมีการศึกษาน้อย ไม่รู้ไม่เข้าใจในทางการเมืองดีพอ ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งส่วนหนึ่งและอาจเป็นส่วนใหญ่ด้วยคือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรืออยู่เบื้องหลัง ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในฐานะเป็นนายทุน ดังนั้น การใช้เงินเพื่อซื้อเสียงให้ตนเองหรือผู้ที่ตนเองสนับสนุนให้ได้รับการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติทุกครั้ง และผลการเลือกตั้งที่ปรากฏออกมาก็เป็นในทำนองนี้ กล่าวคือคนทุ่มเงินซื้อเสียงได้รับเลือก

ยิ่งกว่านี้ เมื่อมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อได้โดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งในนามเขต และใช้เสียงที่พรรคได้รับเลือกเป็นสัดส่วนในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้บรรดาผู้มีอิทธิพลมีเงินมีโอกาสได้รับเลือกง่ายขึ้น เพียงแต่จ่ายเงินก้อนโตให้พรรค และได้ลงสมัครในนามพรรคโดยมีชื่ออยู่อันดับต้นๆ ก็มีโอกาสได้รับเลือกถ้าพรรคนั้นมีคนลงคะแนนให้มาก ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของพรรคการเมืองใหญ่ และมีทุนเงินมาก

2. ถึงแม้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 หรือประมาณ 80 ปีมาแล้ว และในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการเลือกตั้ง ส.ส.มาแล้วหลายครั้ง ก็ใช่ว่าจะทำให้คนไทยมีความรู้ มีความเข้าใจการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างทั่วถึงทั้งประเทศก็หาไม่

จากปัจจัย 2 ประการข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นอุปสรรคประการสำคัญในการที่จะทำให้เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศไทยดีขึ้นได้ ถ้ายังจะยึดหลักให้มีการเลือกตั้ง และอาศัยหลักการเลือกตั้งเพื่อสรรหาบุคลากรเข้ามาทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ด้วยเหตุและผลดังต่อไปนี้

1. เมื่อบุคลากรทางการเมืองเข้ามาสู่ระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องอาศัยเงินเป็นตัวกำหนดการแพ้ชนะ และผู้ที่จ่ายเงินได้รับชัยชนะ เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถแสวงหาประโยชน์ได้โดยอาศัยตำแหน่ง คนเหล่านี้จะไม่ลังเลที่จะทำเช่นนั้น เพราะนี่คือการถอนทุนทางการเมืองที่ลงไปในการเลือกตั้ง อันเปรียบเสมือนการลงทุนทำธุรกิจซึ่งจะต้องมีกำไรคุ้มทุนหลายเท่าตัวเมื่อเปรียบกับที่ลงทุนไป และนี่คือเหตุผลประการหนึ่งที่ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และในบางครั้งบางรายให้โทษแก่บ้านเมืองมากกว่านี้ คือนอกจากมีการถอนทุนแล้ว ยังเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่นักการเมืองรุ่นหลังให้เอาอย่าง และทำตัวเลวยิ่งขึ้นไปอีก

2. ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ให้ผู้ที่มีอำนาจรัฐปกป้องผลประโยชน์ของตน โดยการกีดกันคู่แข่งซึ่งอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับตนเอง และพรรคพวก จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางธุรกิจ อันเป็นเหตุให้ธุรกิจไม่พัฒนาและเป็นที่มาของอุตสาหกรรมทารก (Baby Industrial) คือไม่เติบโต และไม่มีคุณภาพดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างดาษดื่นอยู่ในประเทศไทยขณะนี้

3. ในทางสังคม เมื่อระดับปกครองมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี แต่ยังมีคนเคารพนับถือโดยอาศัยอำนาจเงินและตำแหน่งทางการเมือง ก็เท่ากับสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางสังคมที่ว่า คนรวยแต่โกงก็ยังยอมรับได้ในหมู่ประชาชน ทำให้คนรุ่นหลังไม่รู้สึกว่าคนโกงเป็นคนผิด จึงเป็นเหตุให้ศีลธรรมเสื่อมถอยลงไปทุกที และถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป คนผิดศีลธรรมแต่รอดจากการเอาผิดทางกฎหมายโดยอาศัยอำนาจทางการเมืองจะเป็นเหตุให้คนเลวครองเมือง และคนดีมีที่ยืนในสังคมน้อยลง

ด้วยเหตุและผลดังกล่าวนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่าถ้าจะมีการปฏิรูปประเทศไทย ควรจะต้องปฏิรูปคนในฐานะพลเมืองก่อน โดยกำหนดขั้นตอนและยึดจุดมุ่งหมายให้ทุกคนยึดมั่นในหน้าที่ และความรับผิดชอบในทางสังคม และกฎหมายดังต่อไปนี้

1. จะต้องปฏิรูปการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา โดยยึดเนื้อหาและสาระของวิชาทางด้านศีลธรรม และจริยธรรมควบคู่ไปกับวิชาการแขนงต่างๆ ให้เหมาะสม และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันในด้านการให้คะแนน

2. จะต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงวิธีการสรรหาครู เพื่อเข้ามาให้ความรู้เด็กในแต่ละด้านด้วยการพิจารณาจากความรู้ ความสามารถทางวิชาการ ควบคู่ไปกับคุณธรรม จริยธรรมในความเป็นครูไปพร้อมๆ กัน และเท่าๆ กัน

3. ในการสรรหาบุคลากรเข้าสู่ภาครัฐ คือเป็นข้าราชการ และพนักงานองค์กรของรัฐ ควรยึดระบบคุณธรรม และในขณะเดียวกันควรหลีกเลี่ยงระบบอุปถัมภ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาความดี ความชอบในการเลื่อนขั้นเงินเดือน และแต่งตั้งตำแหน่ง

4. ในการวัดผล ควรปรับปรุงวิธีการสอบจากข้อสอบประเภทปรนัยเพียงอย่างเดียว หรือส่วนใหญ่ควรแบ่งครึ่งๆ กับการสอบแบบอัตนัยเพื่อวัดผลการแสดงออกทางความคิดในเชิงสร้างสรรค์ให้มากกว่าวัดความจำ

ถ้ามีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้ ก็จะนำไปสู่การเริ่มต้นปฏิรูปด้านอื่นๆ ต่อไป เพราะถ้าไม่มีการปรับปรุงคน ก็เท่ากับว่าไม่มีการปรับปรุงอะไรเลย เพราะคนจะทำอย่างเดิมเรื่อยไป
กำลังโหลดความคิดเห็น