xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อต.ค.พุ่ง3.32% ผัก-อาหารแพงต้นเหตุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผักสด ผลไม้ อาหารแพง ดันเงินเฟ้อต.ค.พุ่ง 3.32% “พาณิชย์”คาดทั้งปีโตแค่ 3.1% ต่ำกว่าเป้าหมาย เหตุคุมราคาสินค้าอยู่

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ประจำเดือนต.ค.2555 อยู่ที่ 116.82 เพิ่มขึ้น 3.32% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.2554 และเพิ่มขึ้น 0.13% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.2555 ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือนของปี 2555 (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 2.99% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (เงินเฟ้อพื้นฐาน) เดือนต.ค.2555 อยู่ที่ 108.79 เพิ่มขึ้น 1.83% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.2554 และเพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2555 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 10 เดือนเพิ่มขึ้น 2.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 4 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.2-3.5% ขณะที่กรอบคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 3.0-3.4% แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าเงินเฟ้อในปี 2555 จะอยู่ในระดับ 3.1% เนื่องจากในช่วง 2 เดือนสุดท้ายตั้งแต่เดือนพ.ย.-ธ.ค.2555 เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนต.ค.2555 หลังจากสินค้าส่วนใหญ่ยังไม่ได้ปรับขึ้นรวมถึงผลจากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ทำให้แรงกดดันที่มีต่อเงินเฟ้อลดลง

“กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปลง คาดว่าปีนี้จะสูงไม่เกิน 3.1% ต่ำกว่าประมาณการณ์ของเดือนที่แล้วที่คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.2% ที่สำคัญยังเป็นการขยายตัวต่ำกว่าปีก่อนที่สูงถึง 3.53% เนื่องจากราคาสินค้าได้อ่อนตัวลงโดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ส่วนทิศทางเงินเฟ้อปีหน้า อยู่ระหว่างการประเมินปัจจัยที่มีผลต่อกระทบอยู่ รวมถึงจะปรับกลุ่มรายการสินค้าที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อใหม่ เช่น ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าอินเทอร์เนต ค่าเช่าที่พัก เป็นต้น ที่กลายมาเป็นรายจ่ายของประชาชน และเป็นน้ำหนักต่อเงินเฟ้อสูงขึ้น”นางวัชรีกล่าว

สำหรับสาเหตุที่เงินเฟ้อเดือนต.ค.เพิ่มขึ้น 3.32% มาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 3.35% โดยดัชนีราคาหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้น 1.57% ปลาและสัตว์น้ำ 2.98% ผักและผลไม้ 12.77% เครื่องประกอบอาหาร 2.35% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.65% และอาหารสำเร็จรูป 3.56% ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 3.28% จากการสูงขึ้นของหมวดเคหสถาน3.33% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 0.97% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 1.09% หมวดพาหนะการขนส่ง และการสื่อสาร 4.22% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ 7.68% หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนาสูงขึ้น 0.61%
กำลังโหลดความคิดเห็น