xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ดันนิคมฯเอเชียต้นแบบเชิงนิเวศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท.จับมือกนอ.ดันนิคมฯเอเชียเป็นโครงการต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เตรียมผุด 2 โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพทั้งPLA-PBS ในนิคมฯดังกล่าวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อชุมชนรอบข้างและสังคม ด้านบอร์ดบางจากเผยตั้ง"วิเชียร อุษณาโชติ "พิจารณาเห็นว่ามีความเหมาะสม อ้างไม่มีข้อห้ามของบริษัทฯหากอยู่ครบวาระ 4ปีมีอายุเกิน 60ปีไม่ได้

วานนี้ (31 ต.ค.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ลงนามโครงการพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในนิคมฯเอเชียกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลและยั่งยืนของอุตสาหกรรม ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.มีเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยการลงนามครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในนิคมฯเอเชีย เพื่อรองรับการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายGreen Roadmapซึ่งจะไม่เป็นเพียงแค่พื้นที่อุตสาหกรรม แต่จะพัฒนาเป็นสวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ(PTT ECO-TP) ครบถ้วนตามข้อกำหนดตามมาตรฐานเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 มิติ 22 ด้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนและสังคม

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พื้นที่นิคมฯเอเชียมีทั้งสิ้น 1.4 พันไร่ จ.ระยอง ได้จัดแบ่งเป็นโซนพื้นที่อุตสาหกรรมไบโอพลาสติกและอุตสาหกรรมสีเขียว มีเนื้อที่ 400 กว่าไร่ และพื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอื่นๆ

ขณะเดียวกันก็กันพื้นที่สร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นแนวกันชนด้วยการปลูกป่านิเวศประมาณ 200 ไร่ด้วย ซึ่งขณะนี้บริษัทฯมีแผนจะลงทุนตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PBS ขนาดกำลังผลิต 2 หมื่นตัน/ปี ใช้เงินลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปี 2555 แล้วเสร็จผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2558 โดยโครงการนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างปตท.กับมิตซูบิชิ เคมิคอลคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558

นอกจากนี้ มีโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA ขนาด 1.4 แสนตัน/ปี ซึ่งโครงการนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับ NatureWorks ประเทศสหรัฐฯเข้ามาตั้งโรงงานผลิตPLA แห่งที่ 2 ในไทย เงินลงทุน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้PLAในตลาดโลกเติบโตขึ้นปีละ 20-30% ทำให้กำลังการผลิตโรงแรกที่สหรัฐฯคาดว่าจะเต็มกำลังการผลิตได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งการเร่งสรุปการตั้งโรงงานแห่งที่ 2 นี้จะทำให้มีกำลังการผลิตใหม่รองรับความต้องการใช้ในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นได้ทันท่วงทีรวมทั้ง ปตท.อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะตั้งโรงงานผลิตวัตถุดิบ คือ Lactic Acid ใช้ในการผลิตPLA หรือจะซื้อจากผู้ประกอบการอื่นที่มีโรงงานตั้งอยู่ในไทยอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ในนิคมฯจะตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาไบไอเคมิคอล เซนเตอร์ (R&D LAB) ซึ่งจะเปิดให้บริการเช่าในการทำแล็บวิจัยและพัฒนาด้านไบโอพลาสติกกับลูกค้าโดยมีระบบสาธารณูปโภคครบครัน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนให้กับลูกค้าด้วย

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าขณะนี้โลกให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งแนวทางการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นวิสัยทัศน์ของกนอ.ที่ตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับนิคมฯเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาตั้งแต่ปี 2553 โดยกำหนดว่าในอีก 5 ปีแรก(2553-2556) จะต้องมีนิคมฯเชิงนิเวศ 15แห่งและในปี2562 นิคมฯทั้งหมดในไทยจะต้องเป็นนิคมฯเชิงนิเวศ ซึ่งปัจจุบันมีนิคมฯที่อยู่ระหว่างพัฒนาเพื่อเป็นนิคมฯเชิงนิเวศแล้ว 11 นิคม

***ตั้ง"วิเชียร"เหมาะสม-ไม่เกี่ยงอายุ
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการบริษัทฯมีมติแต่งตั้งที่ประชุมนายวิเชียร อุษณาโชติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านธุรกิจโรงกลั่น ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ แทนนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งตามสัญญาจ้างในวันที่ 31 ธันวาคมนี้

ทางคณะกรรมการสรรหาฯได้พิจารณาแล้วเห็นว่านายวิเชียร ซึ่งเป็นผู้บริหารบางจากฯที่มีความเหมาะสมที่สุด แม้ว่าอายุนายวิเชียรจะเกิน 60 ปีหากอยู่ครบวาระ 4 ปีก็ตาม เนื่องจากกฎระเบียบของบางจากไม่ได้มีข้อห้ามเอาไว้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของบอร์ดฯจะพิจารณาทำสัญญาว่าจ้างให้นายวิเชียร์ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ครบวาระ 4 ปี หรือจะอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึง
60 ปีเท่านั้น
โดยก่อนหน้านี้ บางจากฯได้เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยกำหนดคุณสมบัติต้องมีอายุ 45-55 ปี ซึ่งมีผู้สมัคร 3 รายเป็นเป็นคนในบางจากเอง 2 รายและคนภายนอก 1 รายแต่เมื่อพิจารณาแล้วไม่เหมาะสม จึงพิจารณาจากคนในบริษัทระดับรองผู้จัดการใหญ่ลงมา จึงไม่ได้กำหนดคุณสมบัติด้านอายุไว้ สุดท้ายเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่านายวิเชียรมีความรู้ความสามารถ สานต่องานที่ทำไว้ และพัฒนาบางจากให้เติบโตยิ่งขึ้น

นายวิเชียร อุษณาโชติ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ Ohio State University, USA เข้าทำงานที่บริษัท บางจากฯ ตั้งแต่ปี 2528 เคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายผลิตการตลาด สายธุรกิจการตลาด สายวางแผนและจัดหา จนถึงปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านธุรกิจโรงกลั่น ปัจจุบันมีอายุ 57 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น