xs
xsm
sm
md
lg

“เราต้องเชื่อมั่นว่าเราเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้”

เผยแพร่:   โดย: สุรพงษ์ ชัยนาม

“คุณค่าของประชาธิปไตยอยู่ที่ว่า ประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ และในขณะเดียวกัน ก็มีสิทธิ์โค่นล้มผู้ที่ตนเลือกเข้าไปหากคณะบุคคลนั้นไร้จริยธรรม ขาดความชอบธรรม ขาดคุณธรรม และเมื่อระบบรัฐสภาถูกผูกขาด ประชาชนก็อาจทำการโค่นล้มได้ด้วยการออกมาชุมนุม (ดังที่กำลังจะทำกันอยู่ในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้) และนี่คือการใช้สิทธิ์แสดงความไม่พอใจในระบบการเมืองที่ผูกขาดแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก เป็นการแสดงสิทธิ์อันชอบธรรมนอกระบบรัฐสภา เพราะรัฐสภาผูกขาด ไม่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ทุกคนควรเข้าใจว่านี่คือประชาธิปไตย เพราะสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงสิทธิ์ด้วยช่องทางอื่น ผู้คนจึงต้องออกมาบนท้องถนน ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้วทั่วโลกเวลาที่ประชาชนโค่นเผด็จการ

เราจะต้องไม่เข้าใจผิด ว่าคำจำกัดความของประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเท่านั้น โปรดอย่าได้ติดกับดักเช่นนั้นเป็นอันขาด

การชุมนุมที่สนามม้านางเลิ้งก็ต้องนับว่าเป็นประชาธิปไตย และเป็นการยืนยันว่า ประชาชนต้องการให้คนไทยทั่วไปและต่างประเทศเห็นว่า รัฐบาลนี้ไม่สามารถคิดค้นประดิษฐ์อนาคตประเทศไทยที่ปฏิเสธสถานการณ์ปัจจุบัน การจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้นั้น เราจำเป็นต้องปฏิเสธความเลวร้ายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ เพื่อที่จะได้คิดค้นอนาคตใหม่ของชาติที่มิได้อิงอยู่กับปัจจุบัน แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้กำลังทำก็คือสร้างอนาคตจากปัจจุบันอันเลวร้าย

การชุมนุมครั้งนี้คือการแสดงให้เห็นว่าคนไทยไม่ยอมจำนน และถ้ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรม คนไทยก็ไม่จำเป็นต้องรอถึงสี่ปีให้ประเทศชาติเสียหายมากไปกว่านี้ สิ่งที่สำคัญก็คือ การที่ใครสักคนได้รับเลือกตั้งเข้ามา ก็ไม่ได้หมายความว่าคนผู้นั้นมีจิตวิญญาณของนักประชาธิปไตย ค่านิยมที่เปลี่ยนไปของไทยก็คือ “คนที่มาจากการเลือกตั้งนั้น มีสิทธิ์โกงกินได้ เพราะประชาชนเลือกเขาเข้ามา” หากเรายังปล่อยทิ้งไว้แบบนี้ อนาคตของชาติก็จะเติบโตขึ้นจากค่านิยมเช่นนี้ จนในที่สุด สิ่งที่ผิดก็จะกลายเป็นถูก ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมก็จะถูกบิดเบือน เยาวชนในอนาคตก็จะตกเป็นผลผลิตของค่านิยมที่ผิดและอันตราย เราจึงต้องรู้จักปฏิเสธปัจจุบันอันเลวร้าย เพื่อผลิตอนาคตที่รู้จักปฏิเสธปัจจุบัน (อันเลวร้าย) ประเทศชาติจะเจริญได้ไม่เกี่ยวกับว่า “รัฐบาลและผู้บริหารต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น” แต่ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ดีเพียงไร มีคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่ การเคารพกฎหมายไม่จำเป็นที่ว่าจะต้องมีระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นจึงจะเคารพ ในประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ก็มีกฎหมายที่ต้องเคารพเช่นกัน

ความยุติธรรม การเคารพกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตย ดีชั่ว ถูกผิดไม่ได้ขึ้นกับระบอบประชาธิปไตย

แก่นแท้ของประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยในตัวมันเองไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายไหน แต่มันสามารถเป็นเครื่องมือให้คนกลุ่มต่างๆ พวกเผด็จการก็จะหากินกับประชาธิปไตย โดยมักใช้เปลือกของประชาธิปไตย (การเลือกตั้ง) เพื่อตบตาเพื่อความอยู่รอดของระบอบเผด็จการ ประชาธิปไตยในตัวมันไม่ทำร้ายใคร แต่ขึ้นอยู่กับว่ามันถูกฝ่ายใดเอามาใช้ประโยชน์อย่างฉ้อฉล การเลือกตั้งนั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงคือกระพี้ แต่แก่นแท้ของประชาธิปไตยคือการมีองค์การอิสระคอยตรวจสอบ อำนาจสามส่วนต้องถ่วงดุลกัน มีนิติรัฐนิติธรรม มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และโปร่งใส

แต่ประเทศไทยทุกวันนี้ ประชาธิปไตยตกอยู่ในมือของกลุ่มคนที่มิได้มีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปัญหาของประเทศไทยปัจจุบันนี้ไม่ใช่เราไม่มีประชาธิปไตย แต่เป็นเพราะประชาธิปไตยถูกละเมิด ถูกบิดเบือน และถูกทำลายต่างหาก ประชาชนเลิกเชื่อตัวบทกฎหมาย แต่หันไปเชื่อตัวบุคคล มันคือประชาธิปไตยที่ไร้วินัย ไร้กฎกติกา ไร้ระเบียบ (ต่างจากกรณีฟิลิปปินส์และมากอสที่สมัยนั้นเขาไม่มีประชาธิปไตยเลย)

การชุมนุมที่สนามม้านางเลิ้งคือการแสดงออกของประชาชน ว่าเขาไม่ยอมจำนนต่อสิ่งเหล่านี้ และต้องการจะบอกว่า เราต้องการประชาธิปไตยที่ครบสมบูรณ์ทั้งรูปแบบและเนื้อหา

ประชาธิปไตยให้เสรีภาพที่จะเลือก แต่มันไม่ใช่เท่านั้น เสรีภาพที่แท้จริงคือการไปเลือกตั้งด้วยความเข้าใจ และใช้สติปัญญา ใช้เหตุใช้ผล แต่สมัยนี้คนเราเลือกตั้งโดยไม่มีข้อมูลของตัวบุคคลนั้น นั่นไม่ใช่เสรีภาพเลย แต่คือการตกเป็นเหยื่อของข้อมูลข่าวสารที่ถูกบิดเบือน และคือเป็นสาวก ที่ไม่ได้ใช้สติปัญญาในการเลือกบุคคลเข้าไปบริหารประเทศ

ความเจริญของประเทศ บางครั้งก็มิได้ขึ้นอยู่กับประชาธิปไตย

หากเรามองย้อนอดีต เราจะเห็นว่ามีนโยบายหลายอย่างที่นำความเจริญมาให้ประเทศไทยโดยที่ขณะนั้นไม่มีประชาธิปไตย (ตามรูปแบบที่เข้าใจกัน) เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือการเข้าร่วมอาเซียนของไทยในปี 2510 ซึ่งอยู่ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร หรือแม้แต่เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ก็เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งก็มิได้มาจากการเลือกตั้ง (และเป็นยุค รสช.ด้วยซ้ำ) เราจึงเห็นได้ว่ามีนโยบายหลายอย่างที่นำความเจริญมาสู่บ้านเมืองภายใต้รัฐบาลซึ่งมิได้มาจากการเลือกตั้ง แต่หากเรามองรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามา เรากลับพบว่าเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันโกงกินและไร้ประสิทธิภาพในการบริหารบ้านเมือง ดังนั้นเราจึงควรระลึกถึงข้อเท็จจริง (ที่มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว) ที่ว่า ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ไม่จำเป็นต้องมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสมอไป สถาบัน EIU กล่าวว่าเจ็ดในสิบประเทศที่ประชาธิปไตยมั่นคง คือประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทั้งสิ้น เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฯลฯ แต่ปัจจุบันนี้มีคนบางกลุ่มพยายามจะบอกว่าประเทศไทยจะเจริญได้ต้องไม่มีพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย

ประชาธิปไตยไม่ใช่สูตรสำเร็จแต่เป็นกระบวนการ

คนไทยสรุปบทเรียนไม่เป็น แต่ชอบสูตรสำเร็จ แต่นั่นคือหายนะ เพราะประชาธิปไตยคือกระบวนการที่ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา การเอาสูตรสำเร็จมาใช้ทั้งดุ้นโดยเลียนแบบต่างชาติโดยไม่ปรับใช้ ก็รังแต่จะพัง ประชาธิปไตยจะต้องถูกนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยม สังคมของชาตินั้นๆ เราจะต้องไม่ยอมรับประชาธิปไตยสำเร็จรูป

คำถาม : การชุมนุมครั้งนี้ สถานการณ์ยังสุกงอมไม่พอหรือเปล่า?

สุรพงษ์ : “ทุกคนรู้ว่าปัญหาคืออะไร เพราะฉะนั้นทุกคนอยู่ในสถานะที่ 1) ต้องการแก้ปัญหา จึงพยายามออกมาเรียกร้องแสดงสิทธิ์ หรือมิฉะนั้นก็ 2) นั่งอยู่กับบ้านเฉยๆ และกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง เพราะเท่ากับปล่อยให้รัฐบาลสร้างปัญหาต่อไปเรื่อยๆ

การบอกว่าเราจะเลือกเป็นทั้งสองข้าง คือเป็นทั้งซ้ายและขวา นั่นคือคำแก้ตัวของพวกที่ชอบลอยตัว ไม่ยอมตัดสินใจเลือก แต่ผู้ที่ออกมาชุมนุมคือผู้ที่เลือกแล้ว ว่าตนจะไม่ยอมจำนนต่อความเลวร้ายที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ การชุมนุมไม่เกี่ยวกับว่าสถานการณ์สุกงอมหรือยัง แต่มันคือการแสดงจุดยืนว่าคนไทยจะไม่ทนต่อสถานการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้

ยกตัวอย่าง รัฐประหาร 19 กันยา สมัยนั้นมีปัญหาเรื่องเทมาเส็ก กับเรื่องผบ.ทบ.เท่านั้น กระนั้นก็ยังมากพอที่จะทำให้เกิดรัฐประหาร แต่หากเรามองดูสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะนี้มีอะไรบ้างที่ชั่วร้าย...มีมากมายนับไม่ถ้วน ถ้าอย่างนี้จะว่ายังไม่สุกงอมหรือ? การพิจารณาความสุกงอม ต้องดูข้อเท็จจริงว่าบ้านเมืองมีสิ่งเลวร้ายอะไรบ้าง ถ้าประชาชนออกมาแสดงให้ข้อเท็จจริงนี้ให้ประจักษ์ กระบวนการการเปลี่ยนแปลงก็จะเริ่มขึ้นจากจุดนี้ ภัยร้ายแรงของรัฐบาลนี้ ไม่ใช่ประชาชนที่ออกมาชุมนุม แต่คือตัวรัฐบาลและพรรคพวกเอง (ที่เลวร้าย) ถ้าไม่อยากให้ชุมนุม รัฐบาลก็อย่าเป็นอย่างที่คนเขาพูด อย่าเป็นสิ่งชั่วร้ายเหล่านั้น ถ้ารัฐบาลไม่เป็นอย่างที่คนเขากล่าวหา คนก็ไม่มีเรื่องจะให้ชุมนุม

คำถาม : จะเป็นการเตะหมูเข้าปากหมาหรือไม่?

สุรพงษ์ : การจะป้องกันไม่ให้เกิดการเตะหมูเข้าปากหมา ก็คือ การทำให้การเมืองต้องกับเรา 365วัน ไม่ใช่เลือกตั้งแล้วก็ล้างมือ บอกว่าเสร็จหน้าที่แล้ว แต่ต้องติดตามความเคลื่อนไหว ไม่ปล่อยให้นักการเมืองเป็นคนแก้ปัญหาแทนเราตลอดกาล เพราะนั่นคือการเชื้อเชิญความหายนะ การ์ดของเราจะต้องไม่ตก ไม่ใช่แค่เลือกตั้งแล้วก็คิดว่าหมดหน้าที่ จะป้องกัน “เตะหมูเข้าปากหมา” ได้ ประชาชนต้องรู้จักหน้าที่ของพลเมือง ไม่ใช่แค่รู้แค่ไปใช้สิทธิ์ องค์กรตรวจสอบจะต้องไม่สลายตัวหลังการเลือกตั้ง นี่คือการที่ภาคประชาสังคมเข้มแข้ง ประชาชนต้องรู้ว่าการเมืองคืออะไร ถ้าเราปล่อยให้คนอื่นรับผิดชอบแทนเรา ก็จะเกิดการเตะหมูเข้าปากหมาแน่นอน

สิ่งสำคัญที่พึงตระหนักก่อนไปชุมนุม

“เพื่อนร่วมชาติที่ไปชุมนุมครั้งนี้ คือผู้ที่ไปแสดงว่าเรารู้จักหน้าที่พลเมือง และยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิไตยที่มีเนื้อหา การไปชุมนุม จะต้องไปด้วยความเชื่อมั่นในความเป็น “ไท” เป็นเสรีชน และไปชุมนุมด้วยความตระหนักรู้ เข้าใจอย่างถ่องแท้เพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ไม่ใช่จะเป็นตัวการที่เอื้อให้เกิดปัญหา

ความเห็นต่างทางความคิดคือส่วนสำคัญของประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าและหยั่งรากลึก สิ่งที่น่าวิตก ไม่ใช่ความต่างทางความคิด แต่ความเห็นต่างต้องอยู่ในกรอบกติตา ไม่เอาชนะด้วยความรุนแรงและละเมิดกฎกติกาทางสังคม ความเห็นต่างถ้าไม่อยู่ในกรอบกติกา ฝ่าฝืนกฎหมาย นั่นก็คือการทำลายประชาธิปไตย เวลามองปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ ขออย่างเดียว ขอให้มองปัญหาโดยเอาประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เอาตนเองเป็นที่ตั้ง

คนที่ไปชุมนุมต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง เชื่อมั่นในอุดมการณ์ ไม่ยอมจำนนต่อความเลวร้าย ไปชุมนุมด้วยสำนึกในหน้าที่พลเมืองและอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีเนื้อหา ไม่จำนนต่อความเลวร้ายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เชื่อมั่นในประเทศไทยว่าไทยมีอนาคตที่ดีกว่านี้ได้ เชื่อมั่นในความเป็นไทย ไม่ใช่ไปโดยไม่รู้ว่าไปเพื่ออะไร หรือไปเพราะเห็นคนอื่นเขาไป เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ต่างจากการเลือกตั้งที่สักแต่ว่าเลือก

เราต้องเชื่อมั่นว่าเราเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ ถ้าเราไม่มีความเชื่อมั่นเช่นนั้น ต่อให้ไปชุมนุมก็ไม่ต่างจากคนที่นั่งอยู่กับบ้านสักเท่าใดนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น