xs
xsm
sm
md
lg

ความมั่นคง การพัฒนาประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรมีงานสำคัญคือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้รับรู้ คณะราษฎรได้จัดทีมงานออกเผยแพร่รัฐธรรมนูญตามจังหวัดต่างๆ มีการแห่แหนพานรัฐธรรมนูญ ต่อมาจึงมีการจัดงานวันรัฐธรรมนูญขึ้นในเดือนธันวาคม เป็นหน้าหนาวพอดี สมัยก่อนฤดูหนาวต้องสวมเสื้อหนาวกัน งานรัฐธรรมนูญจัดขึ้นที่วังสราญรมย์ ในงานมีการออกร้าน มีทั้งการขายสินค้า และอาหารการกิน และที่สำคัญก็คือมีการประกวดนางสาวไทย ในงานมีร้านของเบียร์สิงห์ขายเบียร์และไก่หมุน จัดเป็น “เบียร์บาร์” แห่งแรกของเมืองไทย

การจัดงานรัฐธรรมนูญทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนมากขึ้น แม้ว่าระบอบประชาธิปไตยยังไม่มั่นคงก็ตาม และก็มีการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญหลายครั้งหลายหน ที่น่าแปลกใจก็คือ เมื่อมีการยกเลิกใช้รัฐธรรมนูญแล้ว แทนที่จะไม่มีรัฐธรรมนูญเสียเลย ก็จะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น จนเป็นที่รู้กันดีว่ารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็ถูกร่างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อผู้มีอำนาจที่สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนั้น

ดังนั้น ไม่ว่าจะมีประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ก็จะต้องมีรัฐธรรมนูญเสมอ จัดเป็นส่วนหนึ่งของระบอบการเมืองใหม่ แต่รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่ใช่ส่วนทั้งหมดของการเมืองไทย เพราะรัฐไทยมีความเป็นมาที่ยาวนาน และพัฒนาจากสภาพทางการเมืองหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านความมั่นคง ดังนั้น ความมั่นคงจึงเป็นส่วนสำคัญและเป็น “เหตุผลของรัฐ” ทหารก็เป็นองค์กรของความมั่นคง และเป็นแหล่งสร้างผู้นำของสังคมเช่นกัน

ต่อมาในสมัย พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นศักราชของการพัฒนารัฐไทย ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยเพิ่มภารกิจใหม่ๆ เข้ามา แม้ว่าความมั่นคงยังมีความสำคัญสูงสุด แต่การศึกษาการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม และการสาธารณสุขก็ได้รับความสนใจโดยมีงบประมาณเพิ่มมากขึ้น สำหรับประชาธิปไตยนั้น บางยุคก็มีบทบาทน้อย แต่ประชาชนก็ไม่รู้สึกอะไรเพราะรัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณสร้างความเจริญให้ผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ

ด้วยเหตุนี้เอง รัฐและสังคมไทยจึงมี 3 มิติอยู่ซ้อนกันคือ มิติความมั่นคง มิติการพัฒนาและมิติประชาธิปไตย อาจกล่าวได้ว่า ในระหว่าง พ.ศ. 2475-2500 มิติความมั่นคงเป็นมิติที่มีบทบาทนำ แม้ว่าจะมีประชาธิปไตยก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงส่วนประกอบที่เป็นปัจจัยสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลเท่านั้น ต่อมาเมื่อเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 มิติการพัฒนาก็ทวีความสำคัญมากขึ้น ขณะที่ระบอบการเมืองปิดช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยระหว่าง พ.ศ. 2500-2511 ไม่มีพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง การพัฒนากลายเป็น “เหตุผลของรัฐ” ที่มาทดแทนประชาธิปไตย และเริ่มมีการทบทวนความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบตะวันตกว่าไม่เหมาะสมกับสังคมไทย ด้วยเหตุนี้เองที่มีการนำเอาระบอบ “กึ่งประชาธิปไตย” มาใช้ กล่าวคือ แม้จะให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็จำกัดอำนาจของพรรคการเมืองและผู้แทนราษฎร

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคทม 2516 ระบบการเมืองจึงเริ่มเปิด การมีส่วนร่วมกลายเป็นสิ่งบ่งบอกถึงการมีประชาธิปไตย แม้แต่การพัฒนาก็จำเป็นจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม มิติประชาธิปไตยเริ่มขยายตัวมากขึ้น จนกลายเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปหลัง พ.ศ. 2535 พรรคการเมืองเริ่มมีบทบาทมากขึ้น และกลุ่มทุนเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมืองอย่างเต็มตัว ขณะที่มิติการพัฒนาก็ยังสำคัญ แต่มิติความมั่นคงเริ่มลดบทบาทลง สมัยนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นยุค “ประชาธิปไตย-พัฒนา-มั่นคง”

การเปิดเวทีการเมืองแบบประชาธิปไตยเต็มรูปมีผลให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมมากขึ้นเป็นลำดับ จนเกิดความรุนแรง และการแตกแยกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เสถียรภาพทางการเมืองมีน้อยลง และความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นสิ่งปกติสำหรับการเมืองไทย

มิติทั้งสามนี้ ควรจะมีสัดส่วนอย่างไร สังคมไทยจึงจะก้าวหน้าไปได้ เป็นคำถามที่ต้องการการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง หากประชาธิปไตยยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป การพัฒนาคงได้รับผลกระทบกระเทือน และอาจส่งผลให้สังคมล่มสลายได้ในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น