xs
xsm
sm
md
lg

“เสี่ยเจริญ” ทุ่ม 2 แสนล้านฮุบ F&N สกัดไฮเนเก้นใช้ “ไทเกอร์เบียร์” ยึดเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศึกชิงความเป็นใหญ่ในตลาดเบียร์เอเชีย
เอเอฟพี – ศึกชิงความเป็นใหญ่ในตลาดเบียร์เอเชียยิ่งระอุดุเดือดขึ้นอีกในวันพฤหัสบดี (13) เมื่อค่ายไทยเบฟของ “เจ้าสัวเจริญ” เสนอทุ่มเงินถึง 7,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อซื้อ เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) บริษัทแม่ของผู้ผลิตไทเกอร์ เบียร์ ซึ่ง “ไฮเนเก้น” ยักษ์ใหญ่เนเธอร์แลนด์กำลังจะเข้าเทคโอเวอร์

ไทยเบฟเวอเรจ (ไทยเบฟ) และพันธมิตรคือ ทีซีซี แอสเส็ตส์ ซึ่งต่างเป็นกิจการที่ควบคุมโดยนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ระบุในคำแถลงที่ส่งถึงตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ว่า พวกเขายื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้นอีก 70% ในเอฟแอนด์เอ็น ซึ่งบริษัททั้งสองนี้ยังไม่ได้ถือครอง ในราคาหุ้นละ 8.88 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด รวมเป็นมูลค่า 8,700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (7,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ เอฟแอนด์เอ็นเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเอเชีย-แปซิฟิก บริวเวอรีส์ (เอพีบี)

ข้อเสนอจากค่ายไทยเบฟนี้ มีขึ้น 2 สัปดาห์ก่อนถึงกำหนดที่คณะกรรมการบริหารเอฟแอนด์เอ็นนัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 เดือนนี้ เพื่อลงมติตัดสินใจข้อเสนอของไฮเนเก้นที่ขอซื้อหุ้น 40% ของเอพีบี ซึ่งทางเอฟแอนด์เอ็นถือครองอยู่ ในราคาเท่ากับ 5,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ภายหลังได้ทราบข้อเสนอของไทยเบฟ ทางเอฟแอนด์เอ็นออกคำแถลงบอกว่า การประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 ยังจะจัดขึ้นตามกำหนดเดิม แต่บริษัทก็จะแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินขึ้นมาพิจารณาข้อเสนอของทางบริษัทไทย

ส่วนไฮเนเก้นแถลงว่า กำลังพิจารณาข้อเสนอของไทยเบฟเช่นกัน และ “จะประกาศให้ทราบต่อไป ถ้าหากและเมื่อใดก็ตามที่มีความเหมาะสม”

ปัจจุบัน ไฮเนเก้นถือหุ้น 42% ในเอพีบี ที่มีโรงงานผลิตเบียร์ 14 แห่งทั่วเอเชีย และเป็นผู้ผลิตไทเกอร์ เบียร์ ตลอดจนเบียร์ที่เป็นที่นิยมในภูมิภาคนี้อีกหลายแบรนด์ ดังนั้น หากเข้าเทกโอเวอร์เอพีบีได้สำเร็จ จะทำให้ไฮเนเก้นอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบอย่างมากในตลาดเอเชียที่มียอดขายเบียร์พุ่งกระฉูด ตรงข้ามกับยอดขายในตลาดที่อิ่มตัวแล้วเช่นยุโรป

สำหรับข้อเสนอของไทยเบฟและทีซีซีนั้น ให้ราคาสูงกว่าราคาหุ้นเอฟแอนด์เอ็นที่เทรดกันเมื่อวันพุธ (12) ที่ 8.51 ดอลลาร์สิงคโปร์ อยู่ 4.3% ซึ่งจะทำให้มูลค่ากิจการทั้งหมดของเอฟแอนด์เอ็นอยู่ที่ 12,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

หลังจากข้อเสนอของค่ายไทยเบฟปรากฏออกมาแล้ว เอฟแอนด์เอ็นได้ขอระงับการซื้อขายหุ้นชั่วคราวในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี และเมื่อเปิดการซื้อขายใหม่ในภาคบ่าย ปรากฏว่า หุ้นเอฟแอนด์เอ็นขยับขึ้นไปสูงสุดที่หุ้นละ 8.94 ดอลลาร์สิงคโปร์

ไทยเบฟนั้นเป็นผู้ผลิตเบียร์ช้าง และเกี่ยวข้องในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่เอฟแอนด์เอ็น ก็มีกิจการที่หลากหลายทั้ง อสังหาริมทรัพย์, อาหาร, เครื่องดื่ม และการพิมพ์

จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ เจ้าสัวเจริญเป็นมหาเศรษฐีหมายเลข 3 ของไทย มีทรัพย์สินราว 6,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประเมินจนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา) โดยรายได้ก้อนใหญ่มาจากธุรกิจเครื่องดื่ม

ทางด้าน จัสติน ฮาร์เปอร์ นักกลยุทธ์การตลาดของไอจี มาร์เกตส์ สิงคโปร์ ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวของไทยเบฟอาจเป็นไปเพื่อทำลายแผนฮุบกิจการเอพีบีของไฮเนเก้น อย่างไรก็ดี เป้าหมายสุดท้ายของนายเจริญยังไม่เป็นที่ชัดเจน

“ความเคลื่อนไหวนี้จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนในหมู่ผู้ถือหุ้นเอฟแอนด์เอ็นที่จะประชุมกันปลายเดือนนี้ โดยไทยเบฟยังคงเก็บงำเจตนารมณ์ที่แท้จริงในการประมูลซื้อครั้งนี้

“ไทยเบฟอาจต้องการขายหุ้นเอพีบีของเอฟแอนด์เอ็นให้แก่ทางไฮเนเก้น และนำเงินก้อนนั้นมาใช้ในการซื้อเอฟแอนด์เอ็น จากนั้นจึงนำเอฟแอนด์เอ็นมาแตกกิจการ หรือไม่เช่นนั้น ไทยเบฟอาจต้องการเข้าควบคุมเอฟแอนด์เอ็นเพื่อขวางการขายหุ้นให้ไฮเนเก้น ทั้งสองสถานการณ์นี้มีโอกาสเป็นไปได้พอๆ กัน”

ขณะที่ ซาเวียร์ จีน นักวิเคราะห์เครดิตของค่ายสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี) ให้ความเห็นแบบฟันธงมากกว่าว่า การยื่นข้อเสนอของไทยเบฟคราวนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ต้องการให้เอพีบีตกอยู่ในกำมือของไฮเนเก้น

“การปฏิบัติการต่างๆ ทั้งหลายของพวกเขาเท่าที่ดำเนินมาจนถึงเวลานี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าพวกเขาต้องการให้เอพีบียังคงอยู่กับเอฟแอนด์เอ็น มากกว่าที่จะให้ตกเป็นของไฮเนเก้น” จีน บอกกับเอเอฟพี

การเสนอซื้อเอฟแอนด์เอ็นถือเป็นการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากไทยเบฟที่จดทะเบียนในตลาดสิงคโปร์ และทีซีซี รวมกันแล้วถือหุ้นเอฟแอนด์เอ็นถึง 30% จึงต้องยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นที่เหลือ

ในเอกสารที่ไทยเบฟยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ระบุว่า “จากมุมมองด้านวินัยทางการเงิน ไทยเบฟตัดสินใจว่า จะไม่สร้างหนี้ใหม่หรือนำเงินในกองทุนไปซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นเพิ่มหรือเสนอซื้อเอฟแอนด์เอ็น”

“เราเชื่อว่า ข้อเสนอของเราสะท้อนโอกาสที่ผู้ถือหุ้นเอฟแอนด์เอ็นจะตระหนักถึงมูลค่าการลงทุนของตนในรูปเงินสด และถอนตัวออกจากเอฟแอนด์เอ็นโดยสิ้นเชิง

“เรานับถือเอฟแอนด์เอ็น และเชื่อว่าผลงานและความสำเร็จที่เอฟแอนด์เอ็นสร้างสมมายาวนานในธุรกิจหลักจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มกิจการของเรา” นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานบริหารไทยเบฟกล่าว

ถึงแม้เอฟแอนด์เอ็นมีธุรกิจที่หลากหลาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือหุ้นในเอพีบี

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เอพีบีรายงานว่า ทำรายได้ในไตรมาส เม.ย.-มิ.ย.ปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเกือบ 10% ขึ้นไปอยู่ที่ 781.33 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
กำลังโหลดความคิดเห็น