ภาพปลากระเบนหนึ่งคันรถกระบะ น้ำหนักตัวเล็กสุดประมาณ 5 กิโลกรัม ไปจนถึงตัวใหญ่สุดประมาณ 30 กิโลกรัมที่พี่น้องสมาคมชาวประมงพื้นบ้านหัวไทร นำมาแสดงในงาน “รวมพลคนกินปลา”ของอำเภอท่าศาลาระหว่างวันที่ 28-30 กันยายนที่ผ่านมา ได้สร้างความตกตะลึงให้กับผู้พบเห็นและผู้ที่มาร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง คำถามที่ตามมาและชาวประมงที่ต้องตอบคำถามย้ำแล้วย้ำอีกก็คือว่า “นี่คือปลากระเบนจากหมู่บ้านของเรา” ... “ปลากระเบนจากดอนกระเบนแห่งลุ่มน้ำปากพนัง” หลายๆ คนกังขาไม่อยากจะเชื่อคำตอบดังกล่าว
ผมมีโอกาสแวะเวียนเข้าออกหมู่บ้านนี้หลายครั้ง หลังจากทราบข่าวมาว่าเป็นหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลชุมชนประมงต้นแบบอันดับ 2 ของประเทศจากการคัดเลือกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อสองปีที่ผ่านมา และกำลังจะเป็นหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่งจะมีการสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ยื่นไปในอ่าวทะเลหน้าบ้านที่อุดมสมบูรณ์ของชุมชนแห่งนี้ในการขนถ่ายถ่านหินจำนวนมากเพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้า
ผมกำลังพูดถึงหมู่บ้านที่ชื่อว่าชุมชนประมงบ้านเกาะเพชร ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านเกาะเพชรเป็นชุมชนประมงชายฝั่งที่มีประชากรทำการประมงด้วยเรือขนาดเล็กประมาณ 80 ลำ จับพันธุ์สัตว์น้ำตามฤดูกาล มีเครื่องมือทำการประมงที่หลากหลายตั้งแต่อวนปู อวนปลาทู อวนล้อมจับปลาหลังเขียว ฯลฯ และที่ทำให้ผมแปลกใจมากๆ ที่นี่มีอวนจับปลากระเบน ซึ่งในชุมชนประมงชายฝั่งทั่วๆ ไป การจับปลากระเบนจะไม่มีเครื่องมือโดยเฉพาะ ส่วนมากใช้เบ็ดราวหรือการได้มาซึ่งปลากระเบนในแต่ละครั้ง เป็นเพราะปลากระเบนติดอวนเฉพาะของการจับสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ มาบ้างเท่านั้น
อำเภอหัวไทรเป็นหนึ่งในอำเภอที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่อำเภอหัวไทร โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ราบลุ่มริมฝั่งทะเล มีแม่น้ำสายหลักที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของอำเภอหัวไทร คือคลองหัวไทร ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำปากพนัง ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราช ในเขตตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด โดยมีคลองสาขา คือ คลองลาไม ที่เกิดจากห้วยต่างๆ ที่ไหลมารวมกันเป็นคลองลาไม ไหลผ่านตำบลวังอ่าง ตำบลเขาพระทอง ตำบลท่าประจะ ลงสู่คลองชะอวด
อีกสาขาหนึ่งเกิดจากห้วยบริเวณควนหนองหงส์ ที่เกิดเป็นคลองบางกลม ไหลผ่านตำบลบ้านตูล อำเภอชะอวด ลงสู่คลองชะอวดไหลผ่านอำเภอชะอวด เรียกว่า คลองชะอวด หรือคลองท่าเสม็ด ไหลผ่านอำเภอเชียรใหญ่ เรียกว่าคลองเชียร ถึงบ้านปากแพรกแล้วแยกเป็นสองสาย สายหนึ่งไหลผ่านไปทางทิศเหนือไปออกทะเลที่อ่าวปากพนัง เรียกแม่น้ำปากพนัง อีกสายหนึ่งไหลค่อนข้างขนาบฝั่งทะเลไปทางทิศใต้ผ่านอำเภอหัวไทร เรียกว่า คลองหัวไทร แล้วไปลงทะเลสาบสงขลาที่ ตำบลระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาระยะทางประมาณ 63 กิโลเมตร
นอกจากคลองหัวไทรสายหลักแล้ว ยังมีคลองสาขาอีกมาก เช่น คลองพัทธสีมา คลองบางดิ่ง คลองท่าเสา คลองบางปราชญ์ คลองหัวลำภู คลองแพรกเมือง คลองบางตะพาน คลองรามแก้ว คลองโพรงจระเข้ คลองดอนผาสุก - คลองควน ลำคลองเหล่านี้มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอำเภอหัวไทรมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จากลักษณะของพื้นที่ที่มีแม่น้ำลำคลองหลายสายไหลลงสู่ทะเล ทำให้พื้นที่ชายฝั่งของทะเลหัวไทรอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารสำหรับสัตว์น้ำ ปูม้า ปลาจวด ปลาอินทรีย์ ปลากุเลาซึ่งก็รวมถึงปลากระเบนที่มารวมกันอยู่ที่นี่ให้ชาวประมงสามารถจับขึ้นมาเป็นรายได้และบริโภคตลอดทั้งปี
ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังได้นำไปสู่ความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จากกรณีการนำพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวมาแปลงเป็นพื้นที่ของการทำนากุ้งและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ทำนาข้าวและเกษตรกรที่ปลูกพืชผักสวนครัว ไร่เกษตรผสมผสานในพื้นที่ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ได้เข้ามากว้านซื้อพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวหลายพันไร่แล้วแปลงสภาพให้เป็นนากุ้ง ในยุคทองของการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา การคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าวยุติลงเมื่อมีโครงการพระราชดำริ ในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังที่ได้มีความพยายามในการแบ่งแยกพื้นที่น้ำเค็ม น้ำจืดออกจากกัน
“ดอนปลากระเบนแห่งลุ่มน้ำปากพนัง” โดยเฉพาะในทะเลหน้าชุมชนตำบลเกาะเพชรของอำเภอหัวไทร เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่พบได้ไม่มากนักในพื้นที่ชายฝั่งของประเทศ ภาพของเครื่องมือทำการประมงที่ชาวประมงจะต้องผลิตกันเองในชุมชนเพราะมีปลาขนาดใหญ่ที่แห อวน จากโรงงานไม่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการจับสัตว์น้ำบางชนิดในพื้นที่นี้ได้โดยเฉพาะปลากระเบน ที่มีขนาดใหญ่และสามารถจับได้ตลอดฤดูกาล ในฤดูมรสุมที่ไม่สามารถนำเรือออกไปนอกชายฝั่งได้ แค่ยืนเหวี่ยงเบ็ดหรือราวเบ็ดริมหาด ปลากระเบน ปลาดุกทะเลขนาดต่างๆ ก็สามารถทำให้อาชีพประมงชายฝั่งแห่งนี้ดำรงอยู่ได้อย่างสบายๆ อยากให้ผู้อ่านได้รับรู้และร่วมกันกับพี่น้องชาวประมงชายฝั่งที่นั่น รักษาดอนปลากระเบนแห่งลุ่มน้ำปากพนังให้คงอยู่ตลอดไป.