xs
xsm
sm
md
lg

พบรอยเลื่อนจ่อกทม. อาคาร2ล้านหลัง!เสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผงะ! อาคารในกทม.ไม่ปลอดภัยกว่า 2 ล้านหลัง รับแรงแผ่นดินไหวไม่ได้เลยถึง 1 ล้านหลัง นักวิชาการจี้เสริมโครงสร้างหลังธรณีวิทยาพบรอยเลื่อนมีพลังที่นครนายก จ่อเข้าใกล้ กทม.มากขึ้น

วานนี้ (3 ต.ค.) ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวระหว่างการสัมมนาวิชาการ "การบริหารจัดการสาธารณะในภาวะวิกฤติจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ" ว่า ภัยธรรมชาตินำมาซึ่งความสูญเสีย แต่ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งบทเรียนอันล้ำค่า ก่อให้เกิดการวิจัยและเรียนรู้การแก้ปัญหาในอนาคต การจะแก้ปัญหาได้นั้นจะต้องรู้ต้นตอของภัยธรรมชาติเสียก่อน โดยสาเหตุสำคัญนั้นส่วนหนึ่งมาจากมนุษย์ สำหรับการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น ต้องอาศัยกรอบการดำเนินงานเฮียวโงะ (Hyogo) ซึ่งเน้นในเรื่องของการปฏิบัติและการป้องกัน โดยต้องมีการเสริมสร้างความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารต่างๆ เพื่อให้รองรับการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ส่วนการสร้างอาคารใหม่จะต้องถูกต้องตามหลักการรองรับแผ่นดินไหวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ จะต้องมีการเสริมสมรรถภาพขีดความสามารถทรัพยากรมนุษย์ และรัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่ถูกต้องในการรับมือกับภัยพิบัติ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ศ.ปณิธาน กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยมีการออกกฎหมายให้มีการออกแบบอาคารให้สามารถรองรับการเกิดแผ่นดินไหว เมื่อปี 2550 แม้ก่อนหน้าจะไม่มีการออกแบบให้รองรับการเกิดแผ่นดินไหว แต่เชื่อว่าสามารถรองรับได้ในระดับหนึ่ง โดยต้องมีการพิจารณาเสริมความแข็งแรงของอาคารที่ไม่ปลอดภัยเหล่านั้นให้ปลอดภัย

"ในกทม.มีอาคารประมาณ 2 ล้านหลัง ที่ไม่ปลอดภัยต่อการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในจำนวนนี้มีประมาณ 1 ล้านหลังที่ไม่สามารถรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้เลย ดังนั้น จำนวนอาคารที่มีมากเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องเลือกปรับปรุงเสริมความแข็งแรง โดยเลือกอาคารสาธารณะที่สำคัญ อาคารโครงสร้างพื้นฐาน ทางด่วน สะพาน โรงไฟฟ้า ประปา สถานีดับเพลิง หรือโรงพยาบาลก่อน เพราะขณะนี้ทราบจากสำนักธรณีวิทยาว่า มีรอยเลื่อนมีพลังเข้าใกล้ กทม.มากขึ้น โดยอยู่ที่ จ.นครนายก แต่จะมีความรุนแรงเท่าไรนั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้" ศ.ปณิธาน กล่าว

ศ.ปณิธาน กล่าวว่า ภัยธรรมชาติเป็นเรื่องไม่แน่นอน เนื่องจากมีตัวแปรมากมาย สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมด้านการบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งมีมตรการสำคัญอยู่ 5 มาตรการด้วยกัน คือ 1.การเตรียมพร้อมด้านอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน 2.การเตรียมพร้อมระบบเพื่อการบรรเทาภัย เช่น ระบบคมนาคมฉุกเฉิน 3.มาตรการด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย 4.มาตรการด้าน Capacity Building และนวัตกรรมการแก้ปัญหา และ 5.มาตรการด้าน Emergency Response.
กำลังโหลดความคิดเห็น