xs
xsm
sm
md
lg

ปู”รับปากฑูตญี่ปุ่น ตามคดีนักข่าวเหยื่อ 98 ศพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (1 ต.ค. 55 ) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเซอิจิ โคจิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่ออำลาในโอกาสที่กำลังจะพ้นหน้าที่ โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอบคุณและชื่นชมการทำงานของเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมยืนยันต่อเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นว่า ทางการไทยให้ความสำคัญกับคดีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนี้ได้เร่งดำเนินการพิจารณาคดีและค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยซาบซึ้งที่ภาครัฐและภาคเอกชนญี่ปุ่นยังให้ความเชื่อใจและขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันในแผนการป้องกันพื้นที่อุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่บริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานการลงทุนในไทย รัฐบาลพร้อมที่จะร่วมมือกับทางญี่ปุ่นในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศ ทั้งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง และการพัฒนาด้านโทรคมนาคมต่างๆ ตลอดจนโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายของเมียนมาร์อีกด้วย
ด้านนายเซอิจิ กล่าวว่า ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญต่อประเทศญี่ปุ่นในฐานะมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาโดยตลอด ทั้งการเดินทางเยือนญี่ปุ่นถึง 2 ครั้งเมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา และการต้อนรับเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารญี่ปุ่น เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วย

**จ่อสอบทหารหวังโยงคดีเสธ.แดง
พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 92 ศพ ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 53 ว่า ในวันที่ 2 ต.ค.นี้จะมีการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าวร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วยดีเอสไอ ตำรวจ และอัยการ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาหารือกันและร่วมกับวางแนวทางการดำเนินการขั้นต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ปี 53 ไปแล้วหลายคน ซึ่งก็ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์พอสมควร สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องรายต่อไปที่ทางพนักงานสอบสวนส่งหนังสือเชิญมาให้ข้อมูลหลังจากนี้ก็จะเป็นกลุ่มผู้ปฏิบัติในวันเกิดเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนายทหารที่คุมกำลังพลในวันเกิดเหตุ ตั้งแต่ระดับ ผบ.พล.และผบ.พัน.
"พนักงานสอบสวนต้องการทราบว่ากำลังพลในขณะนั้นมีมากน้อยเท่าใด และส่งไปประจำการจุดใดบ้าง เมื่อได้ข้อมูลตรงส่วนนี้แล้วก็จะทำให้คดีกระชับมากขึ้น เพราะจะรู้ว่ากำลังพลประจำการจุดใดบ้าง และจุดที่กำลังพลอยู่มีกลุ่มใดปะปนอยู่ด้วยหรือไม่ ซึ่งก็อาจจะโยงไปถึงคดีการตายของเสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ได้ง่ายขึ้นว่ากลุ่มใดเป็นผู้ก่อเหตุ ทั้งนี้ หลังจากส่งหนังสือไปเชิญไปยังนายทหารกลุ่มดังกล่าวแล้วส่วนใหญ่ก็ขอเลื่อนเข้าให้ปากคำโดยไม่มีกำหนดเนื่องจากติดภารกิจอยู่" รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าว

**รายงาน คอป. อาจสรุปเร็วขึ้น
พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า รายงานสรุปของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ออกมาล่าสุดนั้น มีหลายประเด็น และข้อเท็จจริงบางอย่างอยู่ในรายงานดังกล่าว ที่มีประโยชน์ต่อการสรุปสำนวน คดีการเสียชีวิต 98 ศพ ที่ดีเอสไอ กำลังดำเนินการอยู่ แต่ทางพนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบซ้ำในทุกกรณี ที่เกี่ยวพันกับรูปคดีที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะส่งผลให้การสรุปสำนวนคดีง่ายขึ้น และเร็วขึ้นก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางพนักงานสอบสวนจะต้องทำการตรวจสอบซ้ำอีกครั้งในข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ เนื่องจากหลายประเด็นยังไม่ชัดเจน ไม่มีที่มีมาที่ไปของเหตุ แต่ก็จะทำให้การทำงานของดีเอสไอในคดีนี้ง่ายขึ้น

**จี้รบ.สั่งสตช.-ดีเอสไอ เร่งจับชุดดำ
ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า รัฐบาลต้องสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ไปดำเนินการเรื่องชายชุดดำ ตามที่รายงานของคอป.ออกมาสรุปแล้ว ซึ่งหนังสือเอเชียไทม์ได้ระบุชัดเจนว่ามีกลุ่มชายชุดดำใช้อาวุธสงคราม ซึ่งเป็นหลักฐานที่นักข่าวได้เขียนไว้ ตนคิดว่ารัฐบาลต้องสั่งการให้หน่วยงานดังกล่าวขยายผล มีบางส่วนถูกจับกุมอยู่ที่บางเขน บางส่วนได้รับประกันตัว อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจะได้จบสิ้นเรื่องชายชุดดำ กองกำลังที่ใช้อาวุธสงครามในเหตุการณ์ 10 เม.ย.-19 พ.ค. 53

**ประชา” นั่งหัวปคอป.แทน
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) โดยมีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะรองประธานปคอป.เป็นประธาน เนื่องจากนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ประธานปคอป. ลาออกจากตำแหน่ง
โดยนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ โฆษก ปคอป. แถลงภายหลังการประชุมว่า ในการประชุมได้มีการหารือถึงรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองห่งชาติ (คอป.) โดยแบ่งเป็น 5 ข้อ คือ 1.การพิจารณารายงานฉบับสมบูรณ์และข้อมูลเบื้องต้นของ คอป. 2.รับทราบการสรุปสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ์ โดยส่วนนี้จะเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ที่ศาลจะหาข้อสรุป ปคอป.ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังศึกษาในเรื่องนี้อยู่ ดังนั้น ขอให้ประชาชนพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างมีสติ ไม่ใช้อารมณ์ ข้อ 3.การหาสาเหตุและรากเหง้าของปัญหา โดยเราจะนำข้อเสนอนี้ไปจัดงานประชาเสวนาเพื่อสร้างความปรองดองในระยะยาว 4. การฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง โดยเรื่องนี้คอป.กำลังดำเนินการ และ5.ในส่วนของข้อเสนอแนะของคอป.มีหลายกรณี เช่น เรื่องความยุติธรรม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องให้หน่วยงานราชการเข้ามาดำเนินการว่าจะทำให้เกิดรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จุดยืนของปคอป.ต่อรายงานฉบับสมบูรณ์ของคอป.เป็นอย่างไร นายวีระวงค์ กล่าวว่า ปคอป.ทำได้เพียงรับทราบ คงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานของสถาบันพระปกเกล้า และรายงานเอกชนหลายแห่งที่ส่งเข้ามา ซึ่งก็ต้องรับฟังประกอบกัน แต่กระบวนการทั้งหมดหากจะให้ยุติต้องให้นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เมื่อถามว่า การที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ประธานปคอป.ลาออก จะทำให้การทำงานของปคอป.สะดุดหรือไม่ นายวีระวงค์ กล่าวว่า ในทางทฤษฎีสะดุดไปแล้วชั่วคราว เพราะในการประชุมแม้ประธานจะไม่มาก็ให้รองประธานทำหน้าที่แทนได้ แต่ขณะนี้คือ ประธานไม่มีจึงเกรงว่า หากประชุมแล้วมีมติอะไรไปจะเป็นปัญหาในภายหลัง แต่คิดว่า คงไม่มีการเว้นว่างไว้นาน ถึงเวลาก็ต้องทำให้เดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับงานของปคอป.นั้น ยังมีอีกหลายส่วนที่ดำเนินการอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีมติใหม่ อาทิ การจัดประชาเสวนา ที่ไม่ได้สะดุดอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น