xs
xsm
sm
md
lg

รวบรัดปรองดอง 90ล้านจัดเสวนา120วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(11ก.ย.55) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการโครงการจัดเวทีประชาเสวนา หาทางออกประเทศไทย ตามที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(ปคอป.)เสนอ
ทั้งนี้ได้มีการอนุมัติในหลักการให้ใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ2556 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการ ในวงเงิน 90,265,000บาท โดยเบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไป และให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานเบิกจ่ายงบประมาณ
ทั้งนี้กำหนดระยะดำเนินการภายใน 120 วัน หลังจากได้รับอนุมัติโครงการและงบประมาณ ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 5 กิจกรรม คือ1.การจัดทำคู่มือและแนวทางการจัดเวที 2.การอบรมวิทยากรกระบวนการ 3.การจัดเวทีประชาเสวนาในพื้นที่ภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร 4.การสรุปผลดำเนินงาน รายงานผลการจัดเวทีประชาเสวนา และ 5.การประชาสัมพันธ์ ทั้งก่อน ระหว่างและหลังดำเนินการ อย่างไรก็ตามน.ส.ศันสนีย์เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำชับว่าอยากให้รวบรวมการเสนอความเห็นและทางออกจองประชาชน รวมทั้งรวบรวมความเห็นที่ครอบคลุมไปถึงนักวิชาการ และสถาบันการศึกษาด้วย
ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า กรณีที่นาย โภคิน พลกุล ได้แถลงว่าจะจัดเวทีและเชิญนักวิชาการ 5-6 คนมาถามความเห็น แต่เมื่อได้ฟังคำถามที่จะถาม เราก็ได้คำตอบชัดเจนว่าใน 3 คำถาม ที่จะถาม มีการตั้งธงไว้ว่าจะต้องเดินหน้าแก้ไขต่อไปแน่นอน และดูเหมือนจะมีการล็อคสเป็กคำตอบไว้เบื้องต้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐบธรรมนูญหวังผลที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้ได้มากกว่าที่จะแก้ปัญหาให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เช่น คำถามที่1กระบวนการแก้ไขควรเป็นอย่างไร คำถามที่2ต้องทำอย่างไรกับคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ และคำถามที่3 มาตราใดที่ไม่เป็นประชาธิปไตยควรแก้ไข ซึ่งที่สุดแล้วรัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร
อีกด้านที่โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจการบริหารการปกครองของประเทศไทย โดยมีองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟัง โดยนายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “วิวัฒนาการละความสำคัญของการบริหารการปกครองของประเทศไทย”ว่า ปัจจัยที่จะเปลี่ยนแปลงฐานะทางสังคมมากที่สุดคือ การศึกษา ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวของคนไทยเชื้อสายจีนที่สามารถเห็นเรื่องนี้ได้ชัด และในหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องให้การศึกษาแก่ประชาชน และการกระจายอำนาจที่มีการออกกฎหมายรองรับในปีถัดมา การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประชาธิปไตยของประเทศไทยมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ตามความจำเป็นเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น ตั้งแต่ยุค พ.ศ.2475 เป็นต้นมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเรื่อยมา เช่น การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ แต่การเปลี่ยนแปลงย่อมมีปัญหาตามวิวัฒนาการ ซึ่งต้องมีการแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาไปต่อเนื่อง และที่ผ่านมาประเทศไทยเคยผ่านเหตุการณ์สงครามทางการเมืองที่สำคัญเหตุการณ์คือ กบฏบวรเดช ที่เป็นบทเรียนสำคัญ แต่วันนี้ไม่มีใครคิดจะจดจำ
จากนั้น นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายหัวข้อ “การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ เพื่อการปฏิรูปประเทศ” ว่า ประเทศไทยขาดความสมดุลของอำนาจระหว่างรัฐและประชาชน จนมีความเหลื่อมล้ำ ปัญหาในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างตามแต่ละพื้นที่ แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐช่วยเหลือมากเกินไปประชาชนจะอ่อนและกลายเป็นคนที่คอย พึ่งพาผู้อื่น ส่วนตัวเชื่อว่าประเทศจะเจริญได้ประชาชนต้องเข้มแข็ง ฉลาด ขยัน อดทน ต่อสู้กับปัญหาต่างๆได้ดี โดยมีภาครัฐคอยประคับประคอง แต่เห็นว่านักการเมืองชอบเห็นประชาชนอ่อนแอเพื่อเปลี่ยนการช่วยเหลือเป็นคะแนนเสียง นอกจากนี้เห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริงไม่ใช่รับใช้ส่วน ราชการ กระทรวง ทบวง กรม อื่นๆ และหากพูดกันแบบตรงไปตรงมาในเรื่องปัญหาทางการเมืองระดับชาติวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯที่อาศัยอยู่ต่างประเทศไม่ได้ผิดทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ถูกทุกเรื่อง การกระจายอำนาจก็เปรียบเหมือนกับเนื้อก้อนใหญ่ หากมีการแบ่งให้ท้องถิ่นจนเหลือส่วนกลางเพียงแค่ก้อนเล็กก็จะไม่มีการแย่ง อำนาจเกิดขึ้น และเชื่อว่าปัญหาการเมืองระดับชาติจะลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น