xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตเศรษฐกิจไทย : ปีหน้าเผาจริง? ตอนที่ 4

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

               กระตุ้นและกระตุ้น ราวกับเศรษฐกิจไทยเป็นกามตายด้าน
                    นี่คือแนวนโยบายเศรษฐกิจแห่งความวิบัติ

หนี้สาธารณะในระดับสูงมักเป็นภาระทางการคลังที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจติดตามมาด้วยเสมอๆ ดังจะเห็นได้จากตัวแบบรุ่นที่ 1 ที่แตกต่างจากตัวแบบรุ่นที่ 2 ตรงที่เน้นประสบการณ์ของประเทศแถบละตินอเมริกาที่ใช้นโยบายแบบประชานิยมเป็นสำคัญ

คุณลักษณะนโยบายประชานิยมที่ว่านี้เน้นการใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการต่างๆ เพื่อหวังผลทางการเมืองเป็นที่ตั้ง ดังนั้นการใช้เงินในพื้นที่เลือกตั้งแบบเหวี่ยงแหไม่คำนึงว่าพื้นที่ใดต้องการหรือไม่ เช่น กองทุนหมู่บ้าน 1 อำเภอ 1 ทุน กองทุนสตรี บ้านหลังแรก รถคันแรก ตรึงราคาน้ำมันดีเซล หรือโครงการสวัสดิการ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยอ้างว่าทำแล้วประชาชนชอบ

ประสิทธิภาพในด้านความคุ้มค่าของการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่ถูกละเลย ในขณะที่ที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่ายกลับมิได้มาจากภาษีหากมาจากการกู้หรือการพิมพ์เงินเพิ่มเป็นสำคัญ

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในกลุ่ม PIIGS โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน ที่ต่างเป็นสมาชิกกลุ่มอียูก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือมีหนี้สาธารณะสูงจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล

หนี้สาธารณะจึงเป็นผลที่เกิดตามมาไม่ว่าจะอยู่ในรูปของพันธบัตรภาครัฐหรือธนบัตรที่เป็นหนี้สินของผู้ออกที่เพิ่มขึ้นมา และหาได้เป็นความมั่งคั่งของประเทศจากการมีพันธบัตรหรือเงิน (ธนบัตร) ที่เพิ่มมากขึ้นมาแต่อย่างใดไม่

หนี้สาธารณะจึงมิได้หมายความถึงหนี้ที่รัฐบาลเป็นผู้กู้โดยตรงและที่รัฐบาลไปค้ำประกันให้ก็หาไม่ หากแต่ยังต้องรวมภาระที่ซ่อนเร้นหรือ implicit liabilities ทั้งทางตรง เช่น การขาดทุนจากการจำนำข้าว และทางอ้อม เช่น การจ่ายเงินชดเชยหรือเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินของรัฐที่อาจขาดทุนเนื่องจากไปทำตามนโยบายรัฐบาล

ระดับหนี้สาธารณะ เช่น ร้อยละ 60 ของ GDP ที่รัฐบาลพยายามสร้างภาพจึงไม่สื่อให้เห็นถึงการเป็นปัจจัยของความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดวิกฤตฯ เพราะคิดแบบแคบๆ ไม่รวมภาระที่ซ่อนเร้น

นโยบายการ “จำนำข้าวทุกเมล็ด” ที่ดำเนินการไปเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมานอกจากผลาญเงินของ ธกส.ไปกว่า 9 หมื่นล้านบาทแล้วยังมีภาระเงินกู้อีกกว่า 2.6 แสนล้านบาทที่รัฐมนตรีพาณิชย์และคลังยังต้องโกหกไปวันๆ เพราะยังไม่สามารถหาทางขายข้าวที่ไปรับจำนำมาในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโดยไม่ขาดทุนได้ ในขณะที่ฤดูกาลใหม่ก็ยังจะทำอีกโดยตั้งเป้าใช้เงินอีกกว่า 4 แสนล้านบาท ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าความเสียหายนั้นมีมากมายยิ่งนัก

นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของภาระหนี้สาธารณะที่ซ่อนเร้นโดยการกระทำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แม้จะอ้างว่ายังไม่ขาดทุนหากไม่ขายออกไป แต่จะเก็บข้าวไว้ได้นานสักเท่าไรโดยไม่เสียหายจากการเสื่อมสภาพ การขาดทุนจากการซื้อแพงมาขายถูกจึงคาดว่าจะก่อหนี้สาธารณะให้เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาระหนี้ที่ซ่อนเร้นกลายมาเป็นภาระที่ชัดแจ้ง (explicit liabilities) อย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว

ความคุ้มค่าคุ้มเงินจากนโยบายนี้อยู่ที่ใด? การจะอ้างว่าชาวนาได้ประโยชน์คงไม่ใช่คำตอบเพราะเป็นการได้ประโยชน์ของคนบางกลุ่มบนความเสียหายของคนทั้งประเทศที่ต้องนำเงินมาชดเชยความเสียหายผ่านหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง ยังมีแนวทางอื่นอีกมากที่ทำให้ทั้งชาวนาได้ประโยชน์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ในอีกทางหนึ่ง การสร้างภาระหนี้โดยการกู้เงินนอกงบประมาณดูจะเป็นพฤติกรรมของรัฐบาลในระบอบทักษิณและพวก เป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤตฯ

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้การออกพระราชกำหนดกู้เงินเป็นเครื่องมือในการก่อหนี้ ดังนั้นงบประมาณรายจ่ายประจำปีจึงมิได้แสดงฐานะทางการคลังของประเทศที่ตรงกับข้อเท็จจริงเพราะในงบประมาณจะมีการขาดดุลและสร้างหนี้สาธารณะในระดับต่ำ แต่การสร้างหนี้จะมาทำที่นอกงบประมาณผ่าน พ.ร.ก.กู้เงินแทน ทำให้ไม่มีการตรวจสอบโดยสภาฯ ตามกลไกที่มีอยู่ได้ประสิทธิภาพของการใช้เงินจึงเป็นข้อสงสัย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทโดยอ้างว่าต้องเร่งรัดทำโดยไม่มีรายละเอียดของการใช้เงินไม่ยอมผ่านสภาฯ อ้างแต่ว่าเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่จนบัดนี้ที่น้ำท่วมใหม่อีกรอบแล้วก็ยังมิได้มีการเบิกจ่ายนำไปใช้ตามข้ออ้างของการออกเป็น พ.ร.ก.แต่อย่างใด และมีแนวโน้มที่จะนำไปใช้ไม่ได้

เหตุก็คือรัฐบาลรู้แล้วหรือยังว่าที่ผ่านมาอะไรเป็นสาเหตุของน้ำท่วม ได้แถลงให้ประชาชนทราบเหมือนดังเช่นรายงาน คอป.หรือยัง การจะให้เอกชนมาเสนอโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยที่ตนเองยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของน้ำท่วมนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าที่เขาเสนอมานั้นมันแก้ได้?

ความเสี่ยงทางการคลังก็คือการมีหนี้สาธารณะในระดับสูงไม่ว่าจะโดยเปิดเผยหรือซ่อนเร้นก็ตาม เพราะจะมีผลต่อภาระงบประมาณที่จะต้องผูกพันใช้หนี้ทั้งต้นและดอกมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้รัฐบาลขาดความคล่องตัวที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นหรือเป็นเหตุให้เกิดวิกฤตฯ เสียเอง

แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ก่อหนี้สาธารณะแต่ภาระจากสวัสดิการสังคมประเภทต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นจากจำนวนและอายุประชากรที่มากขึ้น เป็นภาระที่หนักอยู่แล้วเพราะมีแต่เพิ่มและยกเลิกได้ยาก

รัฐบาลที่ดำเนินนโยบายรอบคอบไม่ตั้งตนอยู่ในความประมาทมักจะใช้นโยบายการคลังแบบ counter cyclical กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวในขณะที่เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวรัฐบาลก็จะกระทำในทางตรงกันข้ามเพื่อลดความร้อนแรงและเก็บเงิน (จากภาษี) เช่น การลดหนี้สาธารณะเพื่อเหลือช่องว่างเอาไว้ใช้ในยามจำเป็น

แต่เท่าที่ผ่านมา รัฐบาลทักษิณและพวกมุ่งแต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจแต่เพียงทิศทางเดียวราวกับว่าประเทศไทยเป็นโรคกามตายด้าน ต้องอาศัยนโยบายขาดดุลการคลังทั้งในและนอกงบประมาณเป็นไวอากร้ามากระตุ้น ในขณะที่ประสิทธิภาพการใช้เงินก็ขาดความโปร่งใส ขาดความสมดุลจากการขึ้นภาษีเพื่อมาเป็นแหล่งเงินทุนในการใช้จ่าย ผลที่ติดตามก็คือความเสี่ยงทางการคลังจากระดับหนี้สาธารณะก็สูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับความมั่นใจที่สวนทางลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น