xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อปท.ท้าเอาชีวิตแลก “ประชานิยมหมื่นห้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ปัญหาจากนโยบายปรับเพิ่มเงินเดือนระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แจกให้ทหาร ตำรวจ ครูและข้าราชการประจำ อย่างครบถ้วน ต้นๆดูดีว่าข้าราชการจะอยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้า

แต่ไปๆมาๆ จากการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท กลับต้องตกหลุมตัวเองจนได้
โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนของกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับการจัดสรรเพิ่มเติม 4,840,856,400 บาทนั้น กว่า 4,686,545,000 บาท หรือ เกือบทั้งหมดถูกจัดสรรให้กับ “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” ในแผนงานแผนงาน ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการ เพื่อรองรับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

แต่ไฉน การบริหารจัดการงบประมาณในส่วนของท้องถิ่น กลับได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท ของรัฐบาล

ถึงขั้นที่ “ที่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.)” และ“สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย” ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 6,200 ล้านบาทให้กับท้องถิ่น เพื่อกาลดังกล่าว หรือว่า งบประมาณ ปี 2556 ของกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับการจัดสรรเพิ่มเติม

บอกว่า ไม่ได้จัดสรรให้กับท้องถิ่น ซึ่งเรื่องนี้ตอกย้ำกับคำสัมภาษณ์ของ “นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบคำถามที่ว่า งบประมาณที่จัดสรรให้ส่วนท้องถิ่นเป็นจำนวนมากที่สุด จะนำไปใช้ในส่วนใดเป็นพิเศษ

ซึ่งมท. 1 บอกว่า “ไม่มี ให้ท้องถิ่นคิดเองอย่างอิสระว่านำไปทำอะไรบ้าง ซึ่งส่วนกลางดูเพียงความถูกต้องเหมาะสมของวงเงินกับงาน ตามระเบียบกฎหมาย”

คำตอบชัดๆ “ให้ท้องถิ่นคิดเองอย่างอิสระว่านำไปทำอะไรบ้าง”

แต่ไม่มีเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท ของรัฐบาลแน่ๆ

จากคำตอบ จึงมีคำถามมากขึ้น ถึงขั้น ประท้วงรัฐบาล เดือด! ถึงขั้นมีข่าว “นายกเทศบาลตำบลโคกศรี ประกาศฆ่าตัวตายหน้าทำเนียบ”

เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน ฐานเสียงของรัฐบาล ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดเลย และจังหวัดศรีสะเกษ นำร่องประท้วงของบประมาณเพิ่ม 6,200 ล้านบาท

จากตัวอย่าง“นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง” นายกเทศบาลตำบลยางตลาด ในฐานะนายกสมาคมเทศบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ประธานสันนิบาตเทศบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และรองประธานสันนิบาตเทศบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พูดแทน “ผู้บริหารเทศบาลตำบลทั้งจังหวัด” “เจ้าหน้าที่ลูกจ้างกว่า 1 พันคน”

เขาบอกว่า จากนโยบายรัฐบาลรวมถึงการบริหารท้องถิ่นเกิดปัญหา งบประมาณที่ส่งลงพื้นที่ไม่เพียงพอ เหลืออยู่เพียงร้อยละ 23 ของงบประมาณในแต่ละแห่ง แต่การบริหารซึ่งเพิ่มในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากร ได้ส่งผลสูงเกินกว่าร้อยละ 40

ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการเรียกร้องให้มีการตั้งกรมท้องถิ่นใหม่เนื่องจากมีปัญหาในการเรียกรับเงินเปอร์เซ็นต์ภายในองค์กรถึงร้อยละ 30 จากงบประมาณ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบกลางชดเชยให้กับ อปท. และให้ทำการตัดรายการค่าใช้จ่ายที่ไม่สมควรไปเป็นหน้าที่ของส่วนกลาง

“ถึงขั้นนายประจักษ์ ภูแลขำ นายกเทศบาลตำบลโคกศรี อ.ยางตลาด ได้ประกาศที่จะฆ่าตัวตายที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งหากรัฐบาลไม่ให้คำตอบในการแก้ไขปัญหาภายในวันที่ 31 สิงหาคมนี้”

นายกเทศบาลตำบลยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า ปัญหาเกิดจาก

“งบประมาณในการดูแลปัญหาทุกอย่างในท้องถิ่น เกิดจากนโยบายการกระจายอำนาจของรัฐบาล ที่สวนทางกับนโยบายประชานิยม ที่ไม่เคยสนับสนุนลงพื้นที่อย่างเต็มที่ ปัญหานี้การกระจุกตัวของงบประมาณ เริ่มเกิดขึ้นตั้งปี 2549 ส.ส.มีการแปรญัตติปรับลดงบประมาณของ อปท.ลงอย่างต่อเนื่อง”

พบว่า พื้นที่ภาคอีสาน การจัดเก็บภาษีบางแห่งต่อเดือนยังไม่ถึง 5 หมื่นบาท แต่กลับมีนโยบายประชานิยมออกมาต่อเนื่องทำให้การบริหารจัดการภายในองค์กรไม่สามารถบริหารจัดการได้

ที่จังหวัดเลย เช่นกัน นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล นายกเทศมนตรีเมืองวังสะพุง ในฐานะประธานสันนิบาตเทศบาลจังหวัดเลย ขอร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเงิน 9,000 บาท ที่ต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานที่จบระดับ ปวส. และ 15,000 บาท ที่ต้องจ่ายให้กับผู้จบระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งขอรัฐบาลชุดนี้

ที่นี้ พบความเดือดร้อนจากผลกระทบจากรัฐบาลกับนโยบาย การจ่ายเงินเดือนแก่ผู้จบการศึกษา ปวส. 9,000 บาทและ 15,000 บาท ผู้จบปริญญาตรี ซึ่งอัตรา ณ วันนี้เกินร้อยละ 40 การ บริหารจัดงานของท้องถิ่นเราไม่สามารถจ่ายได้

พร้อมเสนอทางแก้ไขว่ารัฐบาลต้องจ่ายเงินส่วนที่เป็นนโยบายออกมา ปัจจุบันจ่ายให้ปริญญาตรี ไม่เกิน 10,000 บาท รัฐจะให้จ่ายเพิ่มอีก 5,000 บาท ต่อ คนต่อเดือน รวมทั้ง 300 บาท/วันสุดท้ายเมื่อปฏิบัติไม่ได้จะมาให้ท้องถิ่นเอาพนักงานออกเป็นการผลักภาระสำหรับพนักงาน

ที่จังหวัดศรีสะเกษ อีกจุดหนึ่ง กลุ่มสมาคมสันนิบาตเทศบาลจังหวัดศรีสะเกษ และกลุ่มนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดศรีสะเกษ นำโดย นายฉัฐมงคล อังคสกุลเกียรติ นายกเทศมนตรีเมืองศรีสะเกษ ประธานสันติบาตเทศบาลจังหวัดศรีสะเกษ ระบุว่า ตามรัฐบาลมีนโยบายออกมาให้ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างและพนักงานจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเทศบาล ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว แต่ทางรัฐบาลไม่ได้มีการจัดสรรเงินงบประมาณอุดหนุนลงมาให้กับเทศบาลและ อบต. ทำให้เทศบาล และอบต.ได้รับความเดือดร้อน เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย และยังส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของเทศบาลและ อบต.ทุกแห่ง

ประกอบกับ “นายถาวร เสนเนียม” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สำทับว่า รัฐบาลนี้หลอกลวงผู้จบปริญญาตรี เพราะก่อนหน้าหาเสียงบอกว่าถ้าเลือกพวกเขามาเป็นรัฐบาล จะขึ้นเงินให้ 15,000 ทั่วประเทศ

แต่ปรากฏว่าพอพวกเขาชนะเลือกตั้งกลับบิดพลิ้วว่ารอให้ถึงปี 2557 ก่อนจึงจะขึ้นให้เท่ากันทั้งประเทศ ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นหลังจากประกาศขึ้นเงินเดือน 15,000 ออกมาแล้วกลับไม่จัดสรรงบประมาณลงไปให้ท้องถิ่น อีกทั้งยังปล่อยให้ท้องถิ่นเจียดงบประมาณจากไหนไม่รู้มาอุดรอยรั่วที่รัฐบาลก่อขึ้น

"ผมเห็นว่านี่คือนโยบายประชานิยมที่กลวงโบ๋ บริหารงานเเบบอยากได้เเต่เสียงข้างมาก หลอกลวงพี่น้องเสื้อเเดงไปแสดงพลังเเละเสียชีวิต เพื่อส่งเเกนนำนปช.บางคนไปเป็นอำมาตโดยทิ้งความขัดเเย้งไว้ให้พี่น้องเสื้อเเดง อีกทั้งทำให้ท้องถิ่นต้องแบกรับภาระ มัวแต่มาก้มหน้าก้มตาขึ้นเงินเดือนให้ลิ่วล้อข้าราชการพวกตนเอง ซึ่งหากรัฐบาลยังทำอย่างนี้ต่อไปผมว่าเศรษฐกิจชาติคงล่มเหมือนประเทศกรีซและอาเจนตินา อย่างไรก็ตามการบริหารงานจนมีข้าราชการท้องถิ่นออกมาขู่ฆ่าตัวตายนั้น รัฐบาลควรจะไปฆ่าตัวตายก่อนข้าราชการดี ๆ จะต้องมาจบชีวิต " นายถาวรกล่าว

ขณะที่ “นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” โฆษกพรรคเพื่อไทย ก็ทำได้แค่ขอให้ “สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย”

“เลิกบีบบังคับรัฐบาล”

“รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ฝ่ายบริหารกำลังเตรียมการช่วยเหลืออยู่ อยากให้ใจเย็นๆ ก่อน การที่ออกมากดดันรัฐบาลให้ปฏิบัติตามจะกลายเป็นเกมการเมือง ถึงแม้ตนจะรู้ว่าทางสมาคมท้องถิ่นทำด้วยใจ แต่จะให้รัฐบาลทำปุ๊บปั๊บเลยคงไม่ได้”โฆษกเด็จพี่บอก

กลับมาดูวงเงิน 4,686,545,000 บาท หรือ เกือบทั้งหมดถูกจัดสรรให้กับ “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น”
เชื่อว่า ต่อไปจะมีการนำเสนอ “โครงการของท้องถิ่น”จากฝากการเมืองนั้นก็คือ ส.ส.พื้นที่ เพื่อของบอุดหนุนเฉพาะกิจผ่านกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อชงเรื่องต่อมายังกระทรวงมหาดไทย เสนอขอจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ มาสู้ขั้นตอนการหักหัวคิวกันตามสัดส่วนงบประมาณที่ได้รับ

ดังนั้นจึง ไม่มีทางเป็นไปได้ว่า เงินงบประมาณที่ส่งไปยัง อปท. จะมีเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท ของรัฐบาลรวมอยู่ด้วยตามที่ “นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ” อ้างว่า “ให้ท้องถิ่นคิดเองอย่างอิสระว่านำไปทำอะไรบ้าง ซึ่งส่วนกลางดูเพียงความถูกต้องเหมาะสมของวงเงินกับงาน ตามระเบียบกฎหมายเท่านั้น”

ถามว่า “องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น”เป็นองค์กรเดียวที่ยังไมได้เงิน 15,000 บาทสำหรับผู้จบปริญญาตรีหรือไม่

ตอบว่ายังมีในการส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะปัญหากลุ่มโรงเรียนเอกชนที่เสนอให้ปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวใหม่ เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับเพิ่มเงินเดือนระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท

แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติเงิน 2,400 ล้านบาท สำหรับเงินอุดหนุนรายหัว ประจำปีงบประมาณ 2556 เพื่อใช้ปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพชั่วคราวให้แก่ครูโรงเรียนเอกชน และปรับเงินเดือนแรกบรรจุของครูเอกชนระดับปริญญาตรีจาก 8,340 บาท เป็น 11,680 บาท แต่ยังไม่สามารถลดผลกระทบได้

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กำลังเตรียมเสนอขอตั้งงบ ประจำปีงบ 2557 จำนวน 48.6 ล้านบาท เพื่อปรับเพิ่มเงินเดือนให้ครูโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก 779 แห่ง ตามนโยบายเงินเดือนระดับปริญญาตรี 15,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งงบดังกล่าวจะไปปรับเพิ่มรวมอยู่ในเงินอุดหนุนรายหัวของโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก โดยระดับก่อนประถมศึกษา และประถมศึกษา จะปรับเพิ่มเป็นหัวละ 500 บาท ระดับมัธยมศึกษา ปรับเพิ่มเป็นหัวละ 1,000 บาท และจะให้มีผลย้อนหลังไปถึงเดือนมกราคม 2555

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้สั่งการให้โรงเรียนเอกชนทั่วประเทศทำแผนการใช้จ่ายงบฯ ว่าโรงเรียนเอกชนมีแผนนำเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้นำไปใช้อย่างไร ก่อนที่จะมาวิเคราะห์ในเดือนก.ย. และเสนอข้อมูลเพื่อของบฯต่อให้รมว.ศธ. และปลัดศธ.พิจารณาในต้นเดือนต.ค.

ต่างกันลิบลับระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงศึกษาธิการ
กำลังโหลดความคิดเห็น