ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายรับจำนำข้าว ในราคาเกวียนละ 15,000 บาท ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของรัฐบาลภายใต้การนำของ 'น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' กำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยอย่างหนักถึงขั้นที่ธุรกิจส่งออกข้าวไทยอาจถึงคราวล่มสลาย ส่วนชาวนาซึ่งหมายมั่นว่าจะได้ประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้นก็ต้องผิดหวังเพราะไม่สามารรถขายข้าวในราคาประกัน ขณะที่รัฐต้องสูญเงินนับแสนล้านไปกับโครงการนี้ เนื่องเพราะมีกลโกงทุจริตกันเป็นขวบการ
'ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์' ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 'กอบสุข เอี่ยมสุรีย์'นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งได้แจกแจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถึงแก่น และสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของคนในรัฐบาลที่เข้ามาดำเนินโครงการนี้ว่ามีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ อย่างไร ?
ปัจจัยอะไรที่ทำให้ยอดส่งออกข้าวของไทยลดลงอย่างมาก
ปี 54 เนี่ยเราทำตัวเลขส่งออกข้าวสูงสุดในสถิติที่เคยทำมา ก็คือประมาณ 10 กว่าล้านตันต่อปี ก็ดีใจนะช่วงนั้นยอดส่งอออกเกือบจะเดือนละล้านตัน แต่พอปี 2555 ก็กลายเป็นปีที่ส่งออกน้อยที่สุด ซึ่งความพลิกผันนี้มันเกิดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.2555 จากที่ส่งออกเดือนละล้านตันมาตั้งแต่ต้นปี 54 พอมาถึงเดือน ต.ค.54 เราก็มีนโยบายจำนำข้าว ประกอบกับประเทศอินเดียซึ่งหยุดส่งออกข้าวมานานหลายปีก็หวนกลับมาส่งออก แล้วก็มาเทขายในตลาด เพราะฉะนั้นก็ทำให้ไทยขายข้าวไม่ออก ชะงักไปเลยตั้งแต่เดือน ต.ค-ธ.ค.ปีที่แล้ว ดังนั้นช่วง 3 เดือนหลังยอดก็ตกมาก
จากนั้นยอดส่งออกข้าวของไทยก็ร่วงมาตลอด เนื่องจากนโยบายจำนำข้าวทำให้ราคาต้นทุนของสินค้าข้าวสูงจนไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ คือราคาที่กำหนดในการส่งออกเนี่ย 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ มันคือต้นทุนวัตถุดิบ แปลว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ของราคาข้าวมันถูกดึงขึ้นโดยภาครัฐ แล้วจะให้ผู้ส่งออกข้าวไปลดต้นทุนอื่นๆ มันไม่มีช่องอะไรให้ลดแล้ว คือเราโดน 2 เด้ง ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยแรกจากนโยบายรับจำนำข้าวซึ่งมันไปดึงราคาข้าวในประเทศให้สูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้ ปัจจัยที่ 2 คือการแข่งขันจากคู่แข่งภายนอก ซึ่งนอกจากคู่แข่งขาประจำอย่างเวียดนามแล้วก็เกิดมีอินเดียมาเป็นคู่แข่งอีกราย
ทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวอะไรมีน้ำหนักกว่ากัน
คิดว่าพอๆ กันนะ คือถึงจะไม่มีอินเดียขึ้นมาเป็นคู่แข่งในตลาดโลก แต่ราคาของข้าวไทยซึ่งรัฐบาลอยากจะขายที่ตันละ 800 ดอลลาร์ก็ เป็นราคาที่ตลาดโลกรับไม่ได้ คิดว่าปัจจัยภายในคือความโอเวอร์ของราคาข้าวน่าจะมีผลมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะสมมุติเราไม่มีนโยบาย จำนำข้าว ถ้ามีอินเดียเป็นคู่แข่งขึ้นมาเนี่ยกลไกตลาดมันก็จะส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศไทยปรับตัวลดลงทันทีเพื่อสู้กับราคาตลาด ทีนี้ถามว่าราคาข้าวที่ปรับตัวเพิ่มตรงนี้มันจะส่งผลย้อนกลับไปที่ข้าวนาใช่ไหม มันก็ใช่ เพราะรัฐบาลตั้งใจที่จะอุดหนุนชาวนา
แม้ราคาข้าวในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้น แค่ก็มีชาวนาจำนวนไม่น้อยที่ต้องขายข้าวในราคาตลาด ไม่ใช่ราคาที่รับจำนำ เนื่องจากถูกโรงสีกดราคา
คือโครงการรับจำนำข้าวจะกำหนดให้โรงสีทั่วประเทศที่เข้าเกณฑ์มาสมัครเข้าโครงการ ซึ่งก็จะมีอยู่ประมาณ 900 โรง โรงสีเหล่านี้จะมีสิทธิ์รับจำนำข้าวจากชาวนา แต่โรงสีที่ไม่เข้าเกณฑ์อย่างโรงสีเล็กๆ ตามหมู่บ้านเขาก็เข้าร่วมโครงการไม่ได้ เพราะฉะนั้นปริมาณข้าวที่จะไหลมาสู่โรงสี 900 โรงเนี่ยก็จะมีทางมา ซึ่งโลจิสติกส์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างเช่นคุณมีนาอยู่ในหุบเขาลึกๆ ปลูกข้าวได้ 10 เกวียน จะขนข้าวมายังโรงสีที่เข้าโครงการซึ่งอยู่ในเขตเมือง ก็ต้องเสียเงินจ้างรถเพื่อขนมา ชาวนาเขาก็ไม่เอา เขาก็ไปขายกับพ่อค้าที่ไปรับซื้อข้าวเปลือกที่หน้านาดีกว่า ซึ่งพ่อค้าข้าวเปลือกก็จะเสนอราคาที่ต่ำกว่าราคา รับจำนำ แต่ราคาก็จะสูงกว่าที่ชาวนาเคยขายได้เพราะราคาตลาดมันถูกดึงขึ้น สมมุติเคยขายข้าวได้เกวียนละ 8,000บาท เขาก็อาจจะมาเสนอเกวียนละ 10,000 บาท ซึ่งชาวนาก็ยินดี เพราะถือว่าได้กำไร แม้จะได้ไม่เต็มที่
เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะบอกว่าข้าวทุกเม็ดขายได้เกวียนละ 15,000 บาทหมดเนี่ยมันไม่จริง เป็นไปไม่ได้ พูดแล้วมันเหมือนกับคุณโฆษณาขายของ ซึ่งคนฟังที่ไม่ได้อยู่ในวงการข้าวก็ฮือฮาว่ามันโดนใจ แต่ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ ในความเป็นจริงชาวนาไม่ได้ขายในราคาเกวียนละ 15,000 บาท เพราะต้องถูกหักค่าความชื้น หักสิ่งเจือปน หักสารพัด ราคาเน็ตๆที่ชาวนาได้รับอาจจะอยู่ที่เกวียนละ 12,000-13,000 บาท
ซึ่งข้าวเปลือกส่วนนี้ซึ่งขายต่ำกว่าเกวียนละ 15,000 บาท นี่แหละที่ไหลออกมาในตลาดภายในประเทศ ถึงแม้ข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำเกวียนละ 15,000บาทจะถูกกวาดไปอยู่ในมือรัฐบาลหมดโดยการรับซื้อจากรัฐบาล แต่ตลาดก็ยังมีข้าวเพียงพอจะบริโภคภายในประเทศ และพอสำหรับการส่งออกในปัจจุบัน ซึ่งมียอดส่งออกเหลือน้อยมาก เนื่องจากปริมาณข้าวที่ชาวนาปลูกมันมีมากกว่าความต้องการบริโภคในประเทศเยอะมาก ถึงส่วนหนึ่งจะถูกดูดไปอยู่ในมือรัฐบาล แต่ส่วนที่ไม่ได้เข้าโครงการมันก็ยังเยอะอยู่ดี
แปลว่าการขายข้าวของชาวนามันไม่ได้ราคาเท่ากันทั้งหมด
ใช่ เท่าที่รู้เนี่ยการรับซื้อของโรงสีเนี่ยมี 2 ช่องทาง ช่องที่ 1 ราคาจำนำตามที่ได้เข้าโครงการกับรัฐ และ ช่องทางที่ 2 ราคาตลาดปกติ ช่องราคาจำนำชาวนาก็จะต่อคิวกันยาวเหยียดเลย แล้วยังไม่ได้เงินสดนะ ได้เป็นใบประทวน ต้องรอให้เงินนี้เข้าบัญชีของธนาคาร ธกส.(ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ซึ่งเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนต้องไปเปิดบัญชีไว้ เมื่อเงินเข้ามาแล้ว ส่วนที่เป็นหนี้สินกับ ธกส.ก็หักบัญชีกันไป ส่วนใครที่รอไม่ไหวก็ไปขายอีกช่องหนึ่งคือช่องราคาตลาดที่ได้ราคาถูกกว่า ก็แน่นอนว่าก็มีชาวนาที่ไม่สะดวกที่จะรอต่อคิวขาย และอยากจะได้เงินสด เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนก็ไปต่อแถวจำนำ ส่วนเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ไปต่ออีกแถวหนึ่ง ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อโรงสีรับซื้อแล้ว ข้าวทั้ง 2 กองนี้จะไปรวมอยู่กองเดียวกันหรือเปล่า
แล้วรัฐบาลมีข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับกลไกการทุจริตของกลุ่มโรงสีหรือไม่
ได้ยินข่าวมาเหมือนกันแต่คงฟันธงไม่ได้ว่าใช่แน่หรือเปล่า เพราะเราไม่ได้อยู่ในวงการและไม่ได้เห็นจริง ถามว่ากลุ่มโรงสีเป็นผู้ที่พยายามผลักดันให้เกิดนโยบายจำนำข้าว ทางผู้สื่อข่าวก็ต้องไปถามว่า นโยบายนี้มันดีอย่างไร ดีกว่าได้แต่พูดว่า ราคาข้าวตกทุกวัน ถามว่าคุณส่งออกหรือเปล่า ถ้าเป็นผู้ส่งออกคุณก็มาเป็นผู้ส่งออก ทุกวันนี้ที่คุณบอกว่าให้ข้าวราคาสูง คุณส่งออกหรือเปล่า คือจะมีสองพวกก็คือ พอช่วงดีก็ไปทำโรงสี พอส่งออกดีก็ไปทำส่งออก แต่ที่คุณไปเย้วๆ ว่าต้องจำนำราคา ต้องดึงราคาตลาดโลกให้สูง ถามว่าที่คุณส่งออกไปกี่ตันกันละปีนี้ อย่างคุณไปปั่นราคาข้าวให้มันสูงๆ มันไม่ดีต่อการส่งออก แต่คุณไม่ตายเพราะคุณไปได้ประโยชน์อีกทาง
เห็นว่าตอนเปิดให้ผู้ส่งออกมาประมูลข้าวที่รัฐรับซื้อจากเกษตรกร ก็มีข่าวเชิงล็อกสเปกมาโดยตลอด
ล็อกสเปกก็คงมี คืออาจเป็นลักษณะการเข้าไปประมูลเพื่อนำไปส่งออกอย่างเดียว แล้วก็กำหนดว่าซื้อไม่ต่ำกว่าเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งในสมัยที่แล้วก็มี มันก็น่าเกลียดตรงนั้น แต่ว่า ณ วันนี้รัฐบาลบอกว่าจะระบาย ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ดิฉันเห็นว่าดี ถ้าทำก็ทำเลย
มีข่าวว่าข้าวในโครงการรับจำนำซึ่งรัฐบาลรับซื้อไว้นั้นไหลไปอยู่ในมือผู้ส่งออกบางราย
ก็ลือกันว่าอย่างนั้น ดิฉันว่าส่วนหนึ่งที่รัฐบาลยอมรับว่ามีการขายกันอย่างลับๆ เนี่ยมันก็เกิดข้อข้องใจว่าไอ้ที่ว่าลับเนี่ยขายกันที่ราคาเท่าไร ขายกันแล้วข้าวไปอยู่ที่ไหน แล้วใครได้ไป มันก็มีคำถามเหล่านี้ซึ่งภาครัฐไม่ยอมตอบ ซึ่งดิฉันก็มองว่าแปลก คือถ้ารัฐบาลบอกว่าขายแล้วไม่ขาดทุน เอ้า...ขายราคาเท่าไรล่ะ เพราะถ้ารัฐบาลขายโดยไม่ขาดทุนจริงๆรัฐบาลจะต้องขายในราคาตันละ 800 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกิดจากราคาที่รับจำนำในราคาเกวียนละ 15,000 บาทบวกกับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ซึ่งดิฉันก็รู้สึกว่าถ้ามีคนมาซื้อข้าวจากรัฐบาลในราคา800 เหรียญเนี่ยมันเป็นเรื่องอัศจรรย์นะ เพราะตอนนี้ราคาข้าวในตลาดโลกมันอยู่ที่ประมาณตันละ 450 ดอลลาร์
แสดงว่านโยบายรับจำนำข้าวทำให้รัฐบาลขาดทุนแน่ๆ
ถ้าใช้คำพูของรองนายกฯ (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) มันก็เป็นอะไรที่แปลกดี ท่านบอกว่ายังไม่ขายก็ยังไม่ขาดทุน ก็ใช่.. แต่ถ้าท่านอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มาก่อนท่านต้องรู้ว่าคำว่ามาร์คทูมาร์เก็ตคืออะไร ก็เหมือนกับคุณซื้อทองมาบาทละ 30,000 บาท แล้วปรากฏว่าตลาดล่ม วันนี้ราคาทองตกลงเหลือบาทละ 20,000 บาท ถามว่าตอนนี้คุณกำไรหรือขาดทุน คุณขาดทุนไปแล้ว แล้วข้าวเนี่ยยิ่งเก็บไว้นานราคายิ่งตก เพราะคุณภาพข้าวเสื่อมลงทุกวัน ก็เป็นเรื่องแปลกว่าทำไมเราไม่เอาความจริงมาพูดกัน แล้วยังมีการออกข่าวเหมือนกับประชาชนไม่รู้เรื่องอะไรเลย
นี่ยังไม่นับประเด็นที่มันถูกบิดไปจากความเป็นจริงอย่างมาก เช่น ที่รัฐบาลบอกว่า โอ้ย..เรามี MOU(การลงนามร่วม) เราขายจีทูจี(รัฐต่อรัฐ)ไปแล้ว เท่านี้เท่านั้นตัน ทำเอ็มโอยูกับบังกลาเทศ กับประเทศนั้นประเทศนี้ ซึ่งในวงการข้าวทั้งในและต่างประเทศเนี่ยเขาขำนะ เวลาเราคุยกับสื่อต่างประเทศเราก็อาย เพราะคำว่า MOU หรือจีทูจี มันไม่ใช่ Contact ซึ่งเป็นการตกลงซื้อขาย คือ MOU ก็เป็นแค่การพูดคุยกันว่าจะซื้อข้าวจากไทยนะ โดยจะซื้อในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่ได้บอกว่าเมื่อไร มันไม่ได้เกิดการซื้อขายจริง ถ้าคุณกล้าพูดว่า Contact ถึงจะแปลว่าคุณขายได้แล้ว ก็ต้องไปถามปลัดกระทรวงพาณิชย์ว่า MOU เป็นสัญญาซื้อขายหรือยัง จะส่งมอบเมื่อไร ราคาเท่าไร คือ MOU เป็นการพูดคุยว่าจะซื้อ มันไม่มีข้อผูกมัด อย่างประเทศอินโดนีเซียเขาต้องกินข้าวอยู่แล้ว ประเทศไหนชวนเขาลงนาม MOU ซื้อข้าว เขาก็ตกลง เขาลงนามทั่วไปหมด ทั้งไทย เวียดนาม กัมพูชา เพราะไม่เสียหายอะไร แต่เขาจะเลือกข้าวจากใครก็แล้วแต่เขา
ปัญหาคือ เมื่อรัฐบาลก็รู้ดีว่าโครงการรับจำนำข้าวเจ๊ง ขาดทุน ล้มเหลว แล้วทำไมรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไป
ก็เป็นความดันทุรังไง
ที่รัฐบาลยังคงดันทุรังเพราะเป็นนโยบายที่ประกาศไว้ตั้งแต่แรก หรือว่ามีผลประโยชน์เบื้องหลัง
คิดหลายๆ ปัจจัยนะ โอเค..คุณประกาศไปแล้ว คุณก็ช่วยชาวนาโดยรับซื้อในราคาประกัน 15,000 บาท ซึ่งกระบวนการนี้ถึงเราจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ถือว่าจบไปแล้ว แต่ถามว่าแล้วรัฐบาลจะเก็บข้าวในสต๊อกไว้ทำไม เพื่ออะไร ประเด็นคือเหตุผลที่เก็บไว้เพราะมันมีความเชื่อแบบผิดๆจากใครก็ตามที่ไปใส่หัวรองนายกฯว่า เฮ้ย..เราสามารรถดึงราคาตลาดโลกได้เพราะยอดการส่งออกข้าวของไทยมีมีสัดส่วนถึง 30% ของตลาดโลก ถ้าเราไม่ขาย ตลาดโลกก็ไม่รู้จะซื้อข้าวจากไหน เราสามารถบังคับให้เขามาซื้อข้าวราคาแพงจากเราได้ รัฐบาลก็ได้ 2 ต่อ คือช่วยชาวนา ได้คะแนนเสียง แล้วยังมีกำไรจากการขายอีก ซึ่งดิฉันไม่ทราบว่าใครเอาความคิดนี้ไปใส่หัวรองนายกฯ ที่ผ่านมาเรา(สมาคมส่งออกข้าวไทย) เคยพบกับภาครัฐบาล พบกับรองนายกฯมาไม่รู้กี่ครั้ง เราก็บอกท่านมันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าตลาดโลกมันคือกลไกตลาดเสรี คือตลาดในประเทศเนี่ยเหมือนกับแม่น้ำสายหนึ่งที่คุณจะกัก น้ำ จะสร้างเขื่อนยังไงก็ได้ แต่ตลาดต่างประเทศมันเหมือนทะเล เมื่อน้ำมันออกทะเลไปแล้ว คุณไปกั้นไม่ได้ ไปทำอะไรไม่ได้ แล้วมันก็มีผู้เล่นเยอะจนคุณบังคับเขาไม่ได้
รัฐบาลเชื่อว่าไทยเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก แต่จริงๆ มันไม่ใช่
ถ้าบอกว่าเราเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่นี่ผิดมหันต์เลยนะ ไทยผลิตข้าวเป็นที่ 6 ของโลก มีหลายประเทศที่เขาใหญ่กว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย แม้แต่อินโดนีเซีย เวียดนาม เขาก็ผลิตข้าวได้มากกว่า แต่เขาผลิตแล้วบริโภคภายในประเทศหมด เพราะฉะนั้นคุณบีบตลาดโลกไม่ได้หรอกเพราะประเทศที่บริโภคข้าวเนี่ยเขาผลิตข้าวได้เองอยู่แล้ว ถ้าหากเขาจะซื้อข้าวจากต่างประเทศเขาก็ต้องเลือกซื้อจากผู้ขายที่ขายในราคาถูกหรือราคาที่เหมาะสมที่สุด แล้วหลายๆ ประเทศซึ่งเคยผลิตข้าวเพื่อบริโภค มีเหลือก็ส่งออกบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่พอเขาเห็นราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นเขาก็ผลิตใหญ่เลย ทำให้เกิดการแข่งขันหนักขึ้นไปอีก เพราะว่าคุณไปดึงราคาให้มันสูงจนทุกคนแห่กันมาผลิต
แต่ถ้าบอกว่าไทยส่งออกข้าวมากที่สุดเนี่ยใช่ ตรงนี้แหล่ะประเด็น เพราะอะไร เพราะเราดันผลิตมากกว่าที่เราต้องการบริโภคตั้งเท่าตัว ที่รัฐบาลบอกว่าเราไม่ต้องกลัวยอดส่งออกตก ดิฉันก็บอกว่าจริง....เมื่อไรที่รัฐบาลสามารถระบายข้าวในสต๊อกได้หมด เมื่อนั้นการส่งออกข้าวของเรากลับมาเป็นที่ 1 ทันที เพราะระบบมันเชื่อมโยงกันโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าคุณอั้นเอาไว้ยอดส่งออกข้าวไทยก็จะตกเพราะไม่มีข้าวส่งออก แต่เมื่อไรที่คุณระบายออกมา ระบายออกมา 5 -10ล้านตันเพื่อส่งออก เราก็กลับมาเป็นที่ 1 เหมือนเดิม
ความจริงโครงการรับจำนำข้าวมีการวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่แรกแล้วว่า รัฐบาลไม่ควรนำมาใช้ เพราะเล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมากมาย
ถูกค่ะ
ทำไมนโยบายประกันราคาข้าวถึงไม่สร้างผลกระทบเท่ากับการรับจำนำข้าว
คือการประกันราคาข้าวเขาปล่อยให้กลไกตลาดเป็นไปอย่างเสรี รัฐบาลไปจ่ายให้กับชาวนาโดยตรง แล้วชาวนาจะขายราคาเท่าไหร่ก็ว่าไป ตลาดโลกจะมีราคาเท่าไหร่ก็ว่าไปตามนั้น เราถึงส่งออกข้าวได้ปีละ 10 ล้านตัน ระบบประกันเราคานี่ยเขาจะมีราคาอ้างอิงให้ชาวนาเพื่อจ่ายส่วนต่าง แต่เขาไม่ได้เอาราคานั้นมาซื้อข้าว ชาวนาอาจจะไปขายในตลาดได้ราคาเกวียนละ 8 ,000 บาทก็ได้ แต่เขาได้ชดเชยที่ราคา 10,000 บาท เป็นเงินเข้ากระเป๋าเขาโดยตรง
แต่บางคนก็ไม่ชอบแบบนั้น ก็อ้างว่าถ้าประกันรายได้ ราคาจะตกทุกวัน ถามว่า ตกทุกวันมันเดือดร้อนใคร ในเมื่อคุณก็ได้ช่วยชาวนาอยู่แล้ว เดือดร้อนโรงสี ผู้ส่งออกบางคนอาจจะไม่ชอบ แต่ดิฉันถามว่า ภาคธุรกิจมันต้องรับสภาพความเป็นจริง แล้วภาคธุรกิจรัฐบาลไม่ควรอุ้ม ทุกวันนี้รัฐบาลอุ้มโรงสี โรงสีบอกไม่ชอบบอกราคาตก แล้วมันเกี่ยวอะไรกับรัฐบาลคะ คือคุณทำธุรกิจคุณก็ต้องรับความเสี่ยง แต่ชาวนาเป็นคนฐานะยากจนเราก็ต้องอุ้มเขา เราก็ต้องยอมยกเว้นให้ ส่วนพ่อค้าข้าวเปลือก โรงสี ผู้ส่งออกส่วนตัวเห็นว่าคุณอยู่ในภาคธุรกิจคุณต้องช่วยตัวเอง คุณไม่ได้ไปเรียกร้องให้รัฐบาลมาอุ้ม หรือมาทำอะไรที่ให้ประโยชน์
ถ้าอย่างนั้นควรหันกลับไปใช้การประกันราคาเหมือนเดิมไหม
คือประกันมันก็มีปัญหาของมัน เพราะอย่าลืมว่า เรากำลังดีลกับคน 4 ล้านครอบครัวหรือ 12 ล้านคน ทำยังไงคุณก็ดีลไม่ได้ ดิฉันเห็นว่า การแก้ปัญหาข้าวเนี่ยมันแก้ไขยากมาก ไม่มีอะไรที่จะเพอร์เฟ็กต์ แต่ที่เชื่อด้วยตัวเองก็คือว่า ชาวนาควรช่วย ก็ต้องช่วยไป อีกส่วนคือกลไกตลาดคุณต้องปล่อย เพราะการปล่อยให้กลไกตลาดแข่งกันเอง มันเป็นวิธีที่แฟร์ที่สุด ไม่มีการแทรกแซงโดยรายใหญ่ ภาครัฐ คือธุรกิจไม่ว่าจะเป็นรายเล็กรายใหญ่ สิ่งที่ควรจะเป็นที่สุดก็คือความแฟร์ในการแข่งขัน
จริงๆ รายใหญ่มันไม่แฟร์อยู่แล้ว เพราะมันเก่งกว่าในทุกทาง ต้นทุนก็ถูกกว่า อะไรก็ถูกกว่า แต่เอาเหอะ ถึงยังไงรายเล็กก็ขอเพียงแค่ว่า คุณอย่าช่วยรายใหญ่จนรายเล็กตายก็แล้วกัน คือเมื่อกลไกลตลาดเสรี คุณแข่งไม่ได้คุณก็ตายไป ภาครัฐก็ไม่ต้องยุ่ง เพราะภาครัฐไม่ได้มีหน้าที่มาค้าขายนะ ส่วนการช่วยเหลือชาวนา รัฐบาลก็มีหน้าที่ช่วยเหลือไป จะช่วยเหลืออะไรก็ทำ บัตรทอง รักษาพยาบาลฟรี แจกปัจจัยการผลิต ก็ไปทำ เพราะเชื่อว่าทุกคนในประเทศเห็นใจชาวนา รู้ว่าเขาเดือดร้อนและเขาลำบาก
ไอ้ข้าวเนี่ย เวลานี้ถ้ารัฐบาลหรือใครก็ตามเข้ามาจัดแจง บอกได้เลยว่ามีประโยชน์ที่แอบแฝงอยู่ในนั้น ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน นี่คือจุดยืนของสมาคมฯ อะไรก็แล้วแต่เราไม่ต้องการเห็นการงุบงิบ ไม่ว่าจะเป็นการงุบงิบเรื่องการระบายข้าวที่ไม่บอกหรือแอบไปได้ดีลจีทูจีแล้วก็ไปมอบให้คนหนึ่งคนใดที่ชอบพอ ถามว่าเอาเกณฑ์อะไรมามอบก็ตอบไม่ออก อย่างนี้เป็นต้น
นี่คือสิ่งที่ภาครัฐไม่ควรเข้ามาทำหน้าที่จัดแจงผลประโยชน์ทางการค้า เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณจัดแจงผลประโยชน์ทางการค้า ก็เพราะคุณมีวาระ คุณต้องการจะผูกขาดโดยภาครัฐหรือพรรคพวกของภาครัฐ ซึ่งในที่สุดแล้วการค้าจะตาย
ถ้าตอนนี้ไปจนถึงสิ้นปียังไม่มีการยกเลิกระบบจำนำข้าว จะส่งผลกระทบอะไรกับคนไทย ทั้งผู้บริโภคและผู้ส่งออก
รัฐบาลบอกว่าตอนนี้จะระบายข้าว ก็คิดว่าแปลกดี ที่ว่าพอถูกตีหนักๆ เข้าก็ออกมาบอกว่าจะระบายข้าวแล้ว โปร่งใสด้วย พอพูดแบบนี้ออกมาแสดงถึงการไม่เป็นมวยของรัฐบาล เพราะเวลาที่รัฐบาลพูดว่าจะระบาย 10 ล้านตัน มันก็คือการส่งสัญญาณไปทั่วโลก จากนั้นทั่วโลกก็จะคอยจับตาว่าเมื่อไหร่ไทยจะระบาย พอตอนแรกเขาจะซื้อเขาก็จะหยุดก่อน เพราะว่าพอระบายแล้วราคาก็จะตกลงมา ในเวลาเดียวกันพอพูดว่าจะระบาย นอกจากนั้นราคาในตลาดโลกก็จะตกไปอีกด้วย เนื่องจากประเทศอื่นก็จะเอาราคาให้ลงเหมือนกัน ในความเป็นจริงเราเคยพูดหลายครั้งว่าจะทำอะไรมาปรึกษาได้นะยินดีเสมอ ซึ่งเขาก็ไม่เชื่อเราอยู่แล้ว แถมยังเห็นเราเป็นศัตรู แต่ในเวลาต่อมาสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือไปทำอะไรให้เสียรังวัด ซึ่งในความเป็นจริงอยากจะระบายก็ระบายไปเลย อย่าไปทำอะไรลับๆ เราเคยพูดไปวันแรกๆว่า เราต้องระบายข้าวนะ ไม่งั้นมันจะอั้น ยิ่งตอนสิ้นปี อีกทั้งขณะนี้ข้าวเปลือกเข้ามาในโครงการ 16 ล้านตัน ส่วนข้าวสารก็เกิน 10 ล้านตัวแล้ว เกินยอดส่งออกในแต่ละปีของเรา เวลานี้ต่อให้รัฐบาลบอกว่ามีจีทูจีมา 1ล้านตัน ตนมองว่ามันจิ๊บจ๊อยเกินไป มันไม่ได้มีความหมายอะไร
แล้วถ้ารัฐบาลยังคงยืนยันที่จะใช้นโยบายรับจำนำข้าวต่อไป ทางด้านผู้ส่งออกข้าวจะแก้ปัญหาอย่างไร
คิดว่าไม่มีทางแก้ปัญหาได้หรอก เพราะข้าวมันถูกกวาดไปอยู่ในมือรัฐบาลหมด ผู้ส่งออกไม่มีข้าวขาย เราจะทำยังไงก็ต้องไปไปทำอาชีพอื่น แล้วเรายังถูกบีบคอให้ส่งออกข้าวในราคาที่รัฐบาลกำหนด มันก็สู้กับประเทศอื่นไม่ได้ รัฐบาลก็กำหนดว่าให้คุณขายราคานี้ คุณทำได้ก็ทำ คุณทำไม่ได้ก็ช่างคุณ แต่ถามว่าเมื่อเจอสถานการณ์อย่างนี้การส่งออกข้าวจะเหือดหายไปหมดเหลือศูนย์ไหม มันก็ไม่หรอก คือปัจจุบันยอดส่งออกมันตกลงมาถึง 45% ส่วนอีก 65% เราก็ยังส่งออกได้อยู่ ซึ่งข้าวก็มีหลายชนิด ตัวที่เป็นจุดแข็งก็คือข้าวหอมมะลิซึ่งคุณภาพสูง คู่แข่งยังตามไม่ทัน ก็ยังขายได้ เป็นตลาดพรีเมียม นอกจากนั้นก็ยังมีข้าวนึ่งซึ่งประเทศเพื่อนบ้านยังพัฒนาการผลิตสู้เราไม่ได้ เราก็ยังส่งออกได้อยู่ ส่วนข้าวที่หายไปจากตลาดส่งออกก็คือประเภทข้าวขาว 5% ข้าวขาว 10% ซึ่งขายในตลาดระดับกลางถึงระดับล่าง
แล้วการที่ไทยผลิตข้าวได้มากกว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศ มีผลดี ผลเสียอย่างไร
คีย์ตรงนี้แหล่ะที่พยายามอธิบายให้ทุกคนฟังว่าการที่เราผลิตข้าวมากกว่าความต้องการในประเทศมันเป็นภาระ ประเด็นนี้สำคัญที่สุด เราไม่ควรส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวมากเกินไป จริงๆ แล้วควรลดการผลิตลงครึ่งหนึ่งข้าวที่ผลิตมาบริโภคภายในประเทศก็หมดแล้ว เพื่อให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น โดยที่รัฐบาลก็ไม่ต้องเอาเงินรับซื้อข้าวจากชาวนาเพื่อพยุงราคา อย่างที่เกาหลีราคาข้าวสูงกว่าเมืองไทย เพราะเขาไม่มีข้าวเหลือส่งออก แต่ถ้าเราผลิตข้าวเหลือเยอะๆ แล้วนำไปส่งออก มันจะไม่สามารถดึงราคาข้าวให้สูงขึ้นได้เลย ราคาข้าวจะสูงขึ้นก็ต่อเมื่อประเทศผู้ผลิตข้าวรายอื่นๆ เขาเกิดภัยพิบัติไม่สามารถผลิตข้าวได้ ส่งผลให้ราคาในตลาดลกสูงขึ้น ซึ่งตรงนี้มันเป็นปัจจัยควบคุมไม่ได้
จริงๆ แล้วชาวนา โดยเฉพาะในภาคอีสานเนี่ยเขาปลูกข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ปลูกไว้กิน เหลือก็ขาย ไม่มีรถยนต์เขาก็ไม่อดตายเพราะเขามีข้าวกิน โครงการรับจำนำข้าวเนี่ยมันเท่ากับส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวมากขึ้นเพราะเขาเอาไปขายแล้วได้ราคาดีเขาก็ยิ่งปลูก ซึ่งโครงการนี้เกษตรกรที่ได้ประโยชน์คือชาวนารายใหญ่ เพราะเขามีที่ดินในการปลูกข้าวเยอะ แต่ชาวนารายย่อยที่มีพื้นที่ปลูกข้าวน้อยเนี่ยต่อให้เขาเข้าโครงการรับจำนำได้ เขาก็ยังจนอยู่ เพราะเขามีที่ดินและปัจจัยในการผลิตจำกัด ดังนั้นถ้ารัฐบาลอยากจะช่วยเหลือชาวนาก็ควรจะช่วยโดยวิธีอื่น เช่น สนับสนุนให้ต้นทุนการผลิตลดลง เช่น แจกปุ๋ย แจกเมล็ดพันธุ์ จัดการศึกษาให้ฟรีทั้งหมด มีโรงพยาบาลใกล้บ้าน ไม่ใช่ส่งเสริมให้ปลูกข้าวเยอะๆ ขายได้เยอะ แต่ขายได้ราคาถูก อย่างนี้ยิ่งทำนาก็ยิ่งเป็นหนี้
หมายเหตุ : 'ASTVผู้จัดการสุดสัปดห์ ' มีแฟนเพจแล้วนะครับ ขอเชิญผู้อ่านร่วมพูดคุยและแสดงความคิดเห็นกันได้ที่ http://www.facebook.com/#!/Astvmanagerweekend