xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์ร่วมวงถกลิขสิทธิ์จอดำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พาณิชย์เดินหน้าแก้ปัญหาจอดำ เตรียมนัดหารือทำความเข้าใจผู้ประกอบการ 30 ก.ค.นี้ ถ่ายทอดสดกีฬาอย่างไรไม่ให้ละเมิด หลังแนวโน้มปัญหาเพียบ หลังหลายแห่งเป็นเจ้าของสิทธิ์ถ่ายทอดสด พร้อมค้าน กสทช. ออกระเบียบบังคับผู้ให้บริการฟรีทีวีห้ามจอดำส่อขัดกฎหมายลิขสิทธิ์

นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า วันที่ 30 ก.ค.นี้ กรมฯ เตรียมจัดงานระดมสมองร่วมกับผู้ประกอบการที่ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาจากต่างประเทศ และผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปถ่ายทอดต่อ  เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ และปัญหาจอดำเหมือนที่ผ่านๆ เพราะแนวโน้มผู้ประกอบการในไทยเริ่มมีการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และมีผู้ประกอบการหลายราย โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งพรีเมียร์ลีก บุนเดสลีกา ลาลีกา แชมป์เปี้ยนชิพ ยูฟ่า แชมป์เปี้ยนลีก เจลีก ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก ฟุตบอลโลก 2014 และฟุตบอลยูโร เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมฯ ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาทั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ และปัญหาจอดำเหมือนกับที่ผ่านๆ มา จึงต้องเป็นคนกลางทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน และทำให้สังคมเข้าใจ เพราะประเทศอื่นๆ เขายอมรับในเรื่องนี้มานานแล้วว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ต้องมีสิทธิ์ ของไทยเมื่อใครซื้อลิขสิทธิ์มา ก็ต้องถือว่ามีสิทธิ์ ผู้ที่จะเอางานลิขสิทธิ์ไปใช้

จำเป็นต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ และแก้ปัญหาไม่ให้เกิดจอดำจนกระทบกับผู้บริโภค

นางปัจฉิมากล่าวว่า สำหรับกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังจะออกหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) โดยกำหนดให้รายการต่างๆ ที่แพร่ภาพทางฟรีทีวีต้องออกอากาศให้คนไทยได้รับชมได้ทุกช่องทางไม่ว่าจะรับชมผ่านเสาอากาศ หนวดกุ้ง ดาวเทียม เพย์ทีวีนั้น กรมฯ เห็นว่า เป็นการออกระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ให้สิทธิ์กับผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และหากระเบียบมีผลบังคับใช้อาจจะเกิดปัญหาตามมาอีกมาก เพราะถือเป็นการริดรอนสิทธิ์ของผู้มีลิขสิทธิ์

“กรมฯ ไม่เห็นด้วยถ้าจะออกประกาศใดๆ ก็ตาม ที่เป็นการลิดรอนสิทธิ์ของผู้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง เพราะถ้าทำแบบนี้ เรื่องลิขสิทธิ์ก็ไม่ต้องคำนึงถึงกัน มันไม่ถูกต้อง กรมฯ เห็นว่า ใครที่มีลิขสิทธิ์ก็สามารถดำเนินการใดๆ กับสิทธิ์ที่ตัวเองมีอยู่ได้ ผู้ที่ต้องการขอใช้งานลิขสิทธิ์ก็ต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง เป็นกติกาที่ทั่วโลกเขาใช้กัน อีกทั้งที่ผ่านมา เคยมีหน่วยงานอื่นออกกฎระเบียบที่ขัดกับกฎหมายลิขสิทธิ์ กฤษฎีกาก็ตีความออกมาแล้วให้ยึดกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นหลัก”นางปัจฉิมากล่าว

อย่างไรก็ตาม หากถามว่า การคัดค้านดังกล่าวกรมฯ ไม่มองถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคนั้น ไม่เป็นความจริง กรมฯ คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ผู้ที่ต้องการนำงานลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ก็ต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง เป็นเรื่องระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์กับผู้ขอใช้สิทธิ์ ที่ต้องทำให้ถูกต้อง ส่วนตัวผู้บริโภคไม่ว่าจะดูทีวีช่องทางไหน ก็ต้องได้รับสิทธิ์ในการดูอยู่แล้ว หากมีปัญหาก็ต้องไปว่ากันกับผู้ที่ให้บริการ ยิ่งเป็นเพย์ทีวี ผู้บริโภคก็ต้องร้องเรียนไป

นอกจากนี้ การเตรียมออกระเบียบของ กสทช. เริ่มมีประเทศคู่ค้าของไทยเข้ามาหารือกับกรมฯ แล้ว โดยแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการริดรอนสิทธิในลิขสิทธิ์ และหากไทยดำเนินการเช่นนี้จริง ก็จะพิจารณาในการกำหนดมาตรการตอบโต้ไทยต่อไป เพราะถือเป็นการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ถูกต้อง
.
กำลังโหลดความคิดเห็น