xs
xsm
sm
md
lg

ทีโอทีเล็งไม่คืนความถี่ 2.3 GHz

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ทีโอทีเตรียมส่งหนังสือถึงกสทช. ชี้แจงเหตุผลไม่คืนความถี่ 2.3 GHz จำนวน 34 MHz ตามที่เคยเจรจากันไว้ เพราะต้องการนำไปให้บริการฟิกซ์ โมบาย บรอดแบนด์ เสริมศักยภาพ 3G เฟส 2 ที่กำลังดำเนินการในขณะนี้

นายพันธ์เทพ จำรัสโรมรัน ประธานบอร์ดบริษัท ทีโอที กล่าวว่า ทีโอที กำลังดำเนินการยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อชี้แจงเหตุผลกรณีไม่สามารถส่งคืนความถี่ย่าน 2.3 GHz ที่ทีโอที ถือครองอยู่จำนวน 64 MHz เนื่องจากทีโอทีต้องการนำความถี่ดังกล่าวไปขยายการให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ 3G ในเฟส 2 ที่ทีโอที กำลังจะขยายโครงข่ายการให้บริการ รวมถึงการทำธุรกิจการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ฟิกซ์ โมบาย บรอดแบนด์) เพื่อเป็นการพัฒนาการให้บริการใหม่ๆบนเทคโนโลยี LTE หรือ 4G

ทั้งนี้ทีโอทีกำลังให้ฝ่ายเทคนิคสรุปว่าทีโอที จำเป็นต้องใช้ความถี่ 2.3 GHz จำนวนทั้งหมดเท่าไหร่ สำหรับการขยายการให้บริการ3G ในเฟส2 เนื่องจากทีโอทีมีเป้าหมายให้บริการโมบายบรอดแบนด์ และการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรถึงบ้าน แทนการลงทุนโครงการโครงข่ายอัจฉริยะเพื่ออนาคต หรือ NGN

‘ก่อนหน้านี้ทีโอทียังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เทคโนโลยีอะไร แต่เฟส 2 ของบริการ 3G ที่กำลังจะขยายโครงข่าย ไม่ได้ใช้แค่ความถี่ 1.9 GHz - 2.1 GHz แต่เราต้องการใช้ความถี่ 2.3 GHz ที่จะใช้ LTE มาให้บริการข้อมูลความเร็วสูงมาให้บริการควบคู่กันไปด้วย เพราะหากใช้ความถี่แค่ย่าน 1.9 GHz - 2.1 GHz ใช้ทั้งวอยซ ์และดาต้า ไม่เพียงพอต่อการให้บริการอย่างแน่นอน’

นายพันธ์เทพกล่าวว่าที่ผ่านมาทีโอทีเข้าใจตามเวนเดอร์มาโดยตลอดว่า หากคืนความถี่ 2.3 GHz จำนวนหนึ่งที่เหลือก็สามารถให้บริการได้อย่างเพียงพอ แต่หลังการเป็นพันธมิตรกับซอฟต์แบงก์ ทำให้ทีโอทีหูตาสว่างมากขึ้น และเห็นว่าความถี่ 2.3 GHz ที่มีอยู่จำเป็นต้องนำมาใช้เสริมกับโครงข่าย 3G เพื่อให้บริการฟิกซ์ โมบาย บรอดแบนด์ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของทีโอทีอย่างเดียว แต่เพื่อประโยชน์ประเทศชาติตามนโยบายสมาร์ทไทยแลนด์ของรมว.ไอซีทีด้วย

แหล่งข่าวจากทีโอที กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการประชุมของคณะกรรมการร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ กสทช.เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และเรียกคืนความถี่มาจัดสรรใหม่ (รีฟาร์มมิ่ง) ซึ่งก็ได้มีการหารือเบื้องต้นว่าทีโอทีจะเสนอคืนความถี่ 2.3 GHz จำนวน 34 MHz จากที่ถือครองอยู่ทั้งหมด 64 MHz เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่กสทช.ออกใบอนุญาตให้บริการใหม่เชิงพาณิชย์ หรือ ไลเซ่นส์บนเทคโนโลยี LTE (การให้บริการบรอดแบนด์ หรือไว-แม็กซ์ หรือ 4G) ซึ่งกสทช.ต้องการจะเรียกคืนความถี่จากทีโอทีให้ได้ 40 MHz เพื่อนำมาเปิดประมูลไลเซ่นส์ให้บริการ 4G จำนวน 2 ใบ

แหล่งข่าวจากกสทช.กล่าวว่าหาก กสทช. สามารถเรียกคืนความถี่ย่าน 2.3 GHz จากทีโอทีได้ ก็จะต้องนำมาจัดสรรช่วงความถี่ใหม่ เนื่องจากแถบความถี่ย่าน 1800 MHz ของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) มีความถี่บางส่วนที่ติดกับแถบความถี่ของบริษัท ทรูมูฟ และบริษัท ดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) ที่ใช้งานอยู่ ซึ่งกำลังจะหมดอายุสัมปทานในเดือนก.ย.2556 ซึ่งความถี่ทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว มีแถบความถี่ที่แคบเพียง 12.5 MHz จึงไม่เพียงพอจะนำไปให้บริการ 4G เนื่องจากมีคลื่นที่ดีแทคใช้งานอยู่คั่นกลาง

ขณะเดียวกันการเรียกคืนความถี่ของกสทช.นั้น ท้ายที่สุดแล้วต้องกลับไปดูว่าสิทธิความเป็นเจ้าของที่ทีโอทีได้รับจากกรมไปรษณีโทรเลขเดิม ซึ่งระบุไว้ว่ามีสิทธิในการให้บริการสาธารณะเท่านั้นไม่มีสิทธิเอาไปทำอย่างอื่น แต่สามารถที่จะเปลี่ยนเทคโนโลยีได้ แต่เปลี่ยนวัตถุประสงค์ที่ได้สิทธิเดิมไม่ได้ จะทำให้ทีโอทีสามารถนำความถี่ 2.3 GHz ไปให้บริการเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่

ขณะที่ใบอนุญาตใช้ความถี่ย่าน 2.3 GHz ของทีโอทีมีสิทธิใช้อีก 15 ปี กสทช.จึงไม่มีอำนาจไปทวงคืนได้ในตอนนี้ โดยต้องให้ทีโอทียินดีคืนให้เอง ขณะเดียวกันทีโอทีก็ไม่สามารถนำความถี่ดังกล่าวไปพัฒนาหรือต่อยอดอะไรได้ เนื่องจากใบอนุญาตถูกกำหนดให้ใช้เฉพาะโทรศัพท์สาธารณะ (TDMA) เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น