xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.-ส.ว.ร่วมแก้รธน. ตีมึนไม่รับคำสั่งศาลฯ ขยายเวลาชี้แจง30วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (11 ก.ค.) พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นเสน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการหารือร่วมกับสมาชิกรัฐสภา ที่ถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ให้ส่งคำชี้แจง กรณีพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นคำร้องให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง เนื่องจากได้ลงมติสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระแรก และวาระที่สอง ว่า ที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการ มีความเห็นตรงกันว่า จะไม่รับฟังคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว และได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และฝ่ายกฎหมายสภาฯ ดำเนินการส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญแทน เนื่องจากการร่วมสนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นการใช้สิทธิ์ให้ความเห็น ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และที่สำคัญรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า การใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญนั้น ฝ่ายใดจะมาครอบงำไม่ได้
" การออกคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาทั้ง 416 คน เห็นว่าจะไม่รับอำนาจศาล ส่วนหนึ่งจะไม่ส่งคำชี้แจงตามที่ศาลสั่ง ส่วนบุคคลอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ จะส่งคำชี้แจงไปก็ได้ เป็นสิทธิส่วนตัว" พล.ต.อ.วิรุฬ กล่าว
ด้านน.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงด้วยว่า ข้อหาล้มล้างการปกครอง ถือเป็นข้อหาใหญ่ โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ระบุชัดเจนว่า ผู้ร้องต้องยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาก่อน ไม่ใช้ให้อำนาจศาลข้ามไปรับเรื่องได้โดยตรง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ที่ประเทศอียิปต์ ได้เกิดเหตุการไม่สงบเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำผิดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม ทำให้ประชาชนทั่วไป และทั่วโลกเข้าใจในหลักดังกล่าวเป็นอย่างดี ประเทศไทยใช้การปกครองในแบบรัฐเดี่ยว ดังนั้นศาลจะเข้ามามีอำนาจเหนือสภานิติบัญญัติ เหมือนเช่นการปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐไม่ได้ โดยตนขอย้ำว่า ศาลรัฐธรรมนูญภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐเดียว จะใช้พฤติกรรมของศาลในรูปแบบของสาธารณรัฐ เขามามีอำนาจเหนือรัฐสภา ไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงแรกในการประชุมดังกล่าว นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ตนได้ประสานกับส.ว. ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. ซึ่งตนได้รับบัญชา จากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ให้เรียก ส.ส. และส.ว. ซึ่งถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง มาหารือร่วมกัน เพื่อชี้แจงให้ทราบถึงสิทธิ และหน้าที่ของ ส.ส.และส.ว. โดยที่มาขอเรื่องดังกล่าว ศาลได้ส่งคำร้อง มาถึงสภาฯ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. โดยใช้สำนักงานของสภาฯเป็นภูมิลำเนาของ ส.ส.และส.ว.ทุกคน ซึ่งตามกฎหมายต้องยื่นคำแก้คดี ให้กับศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันรับหนังสือ ในเรื่องดังกล่าวจึงจำเป็นเร่งด่วน เบื้องต้นตนขอหารือว่า ส.ว. และส.ส. จะใช้คำชี้แจงเป็นชุดเดียวกันหรือไม่ และอยู่ที่ตัว ส.ส. และส.ว. ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ว่าจะให้ผู้ใดทำคำชี้แจง ส่วนประเด็นที่ชี้แจงจะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากต้องชี้แจงใน 2 เรื่อง คือ การลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการร่วมสนับสนุน ซึ่งต่างจากตน คือ ร่วมสนับสนุน
นายเจริญ กล่าวว่าได้อาศัยอำนาจของประธานรัฐสภา แต่งตั้งให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา เป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ โดยเบื้องต้นจะทำหนังสือไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขอขยายเวลาชี้แจงเป็น 30 วัน เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาบางคนไปราชการต่างประเทศ จึงยังไมได้รับจดหมาย ซึ่งถ้าสมาชิกรัฐสภาคนใดมีความประสงค์จะให้ฝ่ายกฏหมายดำเนินการยื่นคำร้องแทน ก็ให้มาลงชื่อมอบอำนาจ ส่วนของสมาชิกบางคนที่จะไม่ชี้แจงต่อศาล เพราะเห็นว่าศาลไม่มีสิทธิ์ก็สามารถกระทำได้ เป็นเรื่องความคิดเห็นส่วนตัว
ทั้งนี้ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในประเด็นการเอาผิดทางกฎหมายกับศาลรัฐธรรมนูญ หรือพล.ต.จำลอง นั้น เบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดจำนวนมาก ทั้งนี้อาจจะมีการนัดหารือกันภายหลังอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น