xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจเพิกถอนหมายจับ

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในชีวิตและร่างกาย โดยหากมีการกระทำใดซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ผู้เสียหาย พนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้

แต่ในบางกรณีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม อาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ เช่น การจับตัวผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมาเพื่อดำเนินคดี หรือการคุมขังระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี การดำเนินการดังกล่าวจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง ให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิให้น้อยที่สุดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงได้มีบทบัญญัติคุ้มครองไว้ในมาตรา 32 วรรคสาม โดยกำหนดให้ “การจับและการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ”

จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าการออกหมายจับหรือหมายขังต้องกระทำโดยศาล และมีผลเป็นการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ามีเหตุผลอันสมควรที่จะจับกุมหรือกักขังบุคคลใดหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องของการออกหมายจับซึ่งศาลจะออกหมายจับตามที่ศาลเห็นสมควร หรือโดยมีผู้ร้องขอก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล แต่ต้องปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่ามีเหตุที่จะออกหมายจับ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 ใน 2 กรณีดังต่อไปนี้

1.เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ

2.เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

อย่างไรก็ดี ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร กฎหมายให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี

เมื่อมีการออกหมายจับแล้วหมายจับนั้นใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร และคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายดังกล่าวขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน ดังนั้น หมายจับของศาลย่อมสิ้นผลไป ในกรณีที่จับบุคคลตามหมายจับได้แล้วไม่ว่าบุคคลนั้นจะเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเอง หรือถูกจับและได้รับการประกันตัวไปแล้วก็ตาม ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2060/2521 ซึ่งวินิจฉัยว่าเมื่อผู้เสียหายได้รับประกันตัวแล้ว เหตุที่จะจับผู้เสียหายตามหมายจับของศาลก็เป็นอันหมดไป เจ้าพนักงานตำรวจไม่มีเหตุจับผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมายอีกต่อไป

นอกจากนี้ หมายจับอาจสิ้นผลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่าได้มีการออกหมายไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ศาลอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเช่นว่านั้นได้ ทั้งนี้ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอจัดการแก้ไขเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควรก็ได้ ซึ่งในกรณีนี้มีคำพิพากษาที่ศาลจังหวัดอยุธยาได้อ่านเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 คือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2555

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ต้องหายื่นคำร้องว่า การที่ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ต้องหามิได้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 (2) ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์ในอันที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพราะผู้ต้องหาเป็นข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งในระดับสูง จึงไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ขอให้เพิกถอนหมายจับผู้ต้องหาและระงับการดำเนินการตามหมายจับไว้ชั่วคราว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า ศาลใช้ดุลพินิจในการออกหมายจับตามอำนาจหน้าที่และพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหมายจับและระงับการดำเนินการตามหมายจับ

ผู้ต้องหาอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับผู้ต้องหาของศาลชั้นต้น

ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ต้องหาและยกคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยให้เหตุผลที่เกี่ยวกับการออกหมายจับและการขอเพิกถอนหมายจับไว้ว่า พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 บัญญัติให้อำนาจผู้พิพากษาคนหนึ่งในการออกหมายเรียก หมายอาญา และในการออกหมายอาญาประเภทหมายจับนั้น จะต้องปรากฏเหตุตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66

ดังนั้น การออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น เพื่อให้การสอบสวนผู้ต้องหาดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม โดยไม่มีปัญหาติดขัด ล่าช้าหรือมีอุปสรรคในการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 โดยที่ขณะนั้นยังไม่เป็นการฟ้องคดีมาสู่การพิจารณาของศาล แต่เป็นอำนาจพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนได้จึงไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ เพราะจะทำให้การดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมประสบอุปสรรคและเกิดความล่าช้า

นอกจากนี้ศาลฎีกายังได้นำมาตรา 59 วรรคสี่ที่ให้อำนาจศาลเพิกถอนหมายจับได้มาวินิจฉัย โดยเห็นว่าบทบัญญัติของมาตรานี้ก็ได้ระบุวิธีการให้ศาลชั้นต้นซึ่งออกหมายจับมีอำนาจโดยตรงในการแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากการออกหมายจับผู้ต้องหาโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นการเฉพาะแล้ว ทั้งมิได้ระบุให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาในการยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นแต่อย่างใด แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์จะให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นการขอออกหมายจับ การขอเพิกถอนหมายจับ ตลอดจนการแก้ไขเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องยุติไปในระดับศาลชั้นต้นเท่านั้น

จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว จะเห็นได้ว่ากระบวนการออกหมายจับไปจนถึงการเพิกถอนหมายจับเป็นการใช้ดุลพินิจของศาลภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ และเป็นอำนาจเฉพาะในแต่ละชั้นศาลเท่านั้น ไม่ได้ให้สิทธิคู่ความที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำสั่งไปยังศาลสูงอีก ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม ไม่มีปัญหาติดขัด ล่าช้าหรือมีอุปสรรคในการดำเนินงานนั่นเอง

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น