xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนพยุงหุ้น ‘ความคิดที่ไม่ตรงทางอีกแล้ว’

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์

สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์
https://www.facebook.com/suthipong.prachayapruit
http://twitter.com/indexthai2

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ ในงาน EU money Conferrences : Greater Mekong invesment Forum ถึงกรณีคณะรัฐมนตรีมีแนวคิดการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นว่า ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะจัดตั้งกองทุนดังกล่าว แต่ว่า หากตลาดหุ้นปรับลดลงรุนแรง ก็สามารถจัดตั้งกองทุนได้ทันที ช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545-2546 เคยจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นมาแล้ว ในวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท แม้จะเป็นเงินไม่มาก ก็ทำให้ตลาดหุ้นมีเสถียรภาพ


คนไทยลืมง่าย ที่จริงประเทศไทยได้เคยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จะต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มาแล้วถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก หลังการพังทลายของตลาดหุ้นปี 2521 (1987) หลังเปิดตลาดหุ้นได้ 4 ปี ค่าเงินบาทเสียหาย ต้องประกาศลดค่าเงินบาทหลายครั้ง (-27%) สภาพคล่องของระบบเสียหาย เศรษฐกิจล้มลงทั้งระบบต้องเข้าควบกิจการไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์ 25 แห่ง ที่รู้จักกันในชื่อโครงการ 4 เมษายน 2527 เกิดหนี้เสียจำนวนหนึ่ง ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นครั้งแรก ใช้เงิน IMF 982 ล้านเหรียญสหรัฐ และก็เป็นที่มาของการตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

ครั้งที่ 2 หลังการพังทลายของตลาดหุ้นปี 2537 (1994) หลังจากที่ได้มีการนำระบบ Maintenance margin & Forced sell มาใช้ในตลาดหุ้นในปี 2536 (1993) ทำให้มีการบังคับขายหุ้นนักลงทุนท้องถิ่นอย่างบ้าคลั่ง ส่งผลให้ตลาดหุ้นพังทลายลงอย่างรุนแรง ค่าเงินบาทเสียหายหนักกว่าเดิม ครั้งนี้ต้องประกาศลอยค่าเงินบาท (-55%) สภาพคล่องเสียหายรุนแรง ต้องสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินถึง 56 แห่ง ในโครงการ 14 สิงหาคม 2541 ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศเป็นครั้งที่ 2 ใช้เงิน IMF 12,296 ล้านเหรียญสหรัฐ เศรษฐกิจล้มลงทั้งระบบ เกิดหนี้เสียก้อนโตไว้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟู 1.4 ล้านล้านบาท


วิกฤตที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย 2 ครั้ง ไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกแต่อย่างใด แต่เกิดจากปัจจัยภายในของประเทศเราเอง วิกฤตยุโรปก็จะไม่เป็นต้นเหตุของความเสียหายของประเทศไทยแต่อย่างใด เป็นการแอบอ้างแบบส่งเดช

ไม่แก้ที่ต้นเหตุวิกฤตของประเทศ แต่คิดแก้ปัญหาที่ปลายเหตุตลอดเวลา แล้วก็ชอบตั้งกองทุนต่างๆ มากมาย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก กองทุนพัฒนาประเทศ กองทุนป้องกันน้ำท่วม และล่าสุดกองทุนพยุงหุ้น

หนี้สาธารณะจะขึ้นถึง 5 ล้านล้านบาทแล้ว ไม่คิดแก้ไข แต่คิดจะตั้งกองทุนกันอย่างเดียว

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ข้าราชการบ่นกันมาก คงไปขาดทุนจากการไปลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มต่อข้าราชการเกษียณ

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินของไทย คือตัวอย่างของความล้มเหลวทางวิสัยทัศน์และปรัชญาของการจัดตั้งกองทุน อาจจะรวมถึงความล้มเหลวทางคุณธรรมและจริยธรรมด้วย กองทุนเพื่อการฟื้นฟูใช้หนี้ไป 13 ปีแล้ว ยังคงมีหนี้เหลืออยู่ 1 ล้านล้านบาท ประมาณว่าอีก 40 ปีจึงจะใช้หนี้ก้อนนี้ได้หมด กองทุนเพื่อการฟื้นฟู นอกจากไม่สามารถฟื้นฟูให้สถาบันการเงินเกิดความมั่นคงได้แล้ว ยังทำสถาบันการเงินล้มลงทั้งระบบ และก่อให้เกิดหนี้ก้อนโตประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท

ประเทศไทยไม่เคยจดจำในบทเรียนที่ผ่านมา ยังคงมีการคิดแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากการตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่เลียนแบบคล้ายๆ การจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูในอดีตขึ้นมาอีก

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “ช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545-2546 เคยจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นมาแล้ว ในวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท” ก็ไม่ทราบว่ากองทุนอะไร เท่าที่ทราบก็คือ ปี 2547 มีการใช้ภาษีของประเทศ 100,000 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 1 มาพยุงหุ้น ก็ไม่ใช่ว่าจะประสบผลสำเร็จในการพยุงหุ้น เพียงแต่ยังไม่ถึงคราวเท่านั้น


ทุกวันนี้มูลค่าตลาดหุ้นไทยสูงถึง 10 ล้านล้านบาท จะต้องใช้เงินสักเท่าใดที่จะมาตั้งกองทุนพยุงหุ้น มีประเทศใดบ้าง ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปที่ประสบผลสำเร็จในการตั้งกองทุนมาพยุงตลาดหุ้นได้ ตลาดหุ้นแนสแดกซ์ของสหรัฐฯ พังทลายในปี 2000 ตลาดหุ้นยูโรและยุโรปพังทลายในปี 2008

ประเทศไทยมีตัวอย่างมาแล้วจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรก แต่เพราะการแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาที่ไม่ตรงทาง จึงก่อให้เกิดความเสียหายจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 รุนแรงกว่าการเกิดวิกฤตครั้งแรกอย่างเทียบกันไม่ได้

เมื่อสภาพคล่องของระบบเสียหาย สถาบันการเงินส่วนใหญ่จึงไปขอรับความช่วยเหลือสภาพคล่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟู การที่จะได้สภาพคล่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟู ก็ต้องเอาใบหุ้นไปจำนองกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟู เมื่อมีการล้มละลาย สินทรัพย์ของสถาบันการเงินเหล่านั้นจึงตกเป็นของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู แม้แต่ธนาคารกรุงไทยก็ต้องไปขอสภาพคล่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟู ทำให้หุ้นของธนาคารกรุงไทยตกเป็นของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูกว่า 55 เปอร์เซ็นต์

ยกเว้นธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ คือ ธ.กรุงเทพ ธ.กสิกรไทย ธ.ไทยพาณิชย์ ที่ไม่ได้ไปขอสภาพคล่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟู แต่ไปขอสภาพคล่องจากประเทศสิงคโปร์ ทำให้หุ้นของสถาบันการเงินเอกชนขนาดใหญ่ต้องตกเป็นของประเทศสิงคโปร์แทบหมด เหลือเป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นของคนไทยเพียงน้อยนิด ธ.กรุงเทพเหลือ 10.30 เปอร์เซ็นต์ ธ.กสิกรไทยเหลือ 1.37 เปอร์เซ็นต์ ธ.ไทยพาณิชย์เหลือ 48.43 เปอร์เซ็นต์ ที่พบว่า ธ.ไทยพาณิชย์มีสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ที่เป็นคนไทยสูง เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีการขายอสังหาริมทรัพย์ออก เอาเงินไปไถ่ถอนใบหุ้นมาจากประเทศสิงคโปร์

ถ้าประเทศไทยจะต้องรักษาสินทรัพย์ของชาติไว้ ก็จะทำให้ตัวเลขหนี้สูงขึ้น แต่เนื่องจากไม่มีปัญญาที่จะแบกรับหนี้กองใหญ่ได้ จึงทำให้สินทรัพย์ตกเป็นของต่างชาติ ที่จริง ถ้าธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่งต้องมาเอาสภาพคล่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟู มูลหนี้ที่เกิดขึ้นกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูจะไม่อยู่ที่ระดับ 1.4 ล้านล้านบาทเท่านั้น แต่อาจจะสูงถึง 4.2 ล้านล้านบาท

สมบัติชาติที่ตกเป็นของต่างชาติหลังเข้าโครงการ IMF ในปี 2540 ยังเอากลับคืนไม่ได้ แต่กลับมีการคิดขายสมบัติของประเทศให้ต่างชาติอีก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถูกแปรรูปขายในตลาดหุ้นวันที่ 6 ธันวาคม 2544 บริษัท การท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) ขายวันที่ 13 มีนาคม 2547 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ขายวันที่ 26 ตุลาคม 2547 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ขายวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547 ฯลฯ

24 มกราคม 2549 ขาย 49 เปอร์เซ็นต์ หุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับเทมาเส็ก แห่งสิงคโปร์อีก แล้วก็เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

การเสียกรุง 2 ครั้งที่ผ่านมา ยังรู้ว่าเป็นการเสียกรุง กิเลสส่วนตนของข้าราชการ นักวิชาการระดับสูง นายทุน นักการเมืองของไทย พ.ศ.นี้ ทำให้เกิดการเสียกรุงโดยไม่รู้ว่าเป็นการเสียกรุง ไม่แปลกใจกับข่าว คณะรัฐมนตรีมีแนวคิดการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น ว่างงานกัน ไม่เคยคิดอะไรเกินปลายจมูก ตามน้ำ เห็นการเกิดวิกฤตที่ยุโรป ก็นำเอามาเป็นประเด็น นำมาหาประโยชน์ส่วนตน พร้อมที่จะโยนความผิดให้ทางยุโรป ว่าส่งผลกระทบระบบต่อประเทศไทย ประเทศไทยอย่าไปหวังอะไรกับผู้บริหารประเทศ การแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เป็นไปแบบข้างๆ คูๆ เห็นเป็นการสะสมความเสื่อมมากกว่าความเจริญ ประเทศไทยเคยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้ว 2 ครั้ง ก็แล้วทำไมจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 3 อีกไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น