xs
xsm
sm
md
lg

ทุจริตสอบเข้าตำรวจ : สะท้อนจุดด้อยจริยธรรม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ความอยากมี ความอยากเป็นในบุคคลซึ่งมีศักยภาพในการกระทำเพื่อสนองความอยากต่ำกว่าความต้องการ คือมูลที่แท้จริงของการแสวงหาในทางทุจริต

จริงอยู่ ในโลกของโลกียชนทุกคนล้วนมีความอยากมี และอยากเป็นด้วยกันทุกคน แต่ถ้ามีความอดทน มีความรู้สึกสำนึกอายต่อบาปกรรม และในขณะเดียวกันมีสติคอยกำกับอยู่ทุกขณะ ก็จะเป็นเสมือนเกราะคอยกำบังมิให้กระทำในสิ่งที่เลวร้ายได้ ในทางกลับกัน ถ้ามีความอยากไม่ว่าจะอยากมี หรืออยากเป็น และไม่มีคุณธรรมคอยกำกับ จิตใจของคนก็จะโลดแล่นไปตามกระแสแห่งความยาก และในที่สุดก็แสดงออกมาทางกายและวาจาในรูปแบบที่เรียก กายทุจริต และวจีทุจริตได้

วันนี้ และเวลานี้ผู้คนในสังคมไทยมีอยู่ไม่น้อยที่ไม่มีศักยภาพในการบริหารจัดการกิเลสของตนเองให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม และจริยธรรม และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการทุจริตคดโกงในรูปแบบต่างๆ

การทุจริตในการสอบเข้าเป็นนายสิบตำรวจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคือหนึ่งตัวอย่างของคนที่ไม่มีศักยภาพในการบริหารจัดการกิเลสแห่งตนให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมได้ และตกเป็นทาสแห่งความอยากถึงขั้นทำการทุจริตในการสอบเข้าเป็นตำรวจ และถูกจับได้นับร้อยราย มีทั้งสอบแทนกัน และการนำเครื่องมือสื่อสารเข้าห้องสอบและรับส่งสัญญาณบอกคำตอบข้อสอบ โดยทำกันเป็นขบวนการ และมีการเรียกรับเงินเป็นเรือนแสนต่อราย

อะไรทำให้มีผู้ยอมจ่ายเงินเป็นเรือนแสนเพื่อแลกกับการเข้าไปเป็นตำรวจ และได้รับเงินเดือนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนที่ต้องจ่ายไปจึงไม่น่าจะคุ้มค่า

เกี่ยวกับเรื่องนี้หาคำตอบได้ไม่ยาก ถ้าลองย้อนไปดูภาวะแวดล้อมทางสังคมของสังคมไทยวันนี้ก็จะพบว่าน่าจะมีมูลเหตุมาจากปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. จากจำนวนของผู้สมัครที่มีจำนวนนับแสน จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นในระดับการศึกษาปริญญาตรีลงมา ดังนั้นเมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดรับสมัครจึงมีผู้มาสมัครเป็นจำนวนมาก และจากจำนวนที่มากกว่าตำแหน่งค่อนข้างมากนี้เอง จึงทำให้ผู้เข้าแข่งยอมจ่ายเงินเพื่อแลกกับการสอบได้

2. ถึงแม้ว่าเงินเดือนระดับสิบตำรวจตรี มิได้มากมายเมื่อเทียบกับตำแหน่งอื่นในส่วนราชการด้วยกัน แต่การเป็นตำรวจในเมืองไทยมีช่องทางแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยการเป็นผู้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมีอยู่ดาษดื่น และมองเห็นเป็นรูปธรรมว่าคุ้มค่าแน่ถ้าได้เป็น นี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จูงใจให้คนยอมจ่ายเงินเพื่อการสอบได้ และเป็นเหตุแห่งการทุจริต

3. ในการจัดการศึกษาของไทย ปัจจุบันมุ่งเน้นให้มีการแข่งขันทางด้านวิชาการโดยไม่สนใจหรือสนใจน้อยลงในการปลูกฝังคุณธรรมให้แก่ผู้ศึกษาเล่าเรียน ดังนั้นเมื่อแข่งขันโดยอาศัยความสามารถของตนเองเพียงลำพังไม่ได้ ผู้ที่เติบโตมาในยุคที่การศึกษามุ่งเน้นวัตถุมากกว่าการปลูกฝังในด้านจิตใจก็จะต้องหาตัวช่วย และตัวช่วยที่ว่านี้ก็ไม่มีอะไรมีพลังในการดลบันดาลให้เกิดความสำเร็จได้เท่ากับเงิน จึงลงเอยด้วยการทุจริตโดยใช้เงินเป็นเครื่องมือ

จากปัจจัยในเชิงตรรกะ 3 ประการที่ว่ามานี้ น่าจะเป็นมูลเหตุจูงใจให้คนไทยทุจริตในทุกโอกาสที่สามารถกระทำได้ ดังนั้น การทุจริตคงมิได้เกิดขึ้นในการสอบเข้าเป็นตำรวจเท่านั้น เชื่อว่าเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการสอบในตำแหน่งงาน หรือแม้กระทั่งในการสอบเพื่อเข้าศึกษาในคณะที่มองเห็นว่าจบแล้วมีโอกาสแสวงหาความร่ำรวยได้

ด้วยเหตุนี้ น่าจะถึงเวลาแล้วที่ทางฝ่ายรัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และศาสนาจะต้องจับมือกันเพื่อหาวิธีสร้างคนให้มีคุณภาพ และคุณธรรมเพื่อออกมารับใช้สังคมโดยรวมให้มากขึ้นโดยเร็ว และเพียงพอแก่ความต้องการ อย่าปล่อยไว้ให้ถึงจุดที่สังคมล่มสลายเพราะสังคมเต็มไปด้วยคนโกง คนเลว และคนเห็นแก่ตัว เพราะถ้ามันมาถึงสังคมไทยก็ไม่ต่างอะไรจากนรกในโลกมนุษย์ ตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า คนที่เกิดมามีรูปร่างเป็นคน แต่จิตใจไม่มีคุณธรรม ก็ไม่ต่างอะไรจากสัตว์ และนอกจากนี้พระพุทธองค์ยังตรัสเรียกคนที่มีภาวะจิตใจเยี่ยงนี้ว่า มนุสฺสติรจฺฉาโน หรือมนุษย์เดรัจฉาน คือร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจเหมือนสัตว์ไม่พัฒนาใดๆ ให้ก้าวไกลกว่าสัตว์

ส่วนประเด็นที่ว่าจะแก้ปัญหาการโกงอย่างไรนั้น ก็คงจะต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน เริ่มด้วยการควบคุมการออกข้อสอบ และจับตาดูสถานประกอบการแนะแนว หรือกวดวิชาเพื่อการเข้าสอบในตำแหน่งนั้นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการซื้อข้อสอบ และนำไปทำมาหากิน เข้าข่ายโกงร่วมกันระหว่างผู้ออกข้อสอบกับสถาบันกวดวิชา จะต้องดำเนินการลงโทษทั้งคู่

อีกประการหนึ่ง จะต้องจัดรูปแบบการศึกษาเสียใหม่ โดยคำนึงถึงการจบออกมาแล้วจะต้องสอดคล้องกับตลาดแรงงานเป็นสำคัญ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาว่างงานมาก และผู้ว่างงานเหล่านี้จะตกเป็นเหยื่อของขบวนการต้มตุ๋นหลอกลวง รวมไปถึงการติดต่อวิ่งเต้นเพื่อหางานให้แล้วเรียกรับผลประโยชน์ในจำนวนมากๆ

จากผลของการสำรวจในปัจจุบันพบว่า จบปริญญาตรีลงมามีอัตราว่างงานเป็น 2 เท่าของผู้ที่จบ กล่าวคือ จบออกมาแล้วได้งานน้อยกว่าคนว่างงานถึงสองเท่า อันเป็นการบ่งบอกชัดเจนว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการเปิดรับสมัครในตำแหน่งที่ผู้ว่างงานเหล่านี้มีสิทธิเข้าสอบ เมื่อนั้นโอกาสของขบวนการแสวงหาประโยชน์ด้วยการรับจ้างโกงการสอบก็มาถึง และผู้ที่ว่างงานไม่ว่าจะมีฐานะการเงินดีหรือไม่ดี ก็จะต้องวิ่งเต้นหาเงินมาจ่ายขบวนการที่ว่านี้เพื่อแลกกับการได้งาน

โชคดีที่การสอบเข้าตำรวจในครั้งนี้ ทางผู้ควบคุมการสอบได้ดำเนินการรัดกุมจนสามารถจับคนโกงได้ และโชคดีไปกว่านี้เมื่อทาง สตช.ประกาศยกเลิกการสอบอันเป็นการตัดหนทางทำมาหากินของคนโกงได้ระดับหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น