xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.เสาหลักของบ้านเมือง ผลงาน10เป็นเครื่องพิสูจน์ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 14 มิ.ย.) นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายพิเศษในหัวข้อ "ศาลปกครองไทยกับการแก้ไขข้อพิพาทในสังคม" ว่า 10 ปีนับจากนี้ จำเป็นต้องพัฒนาองค์กรศาลปกครอง เพื่อให้เป็นเสาหลักของบ้านเมือง ซึ่งดูเหมือนพูดง่าย แต่ทำได้ยาก ผู้บริหารต้องคิดพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้จำเป็นต้องมีองค์กร ที่ทำให้คนในชาติเชื่อมั่น ตัดสินชี้ขาดปัญหาแล้วทุกฝ่ายยอมรับ ประเทศชาติก็จะเกิดความสงบ เรียบร้อย เพื่อให้ปัญหาไม่พัฒนาสู่สิ่งที่เลวร้ายที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น
" การมีศาลปกครอง เป็นผลดีกับฝ่ายบริหาร เพราะช่วยลดแรงกระแทกที่จะมีถึงฝ่ายบริหารโดยตรงมากกว่า ยกตัวอย่าง หากประชาชนมีปัญหากับฝ่ายบริหาร แล้วฝ่ายบริหารชี้ถูกผิดเองย่อม ไม่มีใครเชื่อ แต่ถ้ามีองค์กรเข้ามาช่วยพิจารณา ชี้ว่าใครถูกหรือผิด และมีเหตุผล เป็นไปตามข้อเท็จจริงตามกระบวนการของกฎหมาย ก็จะลดแรงกระแทกที่จะมีถึงฝ่ายบริหารได้ องค์กรศาลปกครอง จึงต้องมีอยู่ต่อไป ไม่ใช่ยุบ หรือนำไปรวมกับฝ่ายใด หลายสิบปีที่ผ่านมา กล้าพูดว่าเราทำหน้าที่อย่างมสมบูรณ์เต็มที่ ลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะเห็นได้จากการมีคำสั่งในเรื่องต่างๆ ออกมาแล้ว ทุกฝ่ายสงบ ให้การยอมรับ "
นายหัสวุฒิ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ความต้องการของคนในประเทศ ไม่เหมือนกัน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน จึงเกิดหลักที่ปกครองโดยฝ่ายข้างมาก ที่อดทนรับฟังฝ่ายเสียงข้างน้อย ซึ่งการรับฟังฝ่ายข้างน้อย มีความสำคัญ เพราะสักวันฝ่ายข้างน้อยอาจเป็นฝ่ายข้างมากก็ได้ ซึ่งคนในสังคมต้องใจกว้าง ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นที่แตกต่าง ทุกสิ่งก็จะเป็นไปตามระบบ ไม่มีการเล่นนอกกติกา
" ศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐหนึ่งในสามอำนาจที่สูงสุด แต่ไม่มีอำนาจเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรอื่น อาทิ รัฐบาล รัฐสภา เพราะศาลจะใช้อำนาจตุลาการไปทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยตัวเองไม่ได้ จำเป็นต้องมีผู้มาฟ้องคดี ถ้าไม่มีผู้ฟ้องคดี ถึงจะเป็นเรื่องใหญ่ศาลก็ดำเนินการเองไมได้ และที่พูดกันว่า ตุลาการภิวัฒน์ ก็ไม่รู้ว่าผู้พูดเข้าใจความหมายที่แท้จริงหรือไม่ จริงๆแล้ว ตุลาการภิวัฒน์ เป็นเรื่องของการใช้อำนาจในคดีตามหลักกฎหมายที่ต้องอธิบายได้ ไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ และข้อกฎหมาย ศาลไม่ได้ตราขึ้นมาเอง ศาลจึงไม่ได้มีอำนาจเหมือนฝ่ายอื่นๆ ดังนั้นที่กล่าวหาว่าศาลมีอำนาจมากเกินไป และไม่เคยถูกตรวจสอบ ไม่เป็นความจริงเลย เพราะศาลปกครองก็ต้องทำรายงานไปรัฐสภา จึงไม่เห็นด้วย หากมีการยุบรวม เพราะเชื่อว่าประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่เป็นการถอยหลังไปสู่ยุคก่อนปี พ.ศ.2540
นายหัสวุฒิ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม กรณีฝ่ายตุลาการถูกมองว่า แทรกแซงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ และกรณีอำนาจตุลาการ กำลังถูกคุกคาม เพราะอำนาจฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติถูกแทรกแซงได้หมดแล้ว โดยกล่าวเพียงว่า ไม่พูดดีกว่า แต่ไม่ใช่ตอบไม่ได้ เพียงแต่พูดไปจะกลายเป็นปัญหา ซึ่งคิดว่าสื่อเองก็รู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร
อย่างไรก็ตาม ประธานศาลปกครองสุงสุด ยังเรียกร้องว่า ประเทศไทยน่าจะถึงเวลาที่มีระบบการคุ้มครองผู้พิพากษา ตุลาการ รวมถึงครอบครัวอย่างจริงจังเช่นในต่างประเทศ ไม่ใช่พอมีเรื่องก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่มาคุ้มกันเป็นครั้งไปๆ เหมือนที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะการตัดสินคดีของศาลในทุกคดี ล้วนแต่มีความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น