xs
xsm
sm
md
lg

บาทอ่อนสวิงใกล้32 ธปท.ยันเงินเข้าออกปกติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เงินบาทผันผวนอ่อนสุดในรอบ 4 เดือนแตะ 31.92 ก่อนปิดตลาดที่ 31.87 แบงก์ชาติเผยสาเหตุจากปัญหาเศรษฐกิจยุโรป แต่ยังไม่พบเงินทุนไหลออกที่ผิดปกติ หวังเศรษฐกิจไตรมาส 2 ไม่แผ่วกว่าไตรมาสแรก เพราะแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งการลงทุนและการบริโภคยังดีอยู่

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยค่าเงินบาทว่า วานนี้ (31 พ.ค.) เงินบาทเปิดตลาดเช้าอยู่ที่ระดับ 31.90/92 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือน และปรับตัวลงจากช่วงเย็นวันก่อนที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.85/87 บาท/ดอลลาร์ จากความกังวลของนักลงทุนในปัญหาของสเปน ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสเปนที่พุ่งขึ้นไปในระดับสูง รวมทั้งกรณีปัญหาในภาคธนาคารของสเปน ในขณะที่ปัจจัยทางการเมืองในประเทศของไทยเอง เช่น การชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาตินั้น ไม่ได้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินมากนัก

อย่างไรก็ตาม ช่วงเย็นเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.82/84 บาท/ดอลลาร์ หรือแข็งค่าจากช่วงเช้า เนื่องจากค่าเงินยูโรรีบาวน์ขึ้นและมีแรงซื้อขายเข้ามาในตลาดหุ้นไทย

นายสิงห์ชัย บุณยโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า สาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่าในระยะนี้หลัก ๆ มาจากปัญหาเศรษฐกิจยุโรปที่ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลในภูมิภาค รวมทั้งเงินบาท แต่หากมองในแง่เงินทุนยังไม่พบการไหลออกที่ผิดปกติ เพราะนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้นบางวันก็ซื้อสุทธิบางวันก็ขายสุทธิ ทำให้เงินทุนไม่ได้ไหลออกไปมาก

ส่วนสาเหตุอื่นที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน คือ นักลงทุนขายเงินบาทและซื้อดอลลาร์เพื่อไปลงทุนในทองคำ และผู้ส่งออกก็ยังขายดอลลาร์มาแลกบาทด้วย ซึ่ง ธปท.ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทในขณะนี้ แต่จับตาความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

***เชื่อมั่นลด-ลุ้น ศก.Q 2 ไม่แผ่ว

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน เม.ย. 55 ลดลงอยู่ที่ 47.7 ถือว่าต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นที่ 50 แต่มองว่าเป็นแค่ชั่วคราวตามการผลิต คำสั่งซื้อ และต้นทุนการผลิตที่ภาคธุรกิจกังวลสูงขึ้น แต่แนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังอยู่ที่ 56.6 และค่าเงินบาทในเดือนนี้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่ง

"ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะแผ่วลงในช่วงไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ แต่เศรษฐกิจไม่แรงเท่าไตรมาสแรกเทียบกับไตรมาส 4 ของปีก่อนที่เกิดปัญหาน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังมีอยู่ทั้งปัจจัยการลงทุนมีต่อเนื่อง ซึ่งหลายโรงงานก็ยังไม่ปกติ หลังจากน้ำท่วม จึงคาดว่าไตรมาส 2 จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่การอุปโภคบริโภคก็ยังดีอยู่จากปัจจัยสนับสนุนทั้งกำลังซื้อที่ดี โดยเฉพาะการขยายตัวสินเชื่อและรายได้เพิ่มขึ้น"

สำหรับการชุมนุมประท้วงเรื่องกฎหมายปรองดองนั้น นายเมธีกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่ประเด็นนี้ต้องติดตามดูต่อไป โดยเฉพาะในแง่ของความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นเท่าที่สำรวจมาก็จะมีผลกระทบและการฟื้นตัวของแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจแตกต่าง โดยในส่วนของการอุปโภคบริโภคไม่ค่อยรับผลกระทบนัก แต่การลงทุนก็อาจมีบ้าง ขณะที่การท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะกลับฟื้นตัวได้ภายใน 3 เดือน

"แม้เดือน เม.ย.นี้มีวันทำการแค่ 15-16 วัน เพราะเป็นช่วงวันหยุดยาว แต่ข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนเม.ย.ปรับตัวดีขึ้น โดยการผลิตขยายตัวเป็นเดือนแรกหลังจากหดตัวติดต่อกัน 5 เดือนตั้งแต่เกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นการเร่งผลิตตอบสนองความต้องการค้างอยู่ รวมถึงเป็นผลจากฐานปีก่อนต่ำจากเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่น ทำให้ขณะนี้การผลิตยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว".
กำลังโหลดความคิดเห็น