xs
xsm
sm
md
lg

เพลงกับการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี

วันนี้ขออนุญาตพูดถึงเรื่องของเพลงกับการเมือง เหตุเพราะได้ฟังคนหน้าเหลี่ยมนักโทษชายที่หลบหนีคดีร้องเพลง Let it be แล้วดันทะลึ่งไปแปลบทเพลงของเจ้าของเพลงคือวง The Beatles ซึ่งเป็นวงดนตรี Rock ที่โด่งดังในอดีตยุค ค.ศ. 1960 หรือประมาณ พ.ศ. 2503 คนไทยรู้ดีและเรียกวงดนตรีคณะนี้ว่าเป็นคณะสี่เต่าทอง เพลง Let it be เนื้อหาสาระของเพลงนี้มีคำร้องภาษาอังกฤษ และคำแปลภาษาไทยของเพลง ดังนี้

เพลงนี้วง The Beatles ทั้งคณะได้ร่วมกันแต่งในช่วงสุดท้ายก่อนที่จะแยกวง และต่างคนก็ไปเป็นศิลปินเดี่ยว ความผูกพันต่อกันของนักดนตรีในคณะและความรู้สึกก่อนที่จะแยกวง ได้สะท้อนผ่านบทเพลง Let it be ดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องของนักร้อง นักดนตรี ที่ถึงเวลาต้องแยกจากกันไปโด่งดังตามวิถีทางของตน ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ไม่มีความหมายเกี่ยวกับผู้ต้องหาหนีคดี แต่ละคนไม่ได้กระทำความผิดทางอาญา หรือความผิดทางการเมืองใดๆ และคำแปลก็ไม่ได้มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ช่างแม่มัน หรือช่างแม่มึง” แต่อย่างใด

การที่ทักษิณเอาเพลง Let it be มาร้องด้วยสำเนียงภาษาอังกฤษปนกะเหรี่ยง แบบเป็ดหนีตายกลัวโดนเชือดและทะลึ่งแปลความหมายของเพลงให้เสียหาย และแหกปากตะโกนต่อหน้าสมุนบริวารเสื้อแดง ทั้งๆ ที่มีอดีตเป็นถึงนายกรัฐมนตรี ช่างเป็นเรื่องที่น่าละอายเหลือเกิน วง The Beatles ที่ยังมีชีวิตอยู่น่าจะฟ้องเรียกค่าเสียหาย

เรื่องของเพลงกับการเมือง การต่อสู้ของประชาชนเป็นของคู่กัน ในการต่อสู้เพื่อชาติ เพื่อประเทศ เพื่อความถูกต้องเป็นธรรม เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือการกอบกู้เอกราชปกป้องแผ่นดินมาตุภูมิ การต่อสู้เพื่อชนชั้น ชนชาติ สีผิว และสิทธิมนุษยชนของมนุษยชาติทั้งหลาย มักจะเกิดบทเพลงมากมายเพื่อร้องขับขาน ปลุกเร้าให้กำลังใจ เพลงที่เกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ เพื่อความถูกต้องดีงามและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ จึงเป็นงานศิลปะ การร้อง การแสดงที่ทรงคุณค่า ดังจะเห็นได้จากบทเพลงที่เป็นอมตะมากมาย ที่ร้องขับขานต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ในยุคที่บ้านเมืองต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากลัทธิทางการเมือง เพลงนี้ได้ปลุกเร้าให้กำลังใจทหารหาญ และประชาชนได้ร่วมกันต่อสู้ เพื่อปกป้องบ้านเมือง

เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ซึ่งประพันธ์เนื้อร้องและทำนองโดย จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นเพลงที่ผู้แต่งได้ประพันธ์ขึ้นในยุคสมัยที่บ้านเมืองถูกปกครองและครอบงำ โดยอำนาจของเผด็จการทหารที่คุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง เพลงนี้เป็นเพลงที่ปลุกเร้าให้กำลังใจประชาชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย เพลงสู้ไม่ถอย ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองโดย คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็เป็นเพลงที่เกิดขึ้นในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ในเหตุการณ์ วันที่ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของประชาชน

เพลงเทียนแห่งธรรม ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองโดย คุณเทียรี่ ลาสเวกัส ก็เป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อปลุกเร้าและให้กำลังใจกับประชาชนให้มาหลอมรวมกันต่อสู้ร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการชุมนุมต่อสู้เพื่อทวงคืนประเทศไทยจากนักการเมืองโกง ในต่างประเทศก็มีเพลงลักษณะนี้มากมาย เช่น เพลงอินเตอร์นาซิอองนาล ในยุคสมัยการลุกขึ้นสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ เพื่อเรียกร้องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นต้น

เพลงจะมีคุณค่า และมีความหมายอยู่ที่แต่งและร้อง โดยมีเนื้อหาสาระและสื่อความหมายเพื่อใคร เพื่อประโยชน์ของชนชั้นใด ผู้ร้องมีเกียรติภูมิ คุณงามความดี ความน่าศรัทธาเชื่อถือเพียงใดต่างหาก เอาโจรปล้นแผ่นดินมาร้องเพลงรักชาติ เอาคนชั่ว คนโกงมาร้องเพลงจงทำดี หรือเอาอาชญากร นักโทษที่ต้องคดีอุกฉกรรจ์ มาร้องเพลงเรียกร้องความยุติธรรม เพลงดีๆ ที่มีความหมายย่อมถูกทำให้ไร้ค่า คนที่น่าประณามไม่ใช่เพลงแต่อยู่ที่คนร้อง และคนฟังที่สอพลอทั้งหลาย พวกเขากำลังสร้างวัฒนธรรมอัปรีย์ร่วมกัน

เพลงและการเมืองสามารถที่จะอยู่ร่วมกัน รับใช้ซึ่งกันและกันได้ ถ้าเพลงดี การเมืองดี ร้องเท่าไหร่ก็น่าฟัง เป็นอมตะไม่มีวันตาย แต่ถ้าการเมืองเลว นักการเมืองชั่ว จะร้องเพลงที่มีความหมายดีเพียงใด หรือเลือกเพลงอมตะมาขับร้อง ก็ไม่ช่วยฟอกคนชั่วให้เป็นคนดีได้ ไม่อาจทำให้อาชญากรการเมืองเป็นวีรบุรุษได้ เพลงดีต้องร้องโดยคนดี มิใช่มีไว้ให้อัปรีย์ขับขาน
กำลังโหลดความคิดเห็น