อาทิตย์ที่ผ่านมา มีการออกมาตั้งคำถามต่อนักวิชาการในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ของประเทศนี้ นั่นก็คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีคำขวัญอันเป็นที่จดจำและประทับใจของศิษย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ รวมถึงคนทั่วๆ ไปจำติดปากอยู่เสมอๆ นั่นก็คือคำขวัญที่ว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” คนที่ลุกขึ้นมาถามถึงความชอบธรรมต่อบทบาทของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็หาใช่ใครอื่น นั่นคือคุณสนั่น ชูสกุล ศิษย์เก่าดีเด่นที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มอบตำแหน่งนี้ให้แก่เขาพร้อมท่านอื่นรวม 77 คนเนื่องในงานครบรอบ 77 ปีของมหาวิทยาลัย คำถามของเขาจึงไม่ใช่คำถามที่อยากถามขึ้นมาลอยๆ เป็นแน่แท้
สนั่น ชูสกุล เป็นลูกชาวบ้าน พื้นเพอยู่ที่ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ซึ่งในวันนี้กำลังมีการดำเนินโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ไม่ว่าการวางแผนที่จะย้ายนิคมอุตสาหกรรมจากมาบตาพุดมาลงไว้ที่นี่ การมีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต รวมไปถึงการย้ายฐานบนฝั่งของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันคือเชฟรอน ก็ได้มาลงหลักปักฐานเตรียมขยายสร้างท่าเรือน้ำลึกขึ้นในพื้นที่ สนั่นจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มุ่งหน้าสู่ชนบท ในบทบาทนักพัฒนาขององค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่อีสานและสร้างครอบครัวอยู่ที่นั่น
ในฐานะของคนทำงานพัฒนาชนบท เขาติดตามความเปลี่ยนแปลงสังคมชุมชนของตัวเองอยู่เสมอด้วยความห่วงใย สนั่นเขียนพรรณนาถึงความงดงามของบ้านเกิดตัวเองโดยผ่านเรื่องเล่าประวัติของบรรพบุรุษของเขาเองไว้ว่า “มีคนจีนกลุ่มหนึ่งมาขึ้นบกที่ปากกลาย แผ่นดินผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์เชื้อชวนให้พวกเขาบุกเบิกเป็นที่ทำกิน ปักหลักตั้งถิ่นฐาน และอยู่รวมกับคนพื้นเมืองเดิมอย่างกลมกลืน บ้านบางปอ..ที่เดี๋ยวนี้กลายเป็นนากุ้งไปหมดแล้ว เคยเป็นสวนมะพร้าวหนาแน่น มะพร้าวต้นที่สูงที่สุดใน บ้านกลาย บ้านสระแก้ว น่าจะเป็นต้นมะพร้าวที่บางปอ ทุกวันมันถูกโค่น เลื่อย สร้างเป็นขนำในนากุ้ง น้ำในบางปอเน่า ในน้ำเกลื่อนไปด้วยถุงอาหารกุ้ง ไปที่นั่นพูดกับเขาไม่รู้เรื่องแล้ว มีแต่คนพม่า..... ชายหาดและทะเลอ่าวท่าศาลาจึงเป็นเสมือนที่พึ่งสุดท้ายที่หล่อเลี้ยงชุมชนให้อยู่ได้ในปัจจุบัน”
“บรรพบุรุษของผมสร้างบางปอและปากกลายให้เป็นชุมชนที่สงบสุข อาหารการกินมั่นคง พี่น้องรักกันมั่นคง คนกลายคนบางปอแม้จะมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ขาดปัจจัยอีกหลายอย่าง ก๋งของผมเป็นคนจีนรุ่นที่สาม เป็นนักเดินเรือใบ ชื้อลูกก่อ น้ำมันยาง และของป่าจาก สระแก้ว นากุน ชุมโลง ลงเรือใบ เลียบฝั่งทะเลไปขายที่ปากนคร ปากพนัง หัวไทร จนบางทีไปถึงสงขลา ขากลับก็ซื้อสินค้าของกินของใช้จากเมือง เครื่องปั้นดินเผา กระเบื้องดินเผาจากทางสงขลา สทิงพระมาขายที่กลาย สระแก้ว”
ในการดำเนินการสร้างท่าเรือของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเชฟรอน สนั่น ย่อมรู้ดีว่าหายนะกำลังคืบคลานมาสู่บ้านเกิดของเขา และพบว่ามีสองนักวิชาการที่พยายามแก้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าเรือเชฟรอน ที่จะสร้างที่ปากน้ำกลาย ทั้งนี้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ (EIA) ในการก่อสร้างท่าเรือเชฟรอนนั้น ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักนโยบายและแผน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่พิจารณาเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ (EIA) หลังจากมีการพยายามยื่นและถูกตีกลับให้ต้องแก้ไขมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี แต่รายงานชิ้นดังกล่าวก็ยังไม่ผ่าน เพราะการสร้างท่าเรือต่างๆ ที่ผ่านมา ล้วนกระทบต่อชายฝั่งอย่างรุนแรง ที่ยังไม่สามารถหามาตรการใดๆ มาป้องกันได้ ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่ออาชีพของชุมชนประมงชายฝั่งอีกจำนวนมากในบริเวณพื้นที่ของอำเภอท่าศาลาและใกล้เคียง
สองนักวิชาการที่ร่วมอยู่ในทีมงานทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมชิ้นดังกล่าวที่สนั่นในฐานะศิษย์เก่าลุกขึ้นมาขอร้องขอให้เลือกข้างประชาชนก็คือ ผศ.ดร.เพ็ญศรี วัจฉละญาณ และ ผศ.ดร.นันทิกา สุนทรไชยกุล อันเป็นนักวิชาการในสถาบันการศึกษาอันเป็นที่รักของเขานั่นเอง สนั่นจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องให้อาจารย์ทั้งสองท่านยุติบทบาทหน้าที่ดังกล่าวเสีย
“ผมขอให้อาจารย์ธรรมศาสตร์ทั้งสองท่านจงคำนึง ทบทวนให้จงหนัก ท่านอาจทำให้ธรรมศาสตร์ต้องแปดเปื้อนกับการร่วมกระทำการกับบริษัทข้ามชาติในการสร้างความฉิบหายให้กับนิเวศทะเลไทยและชุมชนท้องถิ่นในครั้งนี้” โดยเขาเชื่อว่ากระบวนการที่เป็นอยู่ ในที่สุด รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ท่าเรือของเชฟรอนจะผ่านแน่นอน เหมือนโครงการอื่นๆ ที่ในที่สุดก็ผ่านเพราะมีนักวิชาการมือดีเป็นทีมงาน
คำถามจึงมีว่า อาจารย์ทั้งสองท่านจะเลือกคำนึงถึงความถูกต้องเป็นธรรมที่จะเกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นตามที่สนั่นได้เรียกร้อง ให้สมกับคำขวัญของธรรมศาสตร์ที่สอนให้รักประชาชนหรือจะกระทำการในกระบวนการแก้ไขรายงานผลการศึกษาดังกล่าวต่อไป เพื่อประโยชน์แก่บริษัทข้ามชาติ ที่ชื่อ เชฟร่อน.