"ป่า" คือบ้านหลังใหญ่ของสิ่งมีชีวิต เป็นทั้งที่พักพิง ที่หลบภัย ที่ให้อาหาร ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบ ป่าสน ป่าเบญจพรรณ หรือป่าไหนๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีความคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และป่าอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ “ป่าชายเลน” ป่าไม้ชายฝั่งทะเลที่ประกอบไปด้วยพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์หลายชนิด อีกทั้งยังเป็นแหล่งพลังงาน แหล่งอาหารของสัตว์น้ำ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งและใกล้เคียงโดยเฉพาะหญ้า ทะเล และปะการัง
ป่าชายเลนในประเทศไทยนั้นมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน แต่ที่เราจะมาเยี่ยมชมกันในวันนี้ คือที่ “ศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี” ในตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 700 ไร่ เขียวขจีไปด้วยพรรณไม้ป่าชายเลนที่ขึ้นกันอยู่ชุกชุม
ก่อนที่ป่าจะอุดมสมบูรณ์เช่นวันนี้ แต่เดิมป่าชายเลนของปากน้ำปราณเคยตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก สาเหตุมาจากการทำนากุ้งจนทำให้ดินเสีย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสื่อมโทรมของป่าชายเลนแห่งอื่นๆ เช่นกัน จนเมื่อปี 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาที่วนอุทยานปราณบุรี และทรงมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ป่าชายเลนบริเวณปากน้ำปราณบุรี ทำให้กรมป่าไม้ยกเลิกการต่อใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าชายเลนในบริเวณดังกล่าว
จากนั้นจึงเริ่มปลูกป่าชายเลนขึ้นอย่างจริงจังในปี 2540 โดยความร่วมมือของชาวชุมชนปากน้ำปราณและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ด้วยการเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และปลูกป่าชายเลนขึ้นมาตามโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติซึ่งในช่วงแรกต้นไม้มีอัตราการเจริญเติบโตน้อยมากเพราะยังไม่มีตะกอนดินสะสมมากนัก และยังมีสารเคมีจากการทำนากุ้งตกค้างอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ต้นไม้เริ่มมีการเจริญเติบโตเร็วขึ้น มีรากหาอาหาร รากค้ำยัน และรากอากาศเพิ่มขึ้น และในปี 2547 ได้พัฒนาแปลงปลูกป่าชายเลนบางส่วนให้เป็นศูนย์ศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน และห้องเรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรป่าชายเลน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานชื่อว่า "สิรินาถราชินี" จนมาถึงปัจจุบัน นากุ้งเสื่อมโทรมจึงได้กลายเป็นป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศป่าชายเลนฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง
ที่ศูนย์ฯ สิรินาถราชินีนั้นเปรียบความสำคัญของป่าชายเลนเสมือนเป็น “มดลูกของทะเล” เพราะเป็นทั้งแหล่งกำเนิด แหล่งอาศัย แหล่งอนุบาล และเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติของสรรพชีวิตในห่วงโซ่อาหาร เหมือนมดลูกของมารดาที่โอบอุ้มบุตรในครรภ์ให้อบอุ่นปลอดภัย ก่อนที่จะออกไปเผชิญกับโลกภายนอก เมื่อเปรียบเทียบเช่นนี้จึงทำให้เห็นภาพความสำคัญป่าชายเลนได้อย่างชัดเจนทีเดียว
เมื่อมาเยือนศูนย์ฯ สิรินาถราชินี จุดแรกที่เราจะเข้าชมก็คือ “เรือนโปรงขาว” ห้องโถงที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับปูพื้นฐานให้ทุกคนได้รู้จักกับป่าชายเลนแห่งนี้ผ่านวีดิทัศน์ บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ครั้งยังเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมจากการทำนากุ้ง เรื่อยมาถึงการพลิกพื้นผืนดินจนกลายเป็นป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์อย่างทุกวันนี้ นอกจากนั้น ใน “เรือนโกงกาง” อาคารไม้หลังใหญ่ ก็ยังจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ของป่าชายเลน รวมไปถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนปากน้ำปราณ ทั้งในเรื่องของประวัติศาสตร์เมืองปราณบุรี และการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนในอดีต เครื่องมือประมงท้องถิ่นของชาวบ้านปากน้ำปราณ รวมถึงการพลิกฟื้นคืนชีวิตป่าชายเลนปากน้ำปราณจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ในส่วนของเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนนั้นมีหลายจุดด้วยกันที่น่าสนใจ โดยสามารถเดินตามเส้นทางตามรอยรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินในพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายผืนป่า 1,000,000 ไร่ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2545 หรือจะเดินลัดเลาะไปตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1 ก.ม. ที่ร่มรื่นเขียวครึ้มไปด้วยพรรณไม้ป่าชายเลน สัมผัสระบบนิเวศอย่างใกล้ชิด โดยจะมีป้ายข้อมูลให้ความรู้อยู่เป็นระยะ
นอกจากนั้นในเส้นทางเดินยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือ “ต้นโกงกางประวัติศาสตร์” หรือต้นโกงกางใบเล็กจำนวน 2 ต้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระเทพฯทรงปลูก นับเป็นต้นไม้แห่งประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่ายิ่งในศูนย์แห่งนี้ ต้นโกงกางถือเป็นไม้เด่นประจำป่าชายเลน ในป่าแห่งนี้มีทั้งโกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่ นอกจากนั้นก็ยังมีต้นแสม ต้นโปรง ตาตุ่มทะเล ฯลฯ เป็นสังคมป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์
บนเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ นอกจากจะได้รู้จักกับพรรณไม้ต่างๆ ในป่าชายเลนแล้ว ก็ยังจะได้เห็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน และยังเป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอีกด้วย เช่น ปูก้ามดาบ หอยขี้กา กุ้งดีดขัน ที่ช่วยย่อยสลายอินทรียสารด้วยการกินใบโกงกางและพืชชนิดอื่นๆ แล้วย่อยออกมาเป็นมูล เป็นปุ๋ย ช่วยเพิ่มแร่ธาตุให้ดิน และยังช่วยในการหมุนเวียนของสารอาหารในระบบนิเวศป่าชายเลน ส่วนปลาชนิดต่างๆ ก็เป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน โดยปลาที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนตลอดชีวิต ตั้งแต่เป็นปลาตัวเล็กจนโตเต็มวัย ได้แก่ ปลาตีน ปลากระบอก ปลาหมอเทศ ปลาแป้นเหลืองทอง เป็นต้น นอกจากนั้นก็ยังมีนกกินเปี้ยว หรือนกกระเต็นชนิดหนึ่งที่กินปูเปี้ยวเป็นอาหาร จัดเป็นนกที่มีสีสันสวยงามที่สุดในบรรดานกป่าชายเลน
แต่ที่เป็นไฮไลท์และพลาดไม่ได้หากมาเยี่ยมเยือนศูนย์ฯ สินินาถ ก็คือการขึ้นไปชมวิวมุมสูงแบบ 360 องศา บน “หอชะคราม” หอสูงเท่าตึก 6 ชั้นที่เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ป่าชายเลนสิรินาถในมุมกว้างได้แบบไม่มีอะไรบดบังสายตา และในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสก็จะสามารถมองไปได้ไกลถึงปากแม่น้ำปราณบุรี อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ศาลเจ้าแม่ทับทิมทอง ซึ่งแต่ละด้านของหอชะครามจะมีป้ายสื่อความหมายให้ข้อมูลว่าภาพเบื้องหน้าเรานั้นมีอะไรเป็นจุดสนใจบ้าง และยังมีภาพเปรียบเทียบก่อนและหลังการสร้างป่าจากนากุ้งร้างให้ชมกันด้วย
เมื่อมองจากหอชะครามลงมายังผืนป่าชายเลนเขียวขจีอุดมสมบูรณ์เบื้องล่าง นอกจากจะเกิดความสบายตาแล้ว ก็ยังอิ่มใจด้วยความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลนจนนำมาสู่ความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนที่ร่วมกันพลิกฟื้นปลูกป่าชายเลนให้กลับมาสมบูรณ์จนทุกวันนี้
* * * * * * * * * * * * * ** * * * * ** * * * * ** * * * * ** * * * * ** * * * * ** * * * * ** * * * * ** * * * * ** * * * * ** * * * * ** * * * * ** * * * * ** * * * * ** * * * * *
ศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลนสิรินาถราชินี ตั้งอยู่ที่ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สอบถามรายละเอียดโทร. 0 3263 2255