ASTVผู้จัดการรายวัน-นักวิชาการเตือนกรุงเทพฯ เสี่ยงถล่มเหมือนเม็กซิโก ซิตี้ ทั้งๆ ที่จุดแผ่นดินไหวอยู่ไกลกว่า 350 กม. เหตุอยู่บนพื้นดินอ่อนเหมือนกัน และอาคารไม่ได้ออกแบบรับแผ่นดินไหว เผยมี 3 รอยเลื่อนกำหนดความเสี่ยงเมืองกรุง กรมทรัพยากรธรณียันภูเก็ตจมเป็นไปไม่ได้ เหตุเกาะเป็นหินแกรนิต และฐานกว้าง ส.ส.ประชาธิปัตย์อัดมีแก็งค์ป่วนร่อยใบปลิวหวังทำลายท่องเที่ยว เผยยอดรวมล่าสุดเกิดอาฟเตอร์ช็อกแล้วกว่า 50 ครั้ง
รศ.ดร.อมร พิมานมาศ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2554 มีความตื่นตัวในเรื่องแผ่นดินไหวกันมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงทั้งในนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จนถึงแผ่นดินไหวล่าสุดที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา และทำให้อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ มีการสั่นไหวอย่างรุนแรง
สาเหตุที่อาคารสูงในกรุงเทพฯ สั่นไหวอย่างรุนแรง เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่ดินอ่อนหรือดินเลน เมื่อถูกกระตุ้นจึงขยายการสั่นสะเทือนได้ถึง 3 เท่า แม้เหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 26 ธ.ค.2547 ที่เกาะสุมาตรามีจุดศูนย์กลางอยู่ไกลถึง 1,200 กิโลเมตร หรือแผ่นดินไหวในจีนที่อยู่ไกลออกไปถึง 2,600 กิโลเมตร ก็พบว่ามีการเขย่าของตึกสูงในกรุงเทพฯ ด้วย
"แม้อาคารสูงจะสั่นอย่างรุนแรง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถล่มเสมอไป ส่วนหนึ่งเพราะอาคารสูงมักได้รับการออกแบบให้รองรับแรงลมระดับหนึ่งอยู่แล้ว"
***กรุงเทพฯเสี่ยงถล่มเหมือนเม็กซิโกซิตี้
รศ.ดร.อมร ได้เปรียบเทียบว่ากรุงเทพฯ มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวเหมือนกรุงเม็กซิโกซิตี้ ของเม็กซิโก เนื่องจากมี 3 ปัจจัยคล้ายกัน คือ 1.ไม่มีรอยเลื่อนอยู่ใต้เมือง 2.ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน และ 3.อาคารไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหว ซึ่งเมื่อปี 2528 เกิดแผ่นดินไหว 8.5 ริกเตอร์ ห่างจากกรุงเม็กซิโกซิตี้ ออกไป 350 กิโลเมตร ส่งผลให้อาคารต่างๆ ถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 10,000 คน
ทั้งนี้ สำหรับกรุงเทพฯ ต้องใช้เม็กซิโกซิตี้ เป็นแบบจำลอง เพราะมีปัจจัยความเสี่ยงเหมือนกัน และแผ่นดินไหวเป็นเหตุการณ์ที่เตือนไม่ได้ ดังนั้น จำเป็นต้องอยู่บนอาคารที่ปลอดภัย ซึ่งทางวิศวกรรมสถานฯ ได้ศึกษาข้อมูลจนนำไปสู่การออก “กฎกระทรวง” ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในปี 2550 สำหรับบังคับใช้ในการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวสำหรับพื้นที่เสี่ยง
กฎกระทรวงดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 3 บริเวณ คือ บริเวณที่ 1 ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร บริเวณที่ 2 ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน และบริเวณเฝ้าระวัง ได้แก่ กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี หากแต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและต้องปรับแก้กันต่อไป
สำหรับอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวนั้น รศ.ดร.อมรแนะนำให้เสริมความแข็งแรงด้วยแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ โดยใช้พันรอบเสาในในตำแหน่งที่จะเสียหายได้ง่าย เช่น โคนเสา เป็นต้น แต่วิธีนี้มีราคาประมาณ 200,000 บาท จึงมีอีกวิธีสำหรับอาคารที่ไม่สูงเกิน 6 ชั้นหรืออาคารตึกแถว ให้ใช้เหล็กปลอกพันรอบโคนเสาแล้วพันทับด้วยลวดกรงไก่จากนั้นฉาบปูนทับ ซึ่งจะได้เสาที่มีความแข็งแรงขึ้นในต้นทุนเสาละประมาณ 1,000 บาท
***เผย3ปัจจัยทำตึกสูงในกรุงเทพฯ เสี่ยง
รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า คลื่นสั่นสะเทือนจากพื้นดินมีความรุนแรงมากกว่าแรงลมอยู่มาก และแม้กรุงเทพฯ ไม่ตั้งอยู่แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว แต่สภาพดินก็ขยายความรุนแรงได้ถึง 3 เท่า โดยเฉพาะความถี่ต่ำๆ จากแผ่นดินไหวจะถูกขยายความรุนแรงโดยอาคารสูงที่มีการโยกอย่างช้าๆ หรือมีความถี่ธรรมชาติที่ตรงกับคลื่นแผ่นดินไหว จึงเกิดการสั่นพ้องหรือการกำทอนขึ้น
ทั้งนี้ มี 3 ปัจจัยที่กำหนดความเสี่ยงให้กรุงเทพฯ คือ รอยเลื่อนใน จ.กาญจนบุรี ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 200 กิโลเมตร มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7-7.5 ริกเตอร์ รอยเลื่อนสะแกงหรือรอยเลื่อนสกายตามภาษาถิ่นในพท่าที่อยู่ห่างออกไป 400 กิโลเมตร มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8 ริกเตอร์ และแนวมุดตัวบริเวณเกาะนิโคบาร์ทางฝั่งอันดามัน (แนวเดียวกับที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี 2547) ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 600 กิโลเมตร มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวถึง 8.5 ริกเตอร์
**ยันเกาะภูเก็ตจมเป็นไปไม่ได้
หลังจากเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหวในจ.ภูเก็ต หลายต่อหลายครั้ง และยังมีใบปลิวว่อนไปทั่วเกาะให้ประชาชนรีบหนีออกจากเกาะก่อนวันที่ 28 เม.ย. เพราะเกาะภูเก็ตจะจมลงในทะเลอันดามัน จนสร้างความหวาดผวาและแตกตื่นให้กับประชาชน
นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม และธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เรื่องเกาะภูเก็ตจมทั้งเกาะนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเกาะภูเก็ตมีสภาพเป็นหินแกรนิต และมีฐานกว้างมาก เหมือนกับเขาตะปู จ.พังงา โดยหินแกรนิตมีคุณสมบัติ คือ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวคลื่นแผ่นดินไหวจะเคลื่อนที่เร็ว เมื่อเคลื่อนที่เร็วอัตราการทำลายล้างจะจะน้อยหรือต่ำ แต่หากพื้นที่นั้นๆ เป็นดินอ่อน จะทำให้คลื่นแผ่นดินไหวเคลื่อนที่ช้า เมื่อเคลื่อนที่ช้าจะทำให้อัตราการทำลายล้างเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญ คือ หินแกรนิต มีกำเนิดมาจากแมกมาใต้โลก มีฐานเป็นแผ่นกว้าง ดังนั้น เกาะภูเก็ตจึงไม่มีทางจม หรือหักอย่างแน่นอน
ส่วนกรณีแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางที่อ.ถลาง จ.ภูเก็ต 4.3 ริกเตอร์นั้น จากการศึกษาเรื่องแผ่นดินไหวตามหรืออาฟเตอร์ช็อก พบว่า หลังจากนี้จะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกประมาณ 10 วัน แต่จะเป็นอาฟเตอร์ช็อกแบบรู้สึกได้ และรู้สึกไม่ได้ เป็นแบบนี้สลับกันไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่บ้านเรือนได้รับความเสียหายเป็นรอยร้าว ขอให้เฝ้าสังเกตว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้นนั้นเพิ่มขึ้นมาหรือไม่ หากพบว่ารอยร้าวเพิ่มขึ้น ให้รีบแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือสำนักงานโยธาธิการจังหวัด เพื่อจะเข้าไปตรวจสอบความมั่นคงโครงสร้างตัวอาคาร เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย
***เตือนอย่าใช้ลิฟต์หนีตอนแผ่นดินไหว
เมื่อถามว่า ในเมื่อแผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนไทยขึ้นเรื่อยๆ จะต้องทำอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อาศัยอยู่ในตึกสูงในกรุงเทพฯ นายเลิศสิน กล่าวว่า ให้ทำตัวเป็นปกติ ขอบอกว่า สภาพธรณีวิทยา ธรณีสัญฐาน และตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ไกลจากรอยต่อของเปลือกทวีป หรือแผ่นเปลือกทวีป ทั้งนี้ เปลือกโลกจะมีรอยต่ออยู่หลายแผ่น ซึ่งรอยต่อแผ่นเปลือกโลกนี่เองที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว
“ประเทศไทยเราอยู่ไกลจากรอยต่อแผ่นเปลือกโลก แม้ว่าเราจะรับรองแบบ 100% ไม่ได้ว่า จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศไทย แต่โอกาสที่จะเกิดไหวมาก ขนาดตึกพังมีน้อยมาก เวลานี้ทุกคนก็ต้องเรียนรู้ร่วมกันว่า เมื่อแผ่นดินไหวเราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผมเป็นห่วงมากจากที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา 8.6 ริกเตอร์ และมีประชาชน โดยเฉพาะใน กรุงเทพฯ หนีลงมาจากตึก ทราบว่ามีหลายตึกที่หนีลงมาโดยใช้ลิฟต์ ซึ่งอันตรายมาก เพราะเราไม่รู้ว่า ถ้าเกิดแผ่นดินไหวแล้วไฟจะดับเมื่อไร เมื่อไฟดับ ลิฟต์จะหยุดทำงาน แล้วเมื่อไรจะมีคนมาช่วยคนที่อยู่ในลิฟต์ ดังนั้น ขอให้ทุกคน ใช้บันได แม้จะช้า แต่จะลงมาถึงดินได้อย่างแน่นอน และปลอดภัยกว่า”นายเลิศสินกล่าว
**ส.ส.ภูเก็ตแฉแก๊งค์ป่วนร่อนใบปลิว
วันเดียวกันนี้ เมื่อเวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา นางอัญชลี วานิชเทพบุตร ส.ส.ภูเก็ต พร้อมด้วยนายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวกรณีพื้นที่จ.ภูเก็ต เกิดเหตุแผ่นดินไหว ที่อ.ถลาง เมื่อวันที่ 16เม.ย. และมีอาฟเตอร์ช๊อกตามมากว่า 50 ครั้งว่า ได้หารือกับนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย เพื่อของบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างสถานีเครือข่ายวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวบนบก จำนวน 6 สถานี เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีตรวจสัดของสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ที่กรุงเทพฯ โดยจะใช้งบประมาณไม่เกินสถานีละ 2 ล้านบาท ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะสนับสนุนก็สามารถเบิกจ่ายงบประมาณฉุกเฉินในงบกลาง
นางอัญชลีระบุด้วยว่า ในพื้นที่ จ.ภูเก็ตมีการแจกใบปลิว โดยมีข้อความระบุว่า จ.ภูเก็ตจะเกิดแผ่นดินไหวและจะจมลงในทะเล ในวันที่ 28 เม.ย.นั้น ตนขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะจากการสอบถามจากผู้ที่มีความรู้ด้านนี้โดยตรง ก็ชี้แจงว่าหากเกิดแผ่นดินไหวไม่เกิน 3 ริกเตอร์จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ซึ่งตนขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและติดตามข่าวสารจากส่วนกลางเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อยากขอความร่วมมือกับรัฐบาลเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติแล้ว ขอให้แก้ไขปัญหาการสื่อสารที่จะมีความขัดข้องในระหว่างที่เกิดเหตุ
**เผยมีผู้ไม่หวังดีหวังทำลายท่องเที่ยว
นายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเขตอำเภอกระทู้และถลาง เนื่องจากมีหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ข้อมูลที่เกิดขึ้นและเผยแพร่ข่าวสารในลักษณะที่ไม่เป็นเอกภาพ แม้จะเป็นเจตนาดีก็ตาม แต่กลับถูกกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีนำไปขยายผล ไปปล่อยข่าวลือในลักษณะต่างๆ ว่าจะเกิดเหตุร้าย เช่น เกาะภูเก็ตจะจมในวันที่ 28 เม.ย. เป็นการทำลายบรรยากาศในการท่องเที่ยว และสร้างความตื่นตระหนก รวมไปถึงเป็นการทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของภูเก็ตและประเทศไทยด้วย คาดว่าการปล่อยข่าวลือ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้ไปยังจุดอื่นของภูมิภาคเอเชีย
**ยงยุทธ”เพิ่มเครื่องเตือนภัยแผ่นดินไหว
จากเมื่อเวลา 13.45 น. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงระบบการเตือนภัยสึนามิ ว่า ตนได้พูดคุยกับทั้งนายเรวัต อารีรอบ กับนางอัญชลี วานิชเทพบุตร ส.ส.ภูเก็ตพรรคประชาธิปัตย์ว่า มีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง ในจุดที่ต้องเฝ้าระวังและมีจุดไหนที่ต้องมีการติดตั้งเครื่องตรวจสอบแผ่นดินไหว ซึ่งพบว่า ควรเพิ่มอีกประมาณ 2-3 จุด
**อาฟเตอร์ช็อกเกินกว่า 50 ครั้งในภูเก็ต
สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 16 เม.ย.2555 เวลา 16.44 น. ขนาด 4.3 ริกเตอร์ ที่บริเวณ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งสามารถรับรู้การสั่นไหวได้ใน จ.ภูเก็ต นั้น ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาดมากกว่า 2 ริกเตอร์ ถึงเวลา 10.00 น. วันที่ 19 เม.ย. จำนวน 15 ครั้ง และยังมีอาฟเตอร์ช็อก ขนาดต่ำกว่า 2 ริกเตอร์ อีกประมาณ 50 ครั้ง
** ชี้โอกาสดินไหวใหญ่ภาคใต้น้อยมาก
นายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แผ่นดินไหว ที่ภูเก็ต เกิดจากการขยับตัวของรอยเลื่อน เทือกเขามะรุย ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปจนถึงจังหวัดพังงา ซึ่งในอดีตก็เคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้ว ทั้งนี้ อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดบ่อยครั้งนั้น ทำให้เชื่อได้ว่าโอกาสเกิดแผ่นดินไหวใหญ่จะมีน้อยลง และการเกิดแผ่นดินไหวมากกว่า 5 ริกเตอร์นั้น มีโอกาสน้อยมาก แต่คาดการณ์ไม่ได้
***เปิดศูนย์เฝ้าระวังแผ่นดินไหว
ที่เทศบาลตำบลศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดศูนย์เฝ้าระวังเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่
นายวรวุฒิ ทรงยศ นายกเทศมนตรีตำบลศรีสุนทร กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังให้กับประชาชนดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยใช้ตัวแทนในหมู่บ้าน ชุมชน ซึ่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลศรีสุนทร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้ามาเป็นเครือข่ายแกนนำในการแจ้งข้อมูลข่าวสารถึงประชาชน พร้อมกับให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหว การรับมือแผ่นดินไหว ว่าควรดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น
***สำรวจผลกระทบก่อนจ่ายค่าเสียหาย
วันเดียวกันที่ห้องประชุมอำเภอถลาง จ.ภูเก็ต นายนฤนารถ สุภัทรประทีป นายอำเภอถลาง เรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่ จากทุกตำบล เพื่อรับทราบแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 4.3 ริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ บ้านลิพอน-บางขาม หมู่ที่ 2 ต.บลศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งเหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา
นายนฤนารถ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กำนันทุกตำบล และผู้ใหญ่บ้าน ทั้ง 46 หมู่บ้าน ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม และให้รายงานเข้ามาทางอำเภอถลางภายในวันนี้ (20 เม.ย.) เพื่อที่ทางอำเภอจะได้ทำรายงานเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อของบประมาณมาทำการซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับความเสียหายต่อไป ซึ่งการช่วยเหลือประชาชนที่บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายนั้น ถ้ามีความเสียหายบางส่วนจะได้รับความช่วยเหลือหลังละ 20,000 บาท ถ้าเสียหายทั้งหลังจะได้รับการช่วยเหลือหลังละ 30,000 บาท ซึ่งในส่วนของบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายทั้งหลังตอนนี้ยังไม่มีรายงานเข้ามา