xs
xsm
sm
md
lg

จากดอกมะเขือถึงแท็บเล็ต

เผยแพร่:   โดย: ทวิช จิตรสมบูรณ์

ผมได้สำรวจหาคำวิจารณ์การแจกแท็บเล็ตแก่เด็ก ป. ๑ ในสื่อต่างๆ พบคำวิจารณ์มากหลาย แต่ในที่นี้ขอละพวกเชิงบวกไว้ เพราะก็พอรู้กันอยู่แล้ว จะเน้นที่คำวิจารณ์เชิงลบ พอสังเขป สุดท้ายผมขอร่วมแย้งด้วยคน

คำวิจารณ์มีทั้งจากหมอ ครู นักจิตวิทยา เช่น-สายตาจะเสีย-วิวัฒนาการทางกายภาพจะด้อย (เช่น การพัฒนาการเคลื่อนไหว มัดกล้ามเนื้อ)-วิวัฒนาการด้านอารมณ์จะด้อย-อาจชักนำให้ติดเกมที่เน้นความรุนแรง แล้วทำให้พัฒนาเป็นคนรุนแรงในอนาคต-อาจนำไปดูสิ่งลามกอนาจาร แล้วทำให้พฤติกรรมทางเพศผิดเพี้ยน (แม้ก่อนวัยเจริญพันธุ์)-การพัฒนาการเขียนหนังสือจะช้าลง (เพราะเอาแต่ดูหน้าจอ)-การไม่ได้เรียนรู้จากโลกจริงแต่เรียนจากโลกเสมือนจริง-ใช้งบมาก ควรเอางบไปพัฒนาอย่างอื่นที่สำคัญกว่า-ควรแจกในระดับมัธยมมากกว่า (ที่เด็กมีความยั้งคิดผิดชอบชั่วดีแล้ว)

ผมขอร่วมเสนอข้อคิดแย้งต่อการแจกแท็บเล็ตเพิ่มเติมดังนี้

1) การเอาหน้าจอมาแทนหน้าครูจะนำสู่ความ “ไม่เป็นมนุษย์” มากขึ้น เช่น

1.1 ความกระด้างจะสูงขึ้น ความอ่อนโยนลดลง เพราะขาดความอบอุ่นที่จะได้รับการสอนจากครูโดยตรง

1.2 ความเข้าใจในลำดับชั้นของมนุษย์ลดลง เช่น ศิษย์มีหน้าที่เชื่อฟังครูอาจารย์จากการที่ครูทำหน้าที่สั่งและสอนโดยตรง

1.3. ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ลดลง เพราะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนน้อยลง หันไปมองแต่หน้าจอ

2) จะทำให้ขาดความหลากหลายทางวิชาการ เพราะเด็กทุกคนในประเทศจะได้รับการ “ยัด” ความรู้แบบพิมพ์เดียวกันหมด ส่งตรงจากกระทรวงไอซีที ซึ่งถ้าข้อมูลผิด ก็ผิดไปหมดทั้งประเทศ เหมือนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หากมีเชื้อโรคก็ติดกันหมดทั่วประเทศ อาจสูญพันธุ์ได้ง่ายๆ นี่เรียกว่าเป็นการทำลาย “ภูมิคุ้มกันของประเทศ”

3) จะทำให้เด็กขาดความคิดสร้างสรรค์...เด็กวัยนี้ได้รับความรู้จากคอมพิวเตอร์ก็ไม่แคล้วบูชาว่าเป็นสุดยอด ไม่กล้าเถียงคอมพิวเตอร์ ก็ทำให้ขาดความคิดสร้างสรรค์ เพราะความคิดสร้างสรรค์มักเกิดจากการคิดแย้งหรือการกระตุ้นด้วยครู การด้อยความคิดสร้างสรรค์นี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่ออนาคตชาติ (ขนาดสอนโดยคนยังด้อยแล้ว แล้วถ้าสอนด้วยคอมฯ มันจะมิยิ่งด้อยไปใหญ่หรอกหรือ)

4) ขาดการเอาใจใส่เป็นรายคน ..การสอนด้วยคนนั้น ครูจะมองเห็นเด็กที่มีปัญหา หรือเด็กอัจฉริยะได้ ทำให้ครูสามารถเอาใจใส่เป็นรายบุคคลเพื่อแก้ปัญหา หรือช่วยเสริมให้ดียิ่งขึ้น ..แต่คอมฯ มันไม่รู้ มันทำเป็นแต่มอมเมาลูกเดียว

5) กระทรวงศึกษาฯ ถ้าจะบ๊องส์ ที่บอกว่า สาระการเรียนรู้ที่จะบรรจุลงแท็บเล็ตนั้นยกให้กระทรวงไอซีทีไปทำ ซึ่งน่าสงสัยว่าไอซีทีจะรู้เรื่องสาระ หรือจิตวิทยาเด็กด้วยหรือ ตรงนี้อันตรายมากๆ เลย ถ้ารัฐบาลคิดว่าเอาแน่ในเรื่องนี้ ถอยไม่ได้แล้ว ก็ควรให้เป็นความรับผิดชอบขององค์คณะกรรมการที่มาจากกระทรวงศึกษาฯ ร่วมกับองค์กรอิสระ ผสมตัวแทนสมาคมครูผู้ปกครอง ดีไหม ที่เป็นผู้กำหนดสาระการเรียนรู้ที่จะบรรจุลงไป “ล้างสมองเด็ก”

6) ฝังเมล็ดพันธุ์ของความ “ชุ่ย” ตั้งแต่เยาว์วัย เช่น ในการทำรายงานส่งครู ถ้าเราเขียนด้วยดินสอ ปากกา เราจะต้องคิดก่อนเขียนอย่างรอบคอบ คิดเชื่อมโยงอดีต (สิ่งที่เขียนแล้ว) มาถึงปัจจุบัน แล้วยังต้องคิดถึงอนาคตด้วย ว่าเราจะเขียนอะไรในประโยคต่อไป...ไม่เช่นนั้นจะเขียนผิด แล้วทำให้ต้องลบทิ้ง หรือขีดฆ่า (ซึ่งไม่ดี) หรือขนาดขยำทิ้งแล้วเขียนใหม่ แม้แต่การสะกดการันต์ในแต่ละคำที่เขียนก็ต้องคิดก่อนว่ามันเขียนอย่างไร แล้วบรรจงเขียนลงไปอย่างมีสติ ไม่ให้ผิด กล่าวคือ ต้องพิถีพิถันนั่นเอง

แต่ถ้าเราใช้คอมฯ ก็ไม่ต้องพิถีพิถันก็ได้ ทำเร็วๆ ชุ่ยๆ ไว้ก่อน เพราะผิดเพียงใด ก็มาลบแล้วแก้ไขได้ อีกทั้งยังมีการตัดปะ ทำให้ไม่ฝึกการเขียนเองเท่าที่ควร ซึ่งมันก็สะดวกดีอยู่หรอก แต่....แต่เราอยากปลูกฝัง “นิสัยชุ่ย” นี้ให้เด็กของเราตั้งแต่วัยเยาว์หรือ แล้วถ้านิสัยชุ่ยนี้หยั่งรากลึก แตกสาขาออกไปมากๆ จนโตขึ้นไปเป็นนักการเมืองที่เก่งเทคโนโลยีมาก แต่ชุ่ย แล้วจะไม่บริหารบ้านเมืองแบบชุ่ยๆ หรอกหรือ (ขนาดพวกที่โตมากับการบากบั่นเขียนด้วยมือยังชุ่ยปานนี้แล้วเลย ถ้าชุ่ยมากไปกว่านี้ชาติไทยจะรอดหรือ)

เทคโนโลยีนั้นมันดีเสมอ มันสะดวก ทุ่นแรง แต่ต้องชั่งน้ำหนักข้อเสียด้วย โดยเฉพาะในวัยเยาว์ที่รับรู้ได้เร็วเช่นนี้

ผมวิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเสียมากกว่าข้อดีสิบเท่า ใคร่ขอร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายนี้ แล้วโยกเงินไปทำอย่างอื่น เช่น ซื้อระบบนำเสนอด้วยคอมฯ พร้อมโปรเจกเตอร์ จอ ให้ทุก ร.ร.เพื่อใช้เป็นสื่อในการสอน อย่างนี้เรียกว่าพบกันครึ่งทาง เด็กยังได้เรียนจากครูอยู่ แต่ครูอาจล็อกเข้าไปหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต หรือจากคลังความรู้ของกระทรวงศึกษาฯ แล้วล้วงเอามานำเสนอต่อเด็กๆ ได้เป็นคราวๆ ไป

คลั่งแท็บเล็ตกันมากไป ระวังว่าต่อไปวันไหว้ครูอาจหมดความสำคัญ กลายเป็นไหว้แท็บเล็ตแทน...แล้วจะเอาอะไรไปแทนหญ้าแพรกดอกมะเขือดีล่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น