xs
xsm
sm
md
lg

"โต้ง"ไม่ขึ้นVATหวั่นกระทบราคาสินค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "กิตติรัตน์" เผยรัฐบาลชุดนี้ไม่มีแนวคิดปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ชี้ 7 % เหมาสม หากปรับขึ้นเกรงกระทบราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ภาระตกอยู่กับผู้บริโภค แต่จะเน้นวิธีการขยายฐานภาษีมาทดแทนหร้อมคุมเข้มการหลบเลี่ยงภาษี ยืนยันภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างก็ยังไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้จะไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากระดับ 7% เป็น 10% แม้จะครบกำหนดในเดือน ก.ย.55 เนื่องจากเห็นว่าอัตราภาษีในระดับปัจจุบันถือว่าเหมาะสมแล้ว แม้จะเป็นอัตราการจัดเก็บที่ต่ำสุดในโลกก็ตาม แต่รัฐบาลสามารถใช้วิธีการขยายฐานภาษีมาทดแทนเพื่อให้มีการจ่ายภาษีได้ครบถ้วน และไม่มีการหลบเลี่ยงการจ่ายภาษี
"หากปรับขึ้นจะกระทบราคาสินค้าโดยตรง เพราะภาษี VAT จะถูกส่งไปให้ผู้บริโภคทั้งหมด ดังนั้นเวลานี้จึงไม่มีเหตุผลที่จะปรับขึ้น" นายกิตติรัตน์กล่าวและกล่าวถึงการเก็บภาษีทรัพย์สิน เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่า ยังไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะพิจารณา เพราะการดำเนินการในเรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หากเป็นการเก็บภาษีจากสินทรัพย์ที่ไม่ได้สร้างรายรับจะทำให้ผู้ถือครองทรัพย์สินมีภาระในการหารายได้มาใช้จ่ายภาษีดังกล่าว
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ มี 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ภาษีเพื่อการบริโภค คือ VAT ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่มีการปรับขึ้นภาษี จากปัจจุบันที่ 7% เพราะจะกระทบราคาสินค้าโดยตรง และขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลต้องปรับขึ้น ขณะเดียวกัน ไม่มีความจำเป็นจะต้องลดภาษี VAT เพื่อช่วยลดต้นทุนและลดราคาสินค้าที่ปัจจุบันมีราคาแพงขึ้น เพราะเห็นว่า สินค้าบางประเทศมีราคาที่ต่ำก็เดิมอยู่แล้ว เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู ไข่ไก่ ซึ่งการที่ผู้ประกอบการอ้างภาระต้นทุนจากเงินเฟ้อ 2-3% ทำให้ต้องปรับขึ้นราคาสินค้า เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล เพราะถือเป็นการเพิ่มราคาเพื่อต้องการกำไรเพิ่มขึ้น แต่ยอมรับว่าสินค้าบางรายการมีราคาสูงขึ้นจากต้นทุนที่สูงขึ้นจริง
"จากการสำรวจพบว่าผู้หลบภาษี VAT เพื่อต้องการหลบภาษีเงินได้นิติบุคคล ด้วยการหลบภาษีตั้งแต่ยอดขาย ดังนั้นการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จะช่วยในการขยายฐาน VAT ได้ด้วย จึงไม่มีเหตุผลต้องขึ้นอัตราภาษี VAT" รมว.คลังกล่าว
2.ภาษีศุลกากร ขณะนี้ทั่วโลกได้มีการลดภาษีและยกเว้นภาษีศุลกากรตามข้อตกลงพิเศษระหว่างประเทศเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคการค้า แต่ก็มีผลข้างเคียงที่บางประเทศที่ต้องการช่วยเหลือคนในประเทศ จึงออกมาใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น เรื่องความไม่ปลอดภัยในธุรกิจอาหาร ความไม่เป็นมาตรฐาน ทำให้การดำเนินธุรกิจภาคเอกชนมีความลำบากเพราะต้องใช้วิธีการเดาใจเจ้าหน้าที่ศุลกากร
3.ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษี หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งไทยได้มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23% ในปีนี้ ใกล้เคียงมาเลเซียที่อยุ่ 25% แต่ยังสูงกว่าสิงคโปร์ที่อยู่ 17% อย่างไรก็ตาม การลดภาษีนิติบุคคลของไทยไม่ได้มีเจตนาที่จะจุดชนวนการแข่งขันระหว่างประเทศ แต่การมีอัตราภาษีที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้นักลงทุนต้องเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจลงทุน
4. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งทั่วโลกใช้มาตรฐานเดียวกันที่ผู้มีรายได้สูง จะต้องเสียภาษีในอัตราสูง ผู้มีรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย ดังนั้น อัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยในอัตราก้าวหน้าที่ท 0-37% ถือว่าเหมาะสม แม้จะมีผู้เรียกร้องว่าเป็นอัตราภาษีที่สูงเกินไป แต่มองว่าการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีจะต้องมีการพิจารณาทั้งระบบ ไม่สามารถแยกเป็นรายกรณีใด เพราะจะมีผลต่อพฤติกรรม
นอกจากนี้ยังมีภาษีสรรพสามติรถยนต์ น้ำมัน ที่จะต้องจัดเก็บภาษีเพื่อนำรายได้ไปปรับปรุงระบบคมนาคม ส่วนภาษีสุรา ยาสูบ ถือเป็นการบริโภคสินค้าที่ไม่จำเป็น จึงต้องเก็บภาษีเพื่อนำรายได้ส่งเข้ากองทุนส่งเสริมสุขภาพ และเพื่อดูแลด้านสาธารณสุข.
กำลังโหลดความคิดเห็น