ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ทุกครั้งที่รัฐบาลภายใต้การบงการของทักษิณ ขึ้นมาบริหาร จะมีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรสื่อตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสื่อของรัฐ หรือองค์กรสื่อของเอกชน
เหตุผลสำคัญก็คือ ทักษิณและเครือข่าย เติบโตมากับการ “สร้างภาพลักษณ์” และการใช้ทุ่มโฆษณามาตั้งแต่ตั้งบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ และไอบีซี
ยิ่งทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ความจำเป็นในการโหมโฆษณา ยิ่งมีมากขึ้น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เสพโฆษณา และแฟชั่นเป็นหลัก
ความทันสมัยกลายเป็น “ประเด็น” ที่มีความสำคัญอันดับแรกของการมีโทรศัพท์
เหมือนกับสมาร์ทโฟน ในปัจจุบัน
นั่นทำให้ ทักษิณ ต้องควบคุมสื่อให้ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
การเปลี่ยนแปลง “ประธานบอร์ด” ของบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) โดยส่ง จักรพันธุ์ ยมจินดา ไปนั่งทำหน้าที่รองประธานกรรมการ เพื่อดูนโยบายให้สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล
กำลังผลิดอกออกผลเป็น “ทีวีสีแดง”
อดีตผู้ประกาศข่าวที่วางกลยุทธ์ด้านข่าวไม่เป็นอย่าง จักรพันธุ์ ก็แสดงบทบาท “เกินหน้าที่” รองประธานกรรมการ
จักรพันธุ์ กร่างขนาดคิดว่า เป็น “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับการแต่งตั้ง
เขาประกาศว่า บอร์ดชุดนี้จึงต้องการให้ความสำคัญด้านการข่าวให้กลับมาแข็งแกร่ง และสามารถเพิ่มสัดส่วนผู้ชมอย่างน้อยอีกเท่าตัว หรือกลับมาเป็นผู้นำให้ได้อีกครั้ง เพราะช่อง 9 มีความแข็งแกร่งทางด้านข่าวค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันกลับมาแชร์อยู่ในอันดับ 3
รองประธานกรรมการในขณะนั้น บอกว่า กลับไปศึกษา และพิจาณาถึงจุดแข็งจุดอ่อนของ อสมท ว่ามีอะไรบ้าง เพื่อนำมาผลิตนโยบายที่จะต้องพัฒนาให้ อสมท ก้าวสู่ผู้นำด้านการข่าวอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ วิธีการนำเสนอ เป็นต้น
หลังจากนั้น จักรพันธุ์ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ “รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท”
ยิ่งทำให้จักรพันธุ์ แสดงบทบาท “นักบริหาร” มือสมัครเล่นมากขึ้น
เขาบอกว่า ในวันที่ 25 เมษายนนี้ จะเป็นวันจัดงาน 60 ปี ไทยโทรทัศน์ 35 ปี อสมท และมีแนวคิดที่จะปรับโฉมข่าวของสำนักข่าวไทย ด้วยการเพิ่มเทคโนโลยีนำเสนอด้วย วิดีโอวอลล์ ความยาวถึง 20 เมตร ซึ่งมีขนาดยาวที่สุดในโลก โดยทำสัญญาเช่ากับ บริษัท วิชอาร์ที ปีละ 60 ล้านบาท พร้อมเสริมทัพทีมข่าวสำนักข่าวไทย เปิดตัวทีมข่าวเฮลิคอปเตอร์ Bird's Eye News และการจัดทำ MCOT POLL
นอกจากนี้ จะมีการปรับโฉมช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียมใหม่ทั้ง 2 ช่อง โดยเริ่มจากช่อง MCOT 1 จะมีการปรับรายการใหม่ เพื่อเสริมสาระความรู้ให้แก่ผู้ชม ทั้งนี้ MCOT 1 มีแผนที่จะสร้างนักข่าวพลเมือง ภายใต้โครงการ Global News อาเซียนทีวี (Mcot 2) จะปรับปรุงเช่นเดียวกัน ซึ่งปีนี้ อสมท จะใช้งบลงทุนทั้งหมด 600 ล้านบาท ในการปรับปรุงระบบทั้งหมด รวมทั้งการออกอากาศ โดยจะเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในวันที่ 25 เม.ย. นี้
จักรพันธุ์ ตั้งเป้าว่า สำนักข่าวไทย จะมีสถานะเทียบเท่าสำนักข่าวระดับโลก เช่นเดียวกับ บีบีซี, ซีเอ็นเอ็น มีการปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ อสมท จะเป็นโทนสีแดง เพราะจากผลการสำรวจพบว่า เป็นสีที่สดใส โดย อสมท ได้ว่าจ้างให้บริษัทฯ ภายนอก เป็นผู้ออกแบบโลโก้ ซึ่งมีแนวคิดการออกแบบที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการรับฟังความเห็นของคนในองค์กร ก่อนที่จะนำมาใช้อย่างเป็นทางการ
“ ขอยืนยันไม่มีเจตนาเอนเอียงการเมืองแต่อย่างใด สีแดงในโลโก้ เป็นการสื่อสารถึงเนื้อหาที่ครอบคลุมทั่วโลก การเดินทางรอบโลกอย่างรวดเร็ว โดยยังคงความเป็นตัวเลข 9 อยู่ จะเริ่มนำมาใช้ 25 เม.ย.นี้ กับช่วงรายการข่าวค่ำ และรายการข่าวช่วงต่างๆ ของทางสถานี อย่างไรก็ตาม อสมท ยังคงใช้โลโก้ อสมท เป็นโลโก้หลักเช่นเดิม โลโก้ใหม่ จะใช้สำหรับหน้าจอข่าว รวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ ของ อสมท ที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น”
ไม่แน่ใจว่า จักรพันธุ์คิดด้วยตัวเองหรือลอกความคิด “สำนักข่าวระดับโลก” ของใครมา
แต่ถ้าใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวของ อสมท แนวทางการผลักดันให้ อสมท เป็นสำนักข่าวแบบบีบีซี นั้นมีมานานแล้ว
คนที่พูดชัดเจนมากคนหนึ่ง เพราะเคยทำงานพาร์ทไทม์ ที่บีบีซี ก็คือ “สรจักร เกษมสุวรรณ” อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
แต่ก็ไม่เป็นโล้เป็นพาย เมื่อนั่งบริหาร
ปัจจุบันกำลังทำหน้าที่ “ประธานกรรมการ อสมท”
จักรพันธุ์ จำคำพูด สรจักร หรือลอกแนวทางบริหาร มาหรือเปล่า ไม่มีใครตอบได้ แต่ถ้ามีระบบการตรวจสอบการทำงานแบบบอร์ดชุดก่อน
จะบอกได้ว่า จักรพันธุ์ ลอกการบ้านของใครมา ??
ที่สำคัญหลังจากนั้นทุกคนที่เข้ามาบริหาร ก็ใช้สูตรเหมือนกันหมดก็คือ เปลี่ยนโลโก้
คิดอะไรไม่ออก ก็เปลี่ยนโลโก้...มันง่ายดี
เหมือนอาหารตามสั่ง ข้าวผัดกระเพรา...จนคนทั่วไปเรียกว่า อาหารสิ้นคิด
หรือทุกวันนี้ ถ้าใครอยากทำธุรกิจ ก็ทำ “ธุรกิจสิ้นคิด” แบบร้านกาแฟ เพราะไม่ต้องใช้สมองคิดอะไรมากมาย
แผนธุรกิจสิ้นคิดของ อสมท จึงออกมาที่เปลี่ยนโลโก้ ปรับรายการ
โดยไม่ได้ตอบโจทย์การทำธุรกิจ นั่นคือ จะทำให้ “รายได้และกำไร” ของอสมท เพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร
ที่สำคัญ “ผู้มีส่วนได้เสีย” (จักรพันธุ์ ก็ไม่รู้จักอีก) ได้รับประโยชน์จากแผนธุรกิจสิ้นคิดอย่างไร !!!
นอกจากจะให้ประโยชน์แก่พรรคพวกของตัวเอง โดยมีข่าวลือ ผู้ที่ออกแบบโลโก้ใหม่ของ อสมท คือลูกสาวของนายจักรพันธุ์เอง
นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าจะปรับผังรายการใหม่ โดยจะปรับรายการบางส่วนออก โดยเฉพาะในกลุ่มรายการข่าว โดยให้พรรคไปจัดตั้งบริษัท มาเสนอรายการข่าว “ยืนยันว่าจะไม่ใช้องค์กรสื่อสารมวลชนแห่งนี้ ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มาเป็นสนามเพื่อพรรคการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด” จักรพันธุ์ อธิบายแบบท่องจำนักการเมืองมา
สถานะการเงินของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในปี 2554 ปรากฏว่า มีกำไรสุทธิ 1,376 ล้านบาท ลดลง 5 % จากปี 2553 ที่มีกำไร 1,423 ล้านบาท มาจากการลดลงของรายได้ทุกธุรกิจ โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ทำให้รายได้จากค่าโฆษณาทั้งปีหายไป 15 %
ทำให้รายได้โทรทัศน์ลดลง 4 % จากปีก่อน ส่วนรายได้จากวิทยุก็ลดลง 5 % ตามงบโฆษณาที่หายไป หลังมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น จากการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ เช่น โทรทัศน์ดาวเทียม และสื่ออินเตอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทยังมีมติจ่ายเงินปันผลตามปกติ ออกมาที่อัตราหุ้นละ 1 บาท ซึ่งจะมีการปิดสมุดพักทะเบียนโอนหุ้น 19 มีนาคม และจะจ่ายปันผลวันที่ 17 พฤษภาคม ทั้งนี้บริษัทได้มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้ว ที่อัตราหุ้นละ 1 บาท รวมทั้งปีจ่ายปันผลแล้ว 2 บาทต่อหุ้น
นั่นหมายความว่า ผู้ถือได้เงินปันผลจาก อสมท ในปี 2554 ทั้ง 2 บาท
แล้วถ้าจักรพันธุ์ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จริงๆ จะสามารถบริหาร อสมท ให้จ่ายเงินปันผลในจำนวนเดียวกันนี้ได้หรือ
อย่าลืมว่า อสมท เป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ปัจจุบันบอร์ด อสมท ทั้งหมดเป็นคนใหม่ ไม่มีเงาคนเก่าในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์เหลืออยู่เลย ประกอบด้วย ประกอบด้วย 1. นายสรจักร เกษมสุวรรณ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อสมท 2. นายจักรพันธุ์ ยมจินดา อดีตประธานบริหาร บริษัท แมกซิมา สตูดิโอ จำกัด ซึ่งได้ลาออกจากการทำงานในแมกซิมา และการเป็นพิธีกรในรายการทางช่อง 11 แล้ว โดยทั้ง 2 คน เข้ามาเป็นกรรมการในสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อมวลชน
3. นายประเสริฐ เกษมโกเมศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี.พี.แอสเซ็ทส์ จำกัด ในสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวะ 4. นายเข็มชัย ชุติวงศ์ รองอธิบดีอัยการฝ่ายปรึกษา สำนักงานอัยการสูงสุด 5. นายสุธรรม ศิริทิพย์สาคร กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส แอสเสทส์ จำกัด บริษัทในเครือของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี
6. นายเปรมกมลย์ ทินกร ณ อยุธยา เจ้าของสำนักงานทนายความ เข้ามาในสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 7. นายบุญธรรม พิกุลศรี ที่ปรึกษา บริษัท อะโกร มีเดีย จำกัด แทนนายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ดูแลสายงานกฏหมาย และสังคม 8. พลตำรวจเอก ภาณุพงศ์ นามสกุล สิงหรา ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทน นายนัที เปรมรัศมี ดูแลสายงานการปกครอง และบริหารการจัดการ
9.นางญาใจ พัฒนสุขวสันต์ ผู้อำนวยการ สำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง แทน นางดนุชา ยินดีพิธ ดูแลสายงานบริหารจัดการ และบัญชีการเงิน 10. สุรชัย โฆษิตเสรีวงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบัญชีและการเงิน บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) แทน นายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท ดูแลสายงานเศรษฐกิจ และบัญชีการเงิน 11.นายสุระ เกนทะนะศิล
โดย 6 คนแรก เข้ามาก่อนเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.54 หลังจาก ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ถูกกดดันให้ลาออกก่อนครบวาระ ในเดือนเมษายน 54 หลังจากนั้น อีก 4 คน จึงเข้ามาเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา
บอร์ดทั้งหมดนี้ จะต้องรับผิดชอบรายได้รวม 5,373 ล้านบาทในปี 2554 ซึ่งลดลง 1 % เมื่อเทียบกับปี 2553
ไม่ใช่รับผิดชอบ “ภาพลักษณ์” ของพรรคเพื่อไทย หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่คาดหวังร่ำรวยจากการโกงโครงการของอสมท แล้วประจบเจ้านาย