xs
xsm
sm
md
lg

โบนัสแดงเผาเมือง ครม.ไฟเขียวจ่าย2พันล้าน ปชป.ยื่นศาลปกครองสั่งระงับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-ครม.ไฟเขียวโบนัสเผาเมือง 2 พันล้าน เปิดให้ยื่นเรื่อง 8 มี.ค.นี้ "ยิ่งลักษณ์" เตรียมส่งสาส์นแสดงความเสียใจ พร้อมแจ้งญาติช่างภาพญี่ปุ่นเหยื่อชุมนุมแดงมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาด้วย ยันไม่ทิ้งเหยื่อไฟใต้ ระบุกำลังทำในหลักการเดียวกัน "สาธิต"ยื่นศาลปกครองขอไต่สวนฉุกเฉิน ระงับจ่ายเยียวยาแดง 7.75 ล้าน ยันต้องพิสูจน์ก่อนจ่าย พร้อมเดินหน้าฟันอาญา ม.157 ซ้ำ

นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมอนุกรรมการเยียวยาทางแพ่งและฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่น ในคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (6 มี.ค.) ว่า ตามที่ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบหลักเกณฑ์การเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือความขัดแย้งทางการเมืองให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม ตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน ภาคเอกชน รวมถึงครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวจากการชุมนุมทางการเมืองระหว่างปลายปี 2548 จนถึงเดือนพ.ค.2553 โดยอัตราการจ่ายเงิน กรณีเสียชีวิต 4,500,000 บาท และเงินช่วยเหลือสำหรับค่าปลงศพจำนวน 250,000 บาท และอัตราการช่วยเหลือทางด้านจิตใจ อยู่ที่ 3,000,000 บาทต่อราย รวมเงินเยียวทั้งหมดเป็น 2,000 ล้านบาท ในระยะแรก ส่วนผู้ที่เคยได้รับเงินเยียวยาจากทางภาครัฐในส่วนอื่นแล้ว ให้นำหลักฐานที่มาหักออกจากเงินเยียวยาที่ได้รับในครั้งนี้

"ที่ประชุมสรุปว่า จะเรียกเงินที่จ่ายตรงนี้ว่า เงินช่วยเหลือเยียวยาการเงินตามหลักมนุษยธรรม โดยสามารถจะดำเนินการได้มากน้อย ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจของคณะทำงาน แต่การจ่ายเงินเยียวยาในครั้งนี้ จะไม่ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อรับผิดชอบทางกฎหมาย การจ่ายเงินจะไม่ถือว่าเป็นเงินมรดก ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง เช่น ทำมาหากินไม่ได้ หรือได้รับผลกระทบทางด้านอื่นๆ ซึ่งทางคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจและค้นหาความจริง เพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) จะพิจารณาตามลำดับหลักเกณฑ์ต่อไป"นายธงทองกล่าว

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้แบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ที่เสียชีวิต บาดเจ็บ หรือทุพพลภาพ แต่การอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาจะไม่ครอบคลุมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ยังมีคดี อาญาติดตัว และคดีความยังไม่ถึงที่สิ้นสุด

ส่วนเรื่องของวิธีการจ่ายเงินเยียวยาทางจิตใจ จะพิจารณาจ่ายเป็นเงินสดก้อนแรก 3 ล้านบาท และในส่วนที่ 2 อีก4.5 ล้านบาท จะพิจารณาเป็นรายบุคคลเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยจะจ่ายเป็นแบบพันธบัตรรัฐบาล และแบบสลากออมสิน ซึ่งเหตุผลเพราะทางคณะทำงานเห็นว่า ถ้าจ่ายเป็นเงินก้อน อาจจะเกิดผลกระทบกับผู้รับที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะได้

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการให้นำหลักฐานมารับเรื่องในวันที่ 8 มี.ค. ที่บ้านเด็กหญิงราชวิถี โดยกระทรวงพัฒนาความั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ นายธงทองย้ำว่า การจ่ายเงินเยียวยาในครั้งนี้ จะไม่มีการจำกัดว่าเป็นคนกลุ่มใด สีใด ส่วนช่างภาพชาวญี่ปุ่น และชาวอิตาลี ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ก็เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ด้วย และจะมีการดำเนินการติดต่อสถานทูตทั้ง 2 ประเทศ ให้รีบติดต่อทางญาติให้ได้รับทราบต่อไป

** ขอรับเยียวยาตั้งแต่8 มี.ค.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ สามารถไปยื่นคำร้องเพื่อลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาได้ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.เป็นต้นไป ได้ที่สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี โทร.0-2659-6261 ซึ่งมีเอกสารประกอบคำร้อง ได้แก่

1.สำเนาบัตรบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ได้รับเงินเยียวยา และของผู้ได้รับมอบอำนาจ
2.สำเนาทะเบียนบ้านของประชาชนของผู้ได้รับเงินเยียวยา และของผู้ได้รับมอบอำนาจ
3.หนังสือมอบอำนาจ
4.สำเนาใบมรณะบัตรของผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 กรณีผู้เสียชีวิต
5.ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 ได้รับบาดเจ็บ หรือสูญเสียอวัยวะ
6.ใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาล แสดงจำนวนเงินค่าพยาบาล 7
7.เอกสารแสดงตนผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาว่ามีความเกี่ยวข้องกับผู้เสียหาย

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาคงจะใช้เวลาระยะหนึ่ง กรณีที่เอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วน ทาง ปคอป. จะพิจารณาถึงความเหมาะสมว่า เพียงพอต่อกาพิสูจน์สิทธิได้รับเงินเยัยวยาตามหลักเกณฑ์นี้หรือไม่

** "ปู"ส่งสาส์นเสียใจถึงญาติสื่อญี่ปุ่น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือชดเชยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองว่า ที่ประชุมครม.อนุมัติในหลักการแล้ว แต่ขั้นตอนการเบิกจ่าย เป็นเรื่องของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) จะเป็นผู้พิจารณาต่อไป

ส่วนการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ จะมีสาส์นในนามของตนเอง แสดงความเสียใจกับญาติของช่างภาพญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในเหตุการณ์การชุมนุมด้วย ซึ่งเขามีสิทธิได้เงินเยียวยาเหมือนกับที่คนอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ ตนคงไม่ได้ไปเจอกับญาติช่างภาพญี่ปุ่นด้วยตนเอง เพราะคิวงานแน่นมาก พร้อมกันนี้ จะแจ้งรายละเอียด และประสานเรื่องการจ่ายเงิน ซึ่งต้องหารายละเอียดของทายาทที่ได้รับหนังสือด้วย

สำหรับงบประมาณที่จะจ่ายเยียวยา ขณะนี้พร้อมแล้ว โดยการจ่ายจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นการเยียวยาช่วยเหลือด้านจิตใจ อีกส่วนคือการดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งรายละเอียดทางคณะกรรมการฯ จะแถลงข่าวชี้แจงให้ทราบ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านจะไปยื่นศาลปกครอง เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว จะเป็นอุปสรรคหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า วันนี้คงต้องดู แต่ในส่วนของคณะกรรมการฯ คงจะดำเนินการไปตามปกติ ซึ่งจริงๆ แล้ว เรื่องการช่วยเหลือเยียวยา เราช่วยเหลือทุกกลุ่ม ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตั้งแต่เรื่องการประท้วงปิดสนามบิน รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย ถือเป็นการเยียวยาที่ครอบคลุมถึงทุกกลุ่มจริงๆ ไม่ใช่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ส่วนกรณีเยียวยาเหยื่อเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จะมาอีกชุดหนึ่ง แต่หลักการไม่ต่างกัน ซึ่งต้องให้คณะกรรมการอีกชุดดำเนินการส่งเรื่องเข้ามา ขณะนี้เขากำลังประชุมกันอยู่

**ปชป.ร้องศาลปกครองเบรกจ่ายเงิน

นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ได้เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ในวันที่ 8 มี.ค.นี้ เพื่อให้เพิกถอนมติ ครม. วันที่ 6มี.ค. ที่อนุมัติงบประมาณ 2 พันล้านบาท เยียวยาการชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 48-54 พร้อมกับขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อระงับการใช้มติ ครม. ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ และขั้นตอนของกฎหมาย แต่เป็นการจ่ายเงินให้กับพรรคพวกตัวเอง ทำให้เกิดความไม่เสมอภาค และไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นการกระทำความผิดตาม มาตรา 9 ของ พ.ร.บ.วิธีจัดตั้งศาลปกครอง และเตือนครม.ว่าควรชะลอการจ่ายเงินออกไปก่อน เนื่องจากหากมีการจ่ายเงินทันที ตามที่มีข่าวออกมาโดยไม่มีกฎหมาย หรือระเบียบใดมารองรับ ก็จะถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งตนจะยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช. อีกคดีหนึ่งด้วย

การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองครั้งนี้ ไม่ถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำ แต่เป็นการฟ้องมติครม.ใหม่ ไม่ใช่มติครม.เดิมเมื่อวันที่ 10 ม.ค.55 โดยจะมีการเพิ่มประเด็นในการบรรยายฟ้อง เพื่อให้ศาลเห็นถึงมติครม.ดังกล่าว ที่อ้างว่าจะไม่มีการเยียวยาผู้กระทำความผิดกฎหมาย แต่จะจ่ายเงินให้กับผู้เสียชีวิตก่อน ซึ่งถือเป็นกลลวง เพราะในกฎหมายอาญาระบุว่า เมื่อผู้กระทำความผิดเสียชีวิต คดีอาญาจะถูกระงับโดยอัตโนมัติ ดังนั้น หากมีการจ่ายตามกฎเกณฑ์ของ พ.ร.บ.กระทรวงยุติธรรม หรือ พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยที่ช่วยเหลือราชการ ปี 2543 ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ จะต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เพราะหากผู้เสียชีวิตอยู่ในกลุ่มของผู้ที่ทำผิดกฎหมาย เช่น ร่วมก่อเหตุเผาเซ็นทรัลเวิลด์ หรือ กรณีบุกไปเผาบ้านนายประจักษ์ แก้วกล้าหาญ อดีต รมช.คมนาคม แต่ถูกเจ้าของบ้านยิงสวนออก มาเพื่อปกป้องทรัพย์สินของตัวเองจนเสียชีวิต ก็ถือว่าเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ไม่ควรได้รับการเยียวยา สิ่งเหล่านี้จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพิสูจน์ความจริง ก่อนที่จะนำงบประมาณจากภาษีประชาชนไปใช้

"จะมาพูดว่าไม่จ่ายให้คนทำผิดกฎหมาย เพื่อตบตาสังคมไม่ได้ ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า คนเหล่านั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือไม่ ถึงแม้ว่าจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม ถ้าเขาทำผิด เขาไม่ควรได้รับการเยียวยา หลัก คือ ผมไม่เห็นด้วยกับคนที่เผาบ้านเผาเมือง แล้วได้เงิน เพราะแตกต่างจากเหตุการณ์ กรือเซะ ตากใบ และความไม่สงบในภาคใต้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หมายความว่า จ่ายให้ผู้ได้รับผลกระทบจากทั้ง 3 เหตุการณ์ แล้วคนเผาเมืองก็ได้ด้วย เนื่องจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง ศาลระบุชัดว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย และยังมีการทำความผิดด้วย จึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน รวมทั้งการจ่ายเงินเยียวยา ไม่จำเป็นต้องเท่ากันทุกกรณี แต่ควรจ่ายตามฐานะ อาชีพ และอายุ การจ่ายเท่ากันทั้งหมด 7.75 ล้านบาท จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานของการจ่ายเงินให้กับบุคคลที่รัฐบาลต้องการจะจ่าย ซึ่งไม่ถูกต้อง" นายสาธิต กล่าว

** จ่ายเงินให้ญาติช่างภาพญี่ปุ่นผิด

นายสาธิตยังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่านายกรัฐมนตรีเตรียมนำเงินเยียวยาตามมติครม.ดังกล่าว ไปจ่ายให้กับญาติของช่างภาพญี่ปุ่น ที่เสียชีวิตในเหตุความไม่สงบเดือนเม.ย.53 ว่า หากมีการจ่ายเงินจริง ก็ต้องถือว่าเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นายกฯ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพราะแม้ว่าช่างภาพคนดังกล่าวจะเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งตนเห็นด้วยว่า สมควรได้รับการเยียวยา แต่จะได้เท่าไร อย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้านายกฯ จ่ายเงินโดยไม่มีหลักเกณฑ์รองรับ ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็เป็นการทำผิดกฎหมายอาญา

ทั้งนี้ ตนมั่นใจว่าการยื่นร้องต่อศาลปกครองครั้งนี้จะไม่ถูกยกคำร้องเหมือนคราวที่แล้ว เนื่องจากมติ ครม.วันที่ 6 มี.ค. ได้อนุมัติงบประมาณ 2 พันล้านบาท ถือว่าเป็นกฎแล้ว คือ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ แตกต่างจากมติครม. 10 ม.ค. ที่อนุมัติแค่หลักการ และจะชี้ให้ศาลเห็นว่า การเยียวยาครั้งนี้ เป็นการเลือกปฏิบัติ มีการกำหนดธงล่วงหน้าว่า ต้องจ่ายเงินให้กับคนของตัวเอง ตามที่มีการหาเสียงไว้ จากนั้นมาหาระเบียบรองรับในภายหลัง ทำให้จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้คำจำกัดความในการเยียวยาอย่างไร เช่น การกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ทำให้ยังมีความสับสนอยู่

**ถูกข่มขู่ที่ขวางจ่ายเงินเสื้อแดง

นายสาธิตกล่าวว่า ไม่กังวลกรณีที่พรรคเพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดง โจมตีการยื่นฟ้องครั้งนี้ว่า เป็นการขัดขวางการเยียวยาคนเสื้อแดง เพราะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งหากเปรียบเทียบการทำหน้าที่ของนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ขณะเป็นฝ่ายค้าน มีการยื่นเรื่องร้องเรียนกว่า 700 เรื่อง โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยอมรับการตรวจสอบ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ก็คิดว่าประชาชนจะใช้วิจารญาณตัดสินได้ว่า พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์หรือไม่ ซึ่งแตกต่างจากการทำหน้าที่ของตนที่ออกมาปกป้องไม่ให้มีการใช้ภาษีของคนทั้งประเทศไปสนองตอบคนของตัวเองกลุ่มเดียว จึงไม่สนใจการบิดเบือนของเท็จจริงของพรรคเพื่อไทย

"มีการข่มขู่ผมหลายรูปแบบ ทั้งโทรศัพท์ จดหมาย และเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่ไม่เป็นไร เพราะถือว่าคนเสื้อแดงที่ทำผิดกฎหมาย ไม่ใช่พ่อผม ผมดำเนินการตามสิทธิ ซึ่งส.ส.มีหน้าที่ปกป้องประโยชน์ประชาชน ทุกอย่างที่ผมทำมีกฎหมายรองรับ และทำเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ได้ทำเพื่อคนส่วนน้อย ที่ทำผิดกฎหมาย"นายสาธิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น