xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (40)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

*เมื่อบุพการีเปลี่ยนไปกับความสำคัญของศาสตร์ชะลอวัย*

แม้แต่สังคมไทยของเราเองก็กำลังมุ่งหน้าไปสู่ “สังคมผู้สูงวัย” ซึ่งเป็นแนวโน้มของโลก เนื่องจากในยุคนี้ มนุษย์มีอายุยืนยาวกว่าเดิม และประชากรผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก กลุ่มโรคสมองเสื่อมจึงพบได้บ่อยมากขึ้นทุกที และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนไทยทุกระดับมากขึ้นเรื่อยๆ

ใครจะคาดคิดว่า สักวันหนึ่งเราอาจจะเห็นคนที่เรารักและรักเรา กลายเป็นคนแปลกหน้าไป พูดจากันไม่รู้เรื่องเพราะสมองของเราเลอะเลือน

ใครจะคาดคิดว่า สักวันหนึ่ง ญาติผู้ใหญ่แสนดีของเรา จู่ๆ ก็เปลี่ยนไปกลายเป็นคนไม่มีเหตุผล เจ้าอารมณ์ขึ้นมาเฉยๆ บางทีก็หาว่าลูกหลาน คนดูแลขโมยข้าวของ ไม่ให้ข้าวให้น้ำ จำอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ อาจเกิดกับใครก็ได้ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ก่อให้เกิดทุกข์แสนสาหัสกับตัวผู้นั้นเองและคนรอบข้าง

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในยุคปัจจุบัน ช่วยให้คนเรามีอายุยืนยาวกว่าในอดีตก็จริง แต่การที่คนเราสามารถยืดอายุให้ยืนยาวออกไปได้ ร่างกายก็ต้องเผชิญหน้ากับความเสื่อมถอยต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสื่อมของสมอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ อัตราการเพิ่มของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวกับยอดผู้สูงอายุในสังคมไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปัญหาดังกล่าว จึงเป็นภาระของครอบครัวและภาระโดยรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งในเรื่องการดูแล และค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยที่บุคคลทั่วไปในสังคมไทยยังมีความรู้ความเข้าใจโรคสมองเสื่อมไม่มากนัก

เราจะทำอย่างไร หากคุณแม่ของเราเปลี่ยนไป จากผู้หญิงเก่งคนหนึ่งที่เคยเลี้ยงดูลูกหลานในครอบครัวให้ร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา แต่แล้วเมื่อคุณแม่อายุมากขึ้น ท่านกลับกลายเป็นคนขี้หลงขี้ลืมเป็นประจำ พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก อารมณ์ก็เปลี่ยนไปเป็นคนขี้หงุดหงิด ฉุนเฉียวมีอาการซึมเศร้า และร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ นอกจากนี้ ท่านยังมีอาการทางจิตประสาทหลงผิด เช่น คิดว่าคนดูแลเป็นขโมยที่เข้ามาในบ้าน คิดว่ามีใครขโมยของไป คิดว่าต้องไปทำธุระข้างนอก ทั้งๆ ที่ไม่มีธุระแต่อย่างใดเลย บางครั้งก็มีอาการประสาทหลอน มองเห็นภาพหรือได้ยินเสียงไปเอง

เราจะทำอย่างไร หากบุคลิกภาพของคุณแม่ของเราเปลี่ยนไปจากคนที่เคยใส่ใจตนเอง ก็กลายเป็นไม่สนใจดูแล ไม่ยอมไปสระผมหรืออาบน้ำ บางทีก็เอาเสื้อผ้าที่ใส่แล้วนำมาแขวนไว้ แล้วนำกลับมาใส่อีกซ้ำๆ ซากๆ ไม่ยอมซัก แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน ผู้เขียนหนังสือ “ยืดอายุสมอง” (สำนักพิมพ์ more of life, พ.ศ. 2551) และเป็นนายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ประเทศไทยบอกว่า ผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมจะเสียความสามารถทางการรับรู้ และกระบวนการคิด โดยอาการจะเริ่มต้นจากความจำเสื่อมเป็นอันดับแรก คนไข้โรคสมองเสื่อมจะเป็นมากหรือน้อยนั้น แบ่งอาการได้ออกเป็น 4 ระยะด้วยกัน

ระยะเริ่มต้น จะสังเกตได้ว่ามีอาการหลงๆ ลืมๆ หลงทิศทาง มีอารมณ์แปรปรวน ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ได้

ระยะที่สอง เป็นระยะรุนแรงปานกลาง ความจำจะเสื่อมมากขึ้น มีอารมณ์เศร้าซึม มีพฤติกรรมแปลกๆ มีปัญหาเรื่องการนอน บวกกับอาการหลงผิด ประสาทหลอน บุคลิกเปลี่ยนไป

ระยะที่สาม เป็นระยะที่อาการหนักมากแล้ว จะมีปัญหาเรื่องภาษาสื่อสารไม่ได้ พูดน้อยลง หรือพูดแล้วแต่ไม่เข้าใจ บอกเรื่องการขับถ่ายไม่ได้ และมักจะอยู่เฉยๆ ไม่ค่อยเคลื่อนไหว

ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีคนคอยดูแลป้อนข้าว ป้อนน้ำ จัดการเรื่องกิจวัตรประจำวันต่างๆ ทั้งเรื่องความสะอาด การขับถ่าย รวมทั้งเรื่องสุขภาพร่างกายด้วย

หากผู้ใดมีบุพการีเป็นโรคสมองเสื่อม โดยที่โรคนี้เมื่อเป็นแล้วไม่มีทางรักษาให้หายได้ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด ก็คือ ต้องพยายามทำให้บุพการีของตนประคองอาการโรคสมองเสื่อมให้อยู่ในระยะที่สองได้ยาวที่สุดเท่าที่จะยาวได้เท่านั้นเอง

โรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่คนวัย 65 ปีขึ้นไปเป็นกัน โดยโรคสมองเสื่อมที่ผู้คนส่วนใหญ่เป็นกันมากที่สุดคือ อัลไซเมอร์ และหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งเป็นแล้วไม่หาย ยังไม่มียารักษา มีแค่ยาช่วยประคองอาการของโรคเท่านั้นเอง ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงมีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์มากกว่าผู้ชาย ในสหรัฐอเมริกา มีคนไข้โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากอัลไซเมอร์ราวๆ 50-70% ของคนไข้โรคสมองเสื่อมทั้งหมด รองลงมาเกิดจากปัญหาหลอดเลือดสมองตีบ

สำหรับกรณีของประเทศไทย ถ้าดูจากตัวเลขคนไข้ในโรงพยาบาลของรัฐจะพบคนไข้โรคสมองเสื่อมจากปัญหาหลอดเลือดสมองตีบมากกว่าอัลไซเมอร์ โดยที่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาหลอดเลือดสมองตีบคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน

กล่าวในแง่นี้ จะเห็นได้ว่า ในกรณีของประเทศไทยโรคสมองเสื่อมส่วนใหญ่ที่มีสาเหตุมาจากปัญหาหลอดเลือดสมองตีบ เป็นโรคที่เราสามารถป้องกันได้ ถ้าหากเราดูแลรักษาตัวเองให้ดีตั้งแต่ตอนยังหนุ่มสาว และในวัยกลางคน

สิ่งที่คนทั่วไปมักขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลบุพการี หรือญาติผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมก็คือ การตระหนักได้ว่า การดูแลและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ป่วย เป็นโรคสมองเสื่อมนั้นเป็นบททดสอบจิตใจที่ยากยิ่ง ก่อนอื่นเราจะทำใจอย่างไร ถ้าคนที่เรารักเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เราจะเข้าใจ เปิดใจยอมรับเขาได้ไหม เราจะยังรักเขาอยู่หรือไม่ ถ้าเขาแสดงพฤติกรรมที่เรายอมรับไม่ได้ พูดกันไม่เข้าใจ และอาจจำไม่ได้เลยแม้แต่น้อยว่าเราเป็นใคร

สิ่งที่แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม มักพบเห็นอยู่เสมอก็คือ เมื่อญาติสนิทคนใกล้ชิดหรือลูกๆ หลานๆ เห็นผู้สูงอายุเปลี่ยนไปจากเดิมมักจะเกิดความเข้าใจผิดว่า ท่านแกล้งทำ โกหก พูดไม่รู้เรื่องแล้วพาลโกรธ หงุดหงิด รำคาญใจที่ท่านหลงลืมโดยคิดว่าท่านแสร้งทำเหมือนเรียกร้องความสนใจ โดยหารู้ไม่ว่า ความจริงแล้ว ทั้งหมดนี้คืออาการเจ็บป่วยที่ญาติและลูกหลานต้องทำความเข้าใจ หากไม่เข้าใจ ทำใจไม่ได้ ปรับตัวไม่ได้ และไม่ยอมรับว่า ท่านมีปัญหา และควรได้รับการดูแล ผู้นั้นก็อาจจะทั้งรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ และสับสนว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี ใครจะเป็นคนดูแล ผู้นั้นอาจเกิดความรู้สึกโกรธไปหมด โกรธทั้งโรคสมองเสื่อม โกรธทั้งโชคชะตาตัวเอง ดีไม่ดีอาจพาลโกรธคนไข้ไปด้วย

เมื่อบุพการีหรือญาติผู้ใหญ่เป็นโรคสมองเสื่อม สิ่งที่ต้องดูแลจึงไม่ใช่แค่ผู้ป่วยเท่านั้น ญาติของผู้ป่วยที่ต้องเป็นผู้ดูแล ก็ควรได้รับการเยียวยาจิตใจด้วย ให้จิตใจสงบลงโดยเร็ว ยอมรับความจริงง่ายขึ้นอย่างไม่มีอคติ และมองเห็นความหวังว่า มีโอกาสที่คนไข้จะได้รับการดูแลด้วยความเอาใจใส่อย่างเต็มที่ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว อาการคนไข้โรคสมองเสื่อมจะดีขึ้นมาก หากคนดูแลมีความเข้าใจในตัวคนไข้ และทำการดูแลด้วยความรัก ความเอาใจใส่

สิ่งที่น่าห่วงมากที่สุดในอนาคตอันใกล้ เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัย” อย่างเต็มตัวก็คือ เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่มีขนาดเล็กลงกลับห่างเหิน หรือไม่ค่อยรักกัน ยิ่งถ้าคนในครอบครัวของคนป่วยไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับในตัวผู้ป่วยอย่างที่เป็น ทุกอย่างจะยิ่งแย่ลงจากที่ไม่ค่อยรักผูกพันกันอยู่แล้ว พอเป็นโรคสมองเสื่อมก็จะหมดรักกันไป บางครอบครัวที่ทนไม่ไหวจริงๆ เพราะมีปัญหาทางเศรษฐกิจรุมเร้ามากมายอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็อาจนำคนไข้ไปปล่อยทิ้ง ไม่เหลียวแลอีกต่อไป

หากปรากฏการณ์ “การทอดทิ้งผู้สูงอายุ” ที่เป็นโรคสมองเสื่อมแพร่กระจายไปมากขึ้น สังคมไทยจะสอนเรื่องความกตัญญูกตเวทีให้แก่คนรุ่นหลังได้อย่างไร การดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมนั้น แตกต่างจากการดูแลคนไข้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่นๆ เป็นอย่างมาก เพราะในขณะที่โรคเรื้อรังอื่นๆ นั้น ส่วนใหญ่จะเน้นการดูแลทางร่างกายเป็นหลัก

แต่ถ้าหากบุพการีหรือญาติผู้ใหญ่ของเรา เจ็บป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมแล้ว เราจะต้องดูแลท่านในทุกๆ มิติ ทั้งทางร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณไปพร้อมๆ กัน โดยที่ผู้ดูแลจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และต้องใช้ศิลปะในการดูแลหลายด้าน ทั้งการพูดจา การปฏิบัติต่อท่านด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของท่าน แม้ท่านจะกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งไปแล้ว รวมทั้งต้องสามารถรับมือกับพฤติกรรมเจ้าปัญหาของท่านอย่างยืดหยุ่น ใจเย็น และไม่อารมณ์เสียด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การป้องกันไม่ให้เป็นโรคสมองเสื่อมนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่สุด และดีกว่าปล่อยให้บุพการี หรือญาติผู้ใหญ่ของเราเป็นโรคสมองเสื่อม เพราะขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพสมองอย่างเป็นองค์รวม กล่าวในความหมายนี้ ศาสตร์ชะลอวัย จึงเป็นองค์ความรู้ที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้คนจำนวนมากที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอนาคตอันใกล้นี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ และแม้แต่ตัวเราเองมิใช่แค่บุพการี ก็อาจเป็นโรคสมองเสื่อมเสียเองก็เป็นได้ เพราะความไม่ใส่ใจและขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพของตนในทุกๆ มิติอย่างเป็นองค์รวม และอย่างบูรณาการ

www.suvinai-dragon.com
กำลังโหลดความคิดเห็น