xs
xsm
sm
md
lg

จีน ค.ศ. 2030 ออกหัวหรือออกก้อย?

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า ตามแผนพัฒนาห้าปีอีก 4 แผน (เริ่มตั้งแต่แผนฯ ที่ 12 ระหว่าง ค.ศ. 2011-2015) จีนจะพลิกตัวเองไปสู่อีกระดับหนึ่ง มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และคนจีนทั้งประเทศจะก้าวขึ้นสู่ความเป็น “ชนชั้นกลาง” (มูลค่าจีดีพีต่อหัวราว 50% ของสหรัฐฯ) บรรลุเป้าหมาย “มั่งคั่งร่วมกัน” (ตามหลักสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน)

บนฐานนี้ องค์ประกอบในด้านต่างๆ ของสังคมจีนก็จะมีความก้าวหน้า ทันสมัย และเนื้อหาชีวิตของคนจีนก็จะมีความหลากหลาย สร้างสรรค์ มีชีวิตชีวา (เจริญทั้งทางวัตถุและจิตใจ)

“โรดแมป” นี้ ไม่มีใครตั้งข้อสงสัย สื่อสายหลักตะวันตกก็ไม่ “ตั้งธง” สาปแช่งเหมือนที่ผ่านๆ มา เพราะจีนได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่า “พูดจริง ทำจริง และทำได้จริง” เสมอ กระทั่งสื่อและนักวิชาการตะวันตกจำนวนมากพากันปากกาหักและตกม้าตายมานักต่อนักแล้ว

ทว่า นายโรเบิร์ต โซลลิก ประธานธนาคารโลก ที่กำลังจะหมดวาระในเดือนมิถุนายนนี้ กลับทะลุกลางปล้องว่า จีนได้ก้าวมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ จะต้องใช้การบริหารจัดการที่ดีกว่า เพื่อขับเคลื่อนประเทศจีนให้ก้าวจากประเทศที่ประชาชนมีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่ประชาชนมีรายได้สูง ดังนั้น ธนาคารโลกจึงเสนอทางออกให้แก่รัฐบาลจีน ในรายงานผลงานวิจัยเรื่อง “จีนในปี ค.ศ. 2030-- การสร้างสรรค์สังคมรายได้สูง ที่ทันสมัย กลมกลืน มากด้วยพลังริเริ่ม” ประกอบด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ 6 ประการ ดังนี้

1. เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจตลาด ด้วยการปฏิรูปในระดับโครงสร้าง เช่น กำหนดบทบาทใหม่ของรัฐบาล ปฏิรูปและจัดองค์กรใหม่ให้แก่รัฐวิสาหกิจและธนาคารของรัฐ พัฒนาวิสาหกิจเอกชน กระตุ้นการแข่งขัน ปฏิรูปให้กว้างและลึกในเรื่องที่ดิน แรงงาน และตลาดการเงิน เป็นต้น

2. เร่งจังหวะก้าวในการสร้างระบบนวัตกรรมที่เปิดกว้าง ให้วิสาหกิจจีนอยู่ภายใต้แรงกดดันของระบบการแข่งขัน กระตุ้นให้การวิจัยพัฒนาของวิสาหกิจจีนดำเนินไปได้ทั้งในประเทศจีนและโลกโดยรวม และก้าวจากปริมาณไปสู่คุณภาพ

3. ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว เปลี่ยนแรงกดดันเป็นแรงกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียว ให้เศรษฐกิจสีเขียวแสดงบทบาทหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาของเศรษฐกิจจีน

4. สร้างโอกาสการเข้าถึงระบบบริการสังคมและหลักประกันสังคมให้แก่ประชาชนมากขึ้นและอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งทางด้านการมีงานทำ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการบริการทางสังคมคุณภาพสูง

5. สร้างความมั่นคงให้แก่ระบบการคลัง ให้หลักประกันทางด้านรายจ่ายของรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อเป็นหลักประกันให้การปฏิรูปใหม่ๆ ดำเนินไปได้

6. สร้างระบบความสัมพันธ์กับทั้งโลก ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ โดยจีนแสดงบทบาทมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาของโลกมากยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านการสร้างเสถียรภาพทางการเงิน และการแก้ปัญหาความยากจน

รายงานซึ่งเป็นผลงานร่วมกันของธนาคารโลกกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาของรัฐบาลจีนนี้ นายโรเบิร์ต โซลลิก เป็นผู้นำมาเปิดแถลงเอง กล่าวถึงประเด็นปัญหาที่ปรากฏอยู่ในรายงาน ว่าคณะผู้นำจีนต่างเห็นพ้องด้วย แต่ในวันแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ กลับมีผู้ลุกขึ้นประท้วง หาว่า ข้อเสนอของธนาคารโลกอาบยาพิษ

ในการแถลงข่าว นายโรเบิร์ต โซลลิก กล่าวว่า “ก็อย่างที่ผู้นำจีนรู้กันนั่นแหละ ว่ารูปแบบการพัฒนาของจีนที่กำลังเป็นไปอยู่นี้ จะไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างยาวนาน”

ในทัศนะของผู้เขียน สิ่งที่นายโรเบิร์ต โซลลิกพูด และสิ่งที่รายงานนำเสนอ ล้วนตั้งอยู่บนฐานหรือ “เหตุ” หรือ “สมมติฐาน” เดียวกันกับของรัฐบาลจีน คือจีนก้าวมาถึงจุดนี้ได้เพราะการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ จากเศรษฐกิจวางแผนเบ็ดเสร็จ มาเป็นเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม และจะดำเนินการพัฒนาต่อไปได้ดีก็ด้วยการปฏิรูปต่อไปเรื่อยๆ ซึ่ง ณ วันนี้ ทางการจีนก็ประกาศชัดแล้วว่าจะต้องปฏิรูปรูปแบบการพัฒนาขยายตัวทางเศรษฐกิจ “ถ้าไม่ปฏิรูปก็ไปไม่รอด”

ในทางปฏิบัติ ทางการจีนก็คงใช้รายงานชิ้นนี้ ประกอบเข้าเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการไปกำหนดแผนพัฒนาประเทศ และดึงเงินสนับสนุนจากธนาคารโลก ส่วนที่เป็น “ยาพิษ” หากมี ก็คงหาทางกรองออกไป

คงไม่น่ากลัวอะไรนักหรอก เพราะทุกวันนี้ ในเมืองจีนก็เต็มไปด้วยยาพิษที่ติดมาพร้อมกับ “แมว” ตะวันตก “ไม่ว่าสีอะไร”

“ยาพิษ” ประการหนึ่งที่วงการเศรษฐศาสตร์จีนถกเถียงกันมาก และคณะผู้นำจีนได้เชิญไปบรรยายให้ฟังหลายครั้งหลายหน ก็คือแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมที่มาจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของอเมริกา นักวิชาการจีนและผู้บริหารระดับสูงจำนวนไม่น้อย “เปิดกว้าง” นำเอาแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในเศรษฐกิจจีน จนเกิดการปะทะกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมดั้งเดิม ดังนั้น อะไรก็ตามที่จะเอนเอียงไปในทาง “เปิดเสรี” มักจะมีเสียงคัดค้านอยู่เป็นทุนเดิม

เท่าที่ดู คณะผู้นำพรรคและรัฐบาลจีนยังไม่เคยเสียศูนย์ในเรื่องใหญ่ๆ เช่น การเปิดตลาดเงินและตลาดทุน ก็ดำเนินเป็นขั้นๆ อิงตามสภาวการณ์เป็นจริงของจีนเป็นหลัก และที่เห็นชัดที่สุดก็คือ การสร้างระบบปริวรรตเงินตรา กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินหยวน (เหรินหมินปี้) กับเงินดอลลาร์สหรัฐแบบยืดหยุ่น ก็ดำเนินไปในกรอบที่เศรษฐกิจจีนรับได้ ไม่ “เปิดฟรี” ตามแรงกดดันของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ประการใด

แต่ผู้ที่ “มองดี” จีนอย่างมาก กลับเป็น นายหลินอี้ฟู รองประธานธนาคารโลก เขา “ฟันธง” ว่า เศรษฐกิจจีนจะยังขยายตัวต่อไปได้อีกไม่น้อยกว่า 20 ปี ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 ต่อปี เมื่อนั้น รายได้ต่อหัวของคนจีน (ตามอำนาจซื้อ) จะเท่ากับครึ่งหนึ่งของคนอเมริกัน และขนาดเศรษฐกิจของจีนจะโตเป็นสองเท่าของสหรัฐอเมริกา

การคาดการณ์ของเขาสอดคล้องกับผลงานวิจัยของ นายหูอันกัง นักวิจัยชื่อดังของมหาวิทยาลัยชิงหัว ที่นำเสนอผลงานวิจัยเมื่อปลายปีที่แล้วว่า เมื่อถึงปี 2030 จีนจะก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคม “มั่งคั่งร่วมกัน” มีความก้าวหน้าระดับโลกในทุกๆ ด้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น