xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าขายชาติ !?

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

บรรยากาศของประเทศนี้ช่างน่าหดหู่ไร้สิ้นซึ่งความหวังเสียเหลือเกิน !

อะไรที่เดินหน้ามาแล้วเป็นสิบ ๆ ปีก็กำลังจะถูกทำให้หยุดชะงักและเดินถอยหลังลงคลองลงเหว ไม่มีใครแน่ใจในสถานภาพปัจจุบันและอนาคตได้อีกเลย ทุกสิ่งทุกอย่างถูกทำให้เป็นการเมืองในนามของการ “ล้างผลรัฐประหาร” และ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย” หมด ทั้ง ๆ ที่หลายเรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยอย่างเช่นเรื่องที่จะพูดวันนี้

“ศาลปกครอง”

พูดกันตามตรงนะว่าถ้าย้อนไปดูคำสั่ง หรือคำพิพากษา ของศาลปกครองในอดีต 11 ปีที่ก่อตั้งอย่างเป็นทางการมา ไม่ว่าจะเป็นคดีดัง ๆ อย่างกฟผ., ปตท., มาบตาพุด หรือคดีไม่ดังนักแต่เป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็จะพบว่าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีน้ำหนักมากในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหาร ผมเคยเขียนไว้ ณ ที่นี้ 2 ประโยค 2 ครั้งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2549 และวันที่ 29 มิถุนายน 2551 ว่า...

ศาลปกครองยับยั้งการขายชาติได้ !

ศาลปกครองมีประสิทธิภาพกว่ากลไกควบคุมโดยรัฐสภา !!


บรรดาองค์กรใหม่ ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างอำนาจรัฐ รวมทั้งองค์กรอิสระ หรือ Independent Regulatory Agency สุดแท้แต่ลักษณะที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 มีผลงานน่าผิดหวังบ้าง ยังไม่มีผลงานบ้าง และส่วนใหญ่ยากที่จะพ้นจากการแทรกแซงทางการเมือง แต่ต้องยอมรับว่าศาลปกครองเป็นองค์กรทางกระบวนการยุติธรรมที่มีหลักการแจ่มชัด มีฐานทางวิชาการมั่นคง จนสามารถเป็นที่พึ่งสำคัญของประชาชนในยามเสมือนไร้ที่พึ่ง

ผมเคยเขียนไว้หลายครั้งว่า ศาลปกครองน่าจะเป็นองค์กรที่เป็นรากฐานของการปฏิรูปการเมือง-ปฏิรูประบบกฎหมาย ต่อไปในอนาคตอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า ไม่ว่าการปฏิรูปการเมืองตามแนวทางรัฐธรรมนูญ 2540 จะหลงเหลือความสำเร็จอยู่กี่มากน้อย

ทั้งนี้เพราะองค์กรอื่น ๆ โดยเฉพาะที่มีอำนาจจริงมีบทบาทจริง อย่างเช่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการสร้างขึ้นโดยประยุกต์จากแนวทางของต่างประเทศอย่างขาดรากฐาน ขาดพัฒนาการ และขาดบุคลากร เมื่อเกิดขึ้นมาก็เติบโตมีอำนาจเลย

ศาลปกครองแม้โดยชื่อโดยรูปแบบอย่างเป็นทางการจะเพิ่งถือกำเนิดมาจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เปิดทำการจริง พ.ศ. 2543 แต่จริง ๆ แล้วมีรากฐานปักหลักมายาวนาน

อย่างน้อยหากตัดตอนนับเฉพาะในยุคปัจจุบันก็ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 จาก พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ที่ให้มีคณะกรรมการ 2 ประเภทคือ กรรมการร่างกฎหมาย และ กรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเชิงศาลปกครอง

อันมีที่มาจากแรงผลักดันของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในขณะนั้นที่ต้องการเตรียมความพร้อมให้แก่ศาลปกครอง ทั้งทางด้านบุคลากร, ฐานวิชาการ และหลักกฎหมายปกครองเบื้องต้น

ขณะเดียวกันทางด้านมหาวิทยาลัย ผลสะเทือนจากงานเขียนเชิงตั้งคำถามของ ศ.ดร.อมร จันทรสม บูรณ์ คนเดียวกันในเรื่อง “นักนิติศาสตร์หลงทางหรือ” เมื่อ ปี 2517 บวกกับการสนับสนุนส่งเสริมของ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ ได้สร้างความตื่นตัวให้กับนักศึกษาวิชานิติศาสตร์ให้เลือกวิชากฎหมายมหาชน ในการศึกษาต่อต่างประเทศในฐานะนักเรียนทุน ที่แยกย้ายกันไปทั้งฝรั่งเศส, เยอรมัน และสหรัฐอเมริกา จนก่อให้เกิดนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ขึ้นมามีบทบาทโดดเด่นในแวดวงนิติศาสตร์จำนวนหนึ่งในอีก 10 – 15 ปีต่อมา

2 กระแสนี้สามารถผนวกกันเป็น “ชุมชนนักกฎหมายมหาชน” มีบทบาทสูงเด่นในการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนที่สามรรถถ่วงดุลนักกฎหมายเอกชนที่ครอบงำสังคมไทยมานาน และมีส่วนสำคัญในการร่วมสร้างสรรค์หลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ตั้งแต่ครั้งร่วมทำวิจัย 10 หัวข้อ ให้กับ คพป. (คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย) ชุด ศ.นพ.ประเวศ วะสี เมื่อ ปี 2537 – 2538

พวกเขาเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดศาลปกครอง ในระบบ “ศาลคู่” คือแยกออกมาจากศาลยุติธรรม แม้ในอดีตจะถูกขัดขวางต่อต้านจนทำให้กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองในระบบศาลคู่มีอันต้อง แท้งไปหลายต่อหลายครั้งใน ปี 2526, 2529, 2531, 2532, 2538 และ 2539 ถ้าไม่เพราะเหตุผลยุบสภา ก็เพราะ คณะรัฐมนตรีไม่รับหลักการ แต่ถึงที่สุดแล้วก็เพราะอิทธิพลทางความคิดของนักกฎหมายเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกฎหมายเอกชนในศาลยุติธรรม ที่ส่งผ่านไปยังนักการเมือง

ดังนั้นเมื่อศาลปกครองถือกำเนิดได้จริงโดยสภาวการณ์ “โดยสารมากับขบวนปฏิรูปการเมือง” พวกเขาเหล่านี้จึงรู้ด้วยจิตสำนึกว่าจะต้องพิทักษ์รักษาศาลปกครอง จึงเสมือนตกลงกันแบ่งกำลังเข้ามาสมัครเป็นบุคลากรในศาลปกครอง

เราจึงได้เห็น นักวิชาการกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ ระดับอายุ 40 – 50 ปี เข้ามารับตำแหน่งสำคัญ

และถ้าหากจะย้อนอดีตยาวออกไปก็จะพบว่า พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ก็เป็นการสืบทอดแนวความคิดของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ตราพ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2476 ขึ้นเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นศาลปกครอง เสมือนหนึ่งกองเซย เดตาต์ (Conseil d’Etat) หรือสภาแห่งรัฐของฝรั่งเศส แต่ถูกคัดค้านด้วยเหตุผลประชาชนไม่พร้อม-ไม่เข้าใจหลักสิทธิเสรีภาพ, ขาดบุคลากร ทำให้คณะกรรมการกฤษฎีกาที่เกิดขึ้นทำหน้าที่เพียงขาเดียว คือ ร่างกฎหมาย

ความพยายามที่จะเพิ่ม ขาที่ 2 คือ พิจารณาคดีปกครอง ต้องล้มเหลวหลายต่อหลายครั้งใน พ.ศ. 2478, 2489, 2499, 2500 แม้จะมีพ.ร.บ.รับเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 เกิดขึ้นก็ตาม

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองไว้ แต่ก็ไร้กฎหมายเฉพาะ ทำให้ไม่มีผลในทางปฏิบัติ

เช่นกันกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติให้มีการจัดตั้งศาลปกครองในระบบศาลคู่ ก็ได้แค่เขียนไว้โก้ ๆ

สาเหตุของอุปสรรคขวากหนามนอกจากอิทธิพลทางความคิดของนักกฎหมายเอกชนแล้วก็คือความเกรงกลัวของข้าราชการประจำ นักการเมือง หรือนัยหนึ่งฝ่ายบริหารที่ไม่ต้องการเข้ามาอยู่ใน “กรอบ” ที่จะต้องถูกตรวจสอบควบคุมโดยประชาชนผ่านศาลปกครอง

เป็นที่น่าสังเกตว่าในยุคสมัยฝ่ายบริหาร ตกอยู่ในมือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ชอบท่องคาถาสวยหรูเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะมีอาถรรพณ์ทำให้ กฎหมายเกี่ยวกับศาลปกครองมีอันต้องตกไป

จุดเริ่มต้นของยุคใหม่ที่เกิด “กรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์” ขึ้นใน พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ก็เป็นยุคเผด็จการทหาร ภายใต้รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

วันนี้ เรากำลังวนเวียนเพื่อถอยหลังกลับไปเกินกว่า 20 ปี

เพื่อให้กระบวนการขายชาติของแก๊งโสณทุจริตทางการเมืองเดินหน้าต่อไปอย่างเมามัน?
กำลังโหลดความคิดเห็น