ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กลายเป็นประเด็นร้อนผ่าวที่เมาท์กันไปทั้งทำเนียบรัฐบาลกับการประกาศลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอย่างกะทันหันของ 'บัณฑูร สุภัควณิช' ที่อ้างกับ 'นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' ถึงปัญหาเรื่องสุขภาพ เนื่องจากทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน แต่เบื้องลึกเบื้องหลังของการลาออกครั้งนี้นั้นคนในตึกไทยคู่ฟ้าต่างรู้กันดีว่ามาจากปัญหาการเมืองภายในล้วนๆ เพราะการจะหักกับเพื่อนสนิทที่ชื่อ 'น.ช.ทักษิณ ชินวัตร' ซึ่งไว้วางใจส่งเขามาเป็นเลขาฯ ให้น้องสาวด้วยการลาออกกะทันหันย่อมเป็นปรากฎการณ์ที่ 'ไม่ธรรมดา' !!
ว่ากันว่า หลังจากที่ 'เฮีย'ปุ้ม' สุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตโฆษกพรรคไทยรักไทย และสมาชิกบ้านเลขที่ 111 เข้ามามีบทบาทในทำเนียบฯ ในฐานะเลขาส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำหน้าที่ดูแลคิวงานต่างๆ อย่างใกล้ชิด ด้วยประสบการณ์การเมืองที่สูงกว่าจึงทำงานเข้าตานายกฯ ทั้งในด้านการเมืองและสื่อสารมวลชน กระทั่งได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปดูแลการจัดรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ทั้งๆ ที่มีเลขาธิการนายกฯอย่างนายบัณฑูรนั่งหัวโด่อยู่นั้น ทำให้นายบัณฑูรเสียความรู้สึกอย่างมาก และปัญหาก็เริ่มบานปลายมากขึ้นเมื่อนายกฯ ออกอาการไม่ปลื้มนายบัณฑูร โดยเฉพาะการเตรียมสคริปต์ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่างๆ ชนิดที่เรียกว่าทำอะไรก็ไม่เข้าตาไม่ถูกใจไปเสียหมด โดยมีเสียงเล่าลือว่าถึงขั้นมีการทุบโต๊ะเหวี่ยงแฟ้มกันเลยทีเดียว
นายบัณฑูรไม่ได้รับความสนใจ ไม่ถูกเรียกใช้งาน ทั้งที่เขามีตำแหน่งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แม้แต่นายกฯ ปูลงพื้นที่เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก็กลับไม่มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ชื่อบัณฑูรร่วมทีมไปด้วยทั้งที่เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่นายกรักรัฐมนตรีให้ความสนใจ ความที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ให้ความสำคัญ ทำราวกับเขาไร้ตัวตน คนอื่นๆ ก็ทำงานแบบข้ามหัวไปข้ามหัวมา ทำให้นายบัณฑูรเกิดความน้อยใจและเบื่อหน่าย กระทั่งต้องย้ายไปนั่งทำงานที่ตึกแดงหรือตึกสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ห้องทำงานของเขาอยู่ตึกไทยคู่ฟ้า มาเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนมาแล้ว ก่อนที่เขาจะตัดสินใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในที่สุด
ขณะเดียวกันก็มีรายงานอีกด้านว่าสาเหตุที่ทำให้นายบัณฑูร ลาออกจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพราะขัดแย้งกับฝ่ายการเมืองในพรรคเพื่อไทยกรณีเรื่องการเสนอของบประมาณและโครงการต่างๆ ผ่านกระทรวงต่างๆ เพื่อให้นำเข้าที่ประชุม ครม.เนื่องจากนายบัณฑูรเคยเป็น ผอ.สำนักงบประมาณมาก่อนจึงรู้ระบบงบประมาณเป็นอย่างดี จึงไม่ค่อยเห็นด้วยในบางเรื่องทำให้ฝ่ายการเมืองไม่พอใจ จนเกิดปัญหาการทำงานขึ้น
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บัณฑูรถูกเพื่อนร่วมพรรคล้วงงานแย่งซีน เพราะก่อนที่สุรนันทน์จะก้าวเข้ามา บัณฑูรก็ถูก 'นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล' อดีตผู้บริหารกลุ่มชินคอร์ปที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาทำงานในฐานะเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเงา พร้อมกับคราวที่แต่งตั้งนายบัณฑูร เนื่องจากนิวัฒน์ธำรงเป็นลูกหมอชินคอร์ปที่ทักษิณไว้วางใจ ซึ่งนิวัฒน์ธำรงก็มีนิสัยที่ชอบตัดหน้าชิงซีนเช่นกัน โดยนิวัฒน์ธำรงมักจะประกบเกาะติดนายกฯปูอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเขาปรากฏกายเคียงคู่นายกฯยิ่งลักษณ์นับแต่ก้าวออกจากชินคอร์ปจนถึงทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่นายกฯเริ่มทำงานวันแรกเลยทีเดียว ต่อมานิวัฒน์ธำรงได้เลื่อนชั้นขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บัณฑูรก็แอบดีใจเพราะคิดว่าจะไม่มีใครมาห้ามหัวปาดหน้าให้เจ็บใจอีก แต่ก็ต้องมาเจอฤทธิ์เดชของสุรนันทน์อีกจนได้
ด้วยสไตล์การทำงานแบบข้าราชประจำของอดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณอย่างบัณฑูรทำให้ไม่เข้าตา ไม่ทันเกม ไม่มีถูกล่อลูกชน ต่างจากนักธุรกิจอย่างนิวัฒน์ธำรง หรือคนที่เชี่ยวชาญสนามการเมืองอย่างสุรนันทน์ ที่สำคัญบัณฑูรไม่ได้เข้าหานายกฯ เหมือนกับสองคนแรกทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับนายกฯไม่ดีนัก และยิ่งนายกฯไม่เรียกใช้ ไม่ปลื้มในผลงาน ความบาดหมางห่างเหินก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น กระทั่งเดินมาถึงทางตันต้องบอกลากันในที่สุด
แต่ด้วยความที่บัณฑูรเป็นเพื่อนสนิทของทักษิณมาตั้งแต่ครั้งที่เรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกาด้วยกัน อีกทั้งยังช่วยงานกันมานาน ที่สำคัญบัณฑูรยอมทิ้งตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เพื่อมานั่งเป็นเลขาฯนายกฯ ตามคำขอของทักษิณเพื่อนเลิฟ นายกฯยิ่งลักษณ์จึงยังเกรงใจ ขอให้อยู่ช่วยงานต่อไปในตำแหน่ง 'ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี' เพื่อไม่ให้เสียน้ำใจกัน ซึ่งบัณฑูรก็ใจอ่อนยอมรับไมตรี
ทั้งนี้ หากวัดบารมีและย้อนไปดูที่มาที่ไปของหนุ่มใหญ่ทั้ง 3 คนที่ทำหน้าที่เลขาของนายกฯยิ่งลักษณ์ทั้งเลขาส่วนตัวและเลขาตามมติ ครม. ไม่ว่าจะเป็น บัณฑูร ,นิวัฒน์ธำรง และสุรนันทน์ ก็จะพบว่าแต่ละคนล้วนมีสไตล์และเส้นทางที่แตกต่างกัน ซึ่งในแง่ของเหลี่ยมคูและชั้นเชิงทางการเมืองนั้นแน่นอนว่าผู้ที่อ่อนด้อยไร้เดียงสาที่สุดคงหนีไม่พ้น 'บัณฑูร'
เนื่องเพราะสำหรับบัณฑูรนั้นต้องบอกว่าเขารับราชการมาเกือบทั้งชีวิต ตำแหน่งสุดท้ายในราชการคือผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในระหว่างปี 2552-2554
บัณฑูรกับทักษิณเริ่มรู้จักและเป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่ครั้งที่บัณฑูรจบจากรั้วเกษตรศาสตร์แล้วเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี สหรัฐอเมริกา ขณะที่ทักษิณเรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 (พ.ศ.2516) และได้รับทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขากระบวนการยุติธรรม ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกีเช่นกัน
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่าง “บัณฑูร” กับ “ทักษิณ” ซึ่งทอดยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน
เรียกได้ว่า “อีสเทิร์นเคนทักกีคอนเนกชัน” คือความสัมพันธ์อันแนบแน่นของทั้งสองคน ในฐานะเพื่อนรักจึงมีส่วนช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี และบัณฑูร เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งถือเป็นห้วงเวลาที่ซื้อใจกันมากที่สุด
ไม่มีใครคาดคิดว่าบัณฑูรในวัย 60 กว่าจะตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางการเมือง ในสังกัดพรรคเพื่อไทย ด้วยผู้ชายคนนี้เติบโตมาในตระกูลคณบดีเก่าแก่แห่งเมืองน้ำดำ ทายาทเจ้าสัวของโรงแรมเก่าแก่แห่งเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งหากใครไปกาฬสินธุ์ก็ ต้องรู้จักสุภัคโฮเต็ล เรียกได้ว่าบิดาของเขาเป็นนักธุรกิจที่กว้างขวาง และมีบทบาทสำคัญในสมาคมพ่อค้าจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่บัณฑูรไม่สนใจธุรกิจกลับเลือกเดินในสายราชการ เป็นลูกหม้อสำนักงบประมาณ และรับราชการมาตลอดชีวิต
การเข้าสู่เส้นทางการเมืองของเขานั้นนับเป็นเส้นทางที่ก้าวกระโดดเพราะมีแบ็กดีระดับเจ้าของพรรคที่สามารถกดรีโมตข้ามประเทศมาจากดูไบ โดยเขาได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 ซึ่งเหตุผลที่บัณฑูรยอมเข้าพรรคเพื่อไทยอาจเป็นเพราะเพื่อนรักทักษิณยกย่องให้ความสำคัญกับเขาถึงขั้นวางตัวให้อยู่ในระบบบัญชีรายชื่ออันดับที่ 13 ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งถือว่าเป็นอันดับต้นๆ และนอนมาว่าได้เป็น ส.ส.แน่ๆ ทั้งที่เขาไม่ได้เป็นกระเป๋าเงิน และยังไม่เคยสร้างผลงานอะไรให้กับพรรค
เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมี 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' น้องสาวสุดที่รักของทักษิณรั้งเก้าอี้นายกฯหญิงคนแรกของไทย บัณฑูรก็ได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็น 'มือขวา' ของนายกฯ ชนิดที่เรียกว่า 'นอนมา' แบบไร้คู่แข่ง ไม่มีใครกล้าเทียบรัศมีกับเพื่อนซี้ของทักษิณ แต่สุดท้ายคนดีในระบบราชการก็ไม่อาจต้านทานวัฒนธรรม 'การเมืองแบบชินวัตร' !!
ขณะที่ 'นิวัฒน์ธำรง' อดีตเลขาธิการนายกฯ เงา ที่ตอนนี้ได้ดิบได้ดีเลื่อนชั้นเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปแล้วนั้น ก็ต้องจัดว่าเป็นคนที่มีบารมีในรัฐบาลเพื่อไทยอยู่ไม่น้อย เนื่องด้วยเขาเป็นเป็นมือไม้คนสำคัญของ 'ตระกูลชินวัตร' โดยเป็น "ลูกหม้อ" ของตระกูลชินวัตรมาตั้งแต่ปี 2544 มีตำแหน่งอยู่ในฝ่ายบริหารของบริษัทเครือชินวัตรมามากมายหลายบริษัท โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนเข้าสู่สนามการเมืองเต็มตัวคือตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น อีกทั้งเคยได้รับงานใหญ่ให้เป็นผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เขาจึงมีความเชี่ยวชาญด้านสื่อเป็นพิเศษ
ที่สำคัญนิวัฒน์ธำรงยังเป็นผู้ที่มีอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์และการทำพีอาร์ของพรรคการเมืองในระบอบทักษิณ นับตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาจนถึงพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน
ส่วน 'สุรนันทน์' ก็จัดว่าเป็นคนเก่าแก่ เป็น 'ลูกหม้อ' มาตั้งแต่สมัยก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เขาเข้ามาเดินในถนนการเมืองตั้งแต่ปี 2538 โดยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.ในนามพรรคพลังธรรม แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เมื่อ 'ทักษิณ ชินวัตร' หัวหน้าพรรคพลังธรรมคนสุดท้าย ตัดสินใจก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ซึ่งขณะนั้นดูจะเป็นพรรคแห่งความหวังอันสดใสของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ สุรนันทน์ก็ไม่รอช้าตัดสินใจเข้าสังกัดพรรคนี้เช่นเดียวกับสมาชิกพรรคพลังธรรมอีกไม่น้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ 'สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์' แกนนำ ส.ส.กทม.ที่เคยสนิมสนมและให้การสนับสนุนสุรนันทน์ให้ขึ้นมามีบทบาทโดดเด่นในฐานะรองโฆษก และโฆษกพรรคไทยรักไทย ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 กระทั่งถูกรัฐประหาร 19 ก.ย.และติดอยู่ในบ้านเลขที่ 111 หลังไทยรักไทยถูกตัดสินยุบพรรค
สุรนันทน์โดดเด่นในเรื่องการสานสัมพันธ์กับสื่อเนื่องจากเป็นนักการเมืองที่เข้าถึงง่ายและเข้าใจธรรมชาติของสื่อ ดังนั้นเมื่อเข้ามาทำหน้าที่เลขาส่วนตัวของนายกฯ จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจของยิ่งลักษณ์เพราะสามารถช่วยสร้างภาพลักษณ์และวางแผนประชาสัมพันธ์ผลงานของนายกฯได้เป็นอย่างดี เพราะเลขาฯ คนนี้รู้ว่าอะไรที่จะเป็น 'ข่าวขาย' ส่วนการแย่งซีนข้ามหัวกันนั้นถือเป็นเธรรมชาติของคนที่เรียกตัวเองว่า 'นักการเมือง'
ณ วันนี้ 'บัณฑูร สุภัควณิช' อดีต ผ.อ.สำนักงบฯ คงตระหนักดีแล้วว่า 'การเมืองแบบชินวัตร' นั้นเป็นอย่างไร คำว่าคุณธรรมและประโยชน์ของบ้านเมืองนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ !!