xs
xsm
sm
md
lg

สะพัด!พรก.“ผ่าน 1 ล้ม 1” “เพื่อไทย”พล่านอีกซุกกม.เงินกู้เข้าสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(21 ก.พ.55)นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีทีมีกระแสการหวั่นวิตกว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.บางฉบับอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้เรื่องนี้ยังตอบไม่ได้ ตนก็ไม่ทราบว่าผลจะออกมาเช่นไร เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 วรรคท้าย ระบุว่าหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าพระราชกำหนดใดไม่เป็นไปตามมาตรา 184 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ดังนั้น คงต้องรอผลคำวินิจฉัยในวันที่ 22 ก.พ. เพราะตนเองก็คงไม่ทราบว่าตุลาการคนอื่นๆ จะคิดอย่างไร อีกทั้งตนก็มีเพียงเสียงเดียว ซึ่งมีตุลาการอีก 8 ท่าน ก็ไม่รู้ว่าแต่ละท่านจะคิดอย่างไร ทั้งนี้ตนก็ไม่เห็นว่ามีเรื่องอะไรที่จะต้องน่าตื่นเต้นหรือวิตกกังวล ก็เพียงแต่พวกนั้นเท่านั้นที่ต่างพากันตื่นเต้นกันไปเอง ก็ปล่อยให้เค้าตื่นเต้นกันไป
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวสั้นๆถึงกรณีความกังวลการวินิจฉัย ว่า "รอผลพรุ่งนี้นะคะ" ก่อนเดินทางไปประชุมครม.สัญจร
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ตอบคำถามหาก 2 พ.ร.ก.ตกไปว่า ข้อแรกทางครม.ตัดสินใจอะไรแล้วขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะบอกว่าเป็นเรื่องเล็กคงไม่ได้ คิดว่าให้ความเป็นธรรมควรรอคำวินิจฉัยของศาล เพราะในคำวินิจฉัยของศาลไม่ว่าจะเป็นกรณีหนึ่งกรณีใด ก็น่าจะเห็นความชัดเจนว่าความรับผิดชอบจะไปตกที่ไหนอย่างไร สมมติมีการ ให้ข้อมูลต่อรัฐมนตรีที่คลาดเคลื่อน เป็นที่มาของการออกมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คนให้ข้อมูลก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ แ ละถ้าไม่มีความรับผิดชอบกันเลย ก็เท่ากับว่าต่อไปนี้เท่ากับว่าใครอยากทำผิดกฎหมาย ถูกจับได้ก็บอกว่าทำใหม่ คงไมใช่ระบบการบริหารจัดการที่ดี
ส่วนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง ซึ่งเป็นผู้เสนอ ควรจะต้องรับผิดชอบอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงต้องรอคำวินิจฉัยก่อน เรื่องการจะออกพระราชบัญญัติหรือไม่เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ถ้ารัฐบาลคิดว่าเป็นนโยบายที่ต้องทำ ก็เสนอมาเป็นพ.ร.บ. ก็ไม่ขัดข้องแต่เรื่องการแสดงความรับผิดชอบในทางใดทางหนึ่งเพื่อรักษาระบบบริหารจัดการที่ดีเป็นคนละประเด็นกันดูเหมือนรัฐบาลจะไม่ใส่ใจเรื่องนี้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธาน วิปฝ่ายค้าน กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ ตามรัฐธรรมนูญและความรับผิดชอบทางการเมือง หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้รัฐบาลชุดต่อไปไม่ใช้ทางลัดออกกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสมาชิกรัฐสภา
ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงมีการบรรจุร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 2552 ที่เกี่ยวข้องกับโครงการไทยเข้มแข็ง เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภา วันที่ 22 ก.พ.นี้ เพราะตรงกับช่วงเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยพระราชกำหนดกู้เงิน 2 ฉบับ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเสนอเข้ามาตั้งแต่ปลายปี 2554 แต่เพิ่งบรรจุในระเบียบวาระ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงผลประชุมพรรค กรณีสมาชิกมีความกังวลต่อคำวินิจฉัย ที่พรรคประชาธิปัตย์อาจจะขยายผลจากการตัดสินในทางใดทางหนึ่งของศาล และกลัวว่าหากไม่ผ่านการพิจารณาจะทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นไปอย่างล่าช้า และส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก ฝ่ายกฎหมาย ได้เสนอว่าหากศาลใช้ดุลยพินิจตีความว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขพรก.2 ฉบับนี้ให้อยู่ในรูปของพระราชบัญญัติ และใช้เสียงข้างมากผ่านการพิจารณาเห็นชอบในที่ประชุมสภา
อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อยู่แล้ว พร้อมยืนยันว่านายกรัฐมนตรีและนายกิ ตติรัตน์ ไม่จำเป็นต้องลาออกเพราะการจะลาออกได้นั้นมีเพียงกรณีเดียวคือรัฐบาลต้องเสนอ พรก. 2 ฉบับแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเท่านั้น มองว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรนำคำตัดสินของศาลมาเป็นประเด็นทางการเมืองและดิสเครดิตรัฐบาล
มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า แกนนำพรรคยังแสดงความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะหากศาลชี้ว่า พ.ร.ก.ฉบับใดฉบับหนึ่งมีปัญหา ก็อาจจะส่งผลกระทบถึงรัฐบาลได้ พร้อมกับประเมินว่า พ.ร.ก.น่าจะผ่าน 1 ฉบับ และไม่ผ่าน 1 ฉบับ ซึ่งพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้น มีความเป็นไปได้มากที่สุด ที่อาจจะไม่ผ่าน.
กำลังโหลดความคิดเห็น