xs
xsm
sm
md
lg

พูดอย่างทำอย่าง

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

ทักษิณพูดเสมอเกี่ยวกับประชาธิปไตย . . . ผูกขาดเป็นเจ้าของพรรคและส.ส.

ทักษิณพูดเสมอเกี่ยวกับเสรีภาพทางเศรษฐกิจ . . . ทำธุรกิจโดยผูกขาด

ทักษิณพูดเสมอเกี่ยวกับความเท่าเทียมกัน . . . ตัวเขาต้องไม่ผิด

การผูกขาดหรือ monopoly เป็นคุณลักษณะสำคัญของทักษิณที่อาศัยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ในการผูกขาดทางการเมืองเพื่อผูกขาดเศรษฐกิจ ความพยายามของฝ่ายใดก็ตามแต่ในการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 หรือฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจึงมีความเกี่ยวข้องกับทักษิณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การผูกขาดมี 2 ลักษณะคือ (1) ผูกขาดโดยการครอบครองทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิต กรณีนี้เห็นได้ง่ายจากการเป็นเจ้าของในทรัพยากรที่หาสิ่งอื่นทดแทนได้ยาก เช่น น้ำมัน หรือเทคโนโลยีที่อาศัยวิทยาการและเงินในการลงทุนประดิษฐ์คิดค้น “ทรัพย์สินทางปัญญา” ขึ้นมา เช่น โปรแกรมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ “วินโดวส์” โดยบริษัทไมโครซอฟท์ และ (2) ผูกขาดโดยอาศัยอำนาจรัฐ เช่น การให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมัน หรือสัมปทานดาวเทียม

โดยเปรียบเทียบ การผูกขาดโดยอาศัยอำนาจรัฐเป็นการผูกขาดที่ลงทุนที่ถูกกว่าเพื่อให้ได้อำนาจผูกขาด แม้ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เอกชนก็ไม่สามารถจะผูกขาดเป็นเจ้าของทรัพยากรได้โดยง่าย หากไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐ ยกเว้นแต่การลงทุนประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเองเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่คนอื่นไม่มี ดังนั้นหากจะผูกขาดด้วยเทคโนโลยีก็ต้องลงทุนซึ่งมีข้อจำกัดก็คือ คู่แข่งก็สามารถลงทุนได้เช่นเดียวกัน และทำได้ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเนื่องจากรัฐจะคุ้มครองการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาในเวลาที่จำกัดมิได้คุ้มครองให้สิทธิการเป็นเจ้าของตลอดไป

การได้อำนาจรัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจและผลประโยชน์ของทักษิณ ความสำเร็จทางธุรกิจที่ผ่านมาเกิดจากการผูกขาดโดยอาศัยอำนาจรัฐเป็นสำคัญ หาใช่ความสำเร็จจากความสามารถจากการลงทุนประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเองเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่คนอื่นไม่มี เช่น บิล เกตส์เจ้าของบริษัทไมโครซอฟท์ หรือ สตีฟ จอบส์ผู้ริเริ่มนำเสนอไอโฟนและไอแพด การทำมาหากินของทักษิณหากต้องแข่งขันกับคู่แข่งอย่างเท่าเทียมกันมักไม่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวแทบทั้งสิ้น

จุดเริ่มต้นของความสำเร็จน่าจะอยู่ที่การได้มาซึ่งสัมปทานตำแหน่งดาวเทียมที่ประเทศไทยเป็นเจ้าของ ทักษิณและบริษัทชินคอร์ปของเขามิได้มีเทคโนโลยีการสร้างดาวเทียมได้เองแต่อย่างใด หากแต่อาศัยการผูกขาดการส่งข้อมูลของภาครัฐไทยเป็นแหล่งที่มาของรายได้ผ่านดาวเทียมที่ตนเองไปซื้อมาเพื่อส่งไปในตำแหน่งที่เป็นสิทธิของประเทศไทย

หากไม่อยู่ในช่วงของรัฐบาลเผด็จการทหาร สัมปทาน “กินหมู” เช่นนี้ก็น่าจะมีคู่แข่งเพราะมิใช่เป็นเรื่องสลับซับซ้อนแต่ประการใด หากแต่เป็นเรื่องที่ทหาร เช่น สุนทร คิดไม่ออกมองอวกาศเป็นเรื่องยาก ทั้งๆ ที่มันแตกต่างไปจากสัมปทาน “ที่จอดรถ” ที่สนามบินสุวรรณภูมิตรงไหน ทำไมรัฐผู้เป็นเจ้าของจึงไม่ทำเองเพราะ “ที่จอดดาวเทียม” กับ “ที่จอดรถ” ต่างก็ผูกขาดบังคับให้ผู้บริโภคมาใช้บริการโดยไม่มีทางเลือกอยู่แล้ว สื่อฯ หรือใครก็ตามที่ยกย่องทักษิณว่าเป็น “อัศวินคลื่นลูกที่สาม” ควรจะยกย่องเจ้าของสัมปทานที่จอดรถด้วยเพราะไม่แตกต่างกัน

ทักษิณไม่เคยมีภูมิหลังของการเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพหรือเพื่อต่อต้านเผด็จการแต่อย่างใด หากแต่เป็นนายทุนผูกขาด สมมติฐานของการเข้าสู่การเมืองในช่วงเริ่มแรกจึงน่าจะอยู่ที่การเข้ามาเพื่อปกป้องสัมปทานในกิจการผูกขาดที่ตนเองได้มาจากรัฐมากกว่าจะทำเพื่อบ้านเมือง เพราะหากทักษิณยินดีจ่ายเพื่อให้ได้สัมปทานก็แสดงว่าสัมปทานนั้นมีกำไรและย่อมมีคนอื่นมองเห็นในไม่ช้าและอาจยินดีจ่ายมากกว่า การได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยเข้าสู่การเมืองเสียเองจึงเป็นการกีดกันคู่แข่งอย่างเบ็ดเสร็จเด็จขาด

ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้สูง เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ต้องอาศัยเสียงในสภาเกินกว่า 2 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา หรือ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกกลับต้องสังกัดพรรคและเคารพมติพรรคมากกว่าการเป็นตัวแทนประชาชน ในขณะที่ถ่วงดุลอำนาจบริหารด้วยองค์กรอิสระต่างๆ ในการตรวจสอบ "

ดังนั้นการผูกขาดจะทำได้ก็ต่อเมื่อต้องลดการตรวจสอบลงให้มากที่สุดอันเป็นที่มาของการแทรกแซงองค์กรอิสระไม่ให้ทำตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ตัวอย่างสำคัญก็คือการแทรกแซงศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระในการตรวจสอบเรื่อง “การซุกหุ้น” ของทักษิณในกิจการที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐอันเป็นการขัดกันของผลประโยชน์โดยชัดแจ้งซึ่งมาถูกเปิดเผย และหักล้างคำวินิจฉัยที่ไม่ได้มาตรฐานของตุลาการรัฐธรรมนูญที่เข้าข้างทักษิณโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองและงานวิจัยต่างๆ ในภายหลัง

ผลเสียของการผูกขาดที่สำคัญก็คือ ผู้บริโภคจะมีสวัสดิการหรือความเป็นอยู่ที่เลวลงอันเป็นผลมาจากการที่ต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น (หรือคุณภาพลดลง) นอกจากนี้แล้วการผูกขาดทำให้มีการผลิตสินค้าบริการออกมาน้อยกว่าความสามารถที่จะผลิตได้เนื่องจากกีดกันไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาผลิตแข่ง ทำให้สังคมเสียประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่คุ้มค่า

AKB 48 เป็นกลุ่มนักร้อง Idol หญิงของญี่ปุ่นที่อาจมีจำนวนมากที่สุดในโลกคือมีจำนวนสมาชิกถึง 48 คนทั้งที่ยังไม่รวมสมาชิกสำรอง ประเด็นที่หลายคนอาจสงสัยก็คือทำไมต้องมีสมาชิกมากมายขนาดนี้ คำตอบอาจจะอยู่ที่การผูกขาดเป็นสำคัญ

การร้องเพลงในโทนเสียงเดียวกันทั้งหมด แบ่งกันร้องคนละท่อน และมิได้มีลักษณะของการประสานเสียงแต่อย่างใด ทำให้สมาชิกแต่ละคนที่มีจำนวนมากสามารถถูกทดแทนได้โดยง่าย ค่ายเพลงเจ้าของวงจึงสามารถผูกขาดควบคุมได้ง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับนักร้องเดี่ยว คู่ เช่น Simon and Garfunkel หรือกลุ่ม 4 คน เช่น ABBA หรือดงบังชินกิ ที่ไม่มีสามารถควบคุมได้เพราะไม่สามารถหานักร้องอื่นๆ เข้ามาทดแทนในชื่อเดิมได้โดยง่าย เมื่ออำนาจต่อรองไม่มีผลประโยชน์ก็น้อยลง

ผลของการผูกขาดจึงทำให้สังคมซึ่งเป็นผู้บริโภคต้องฟังเพลงจากนักร้องโทนเสียงเดียวกันทั้งหมดที่พลัดกันมาร้องคนละนิดคนละหน่อยในแต่ละท่อนเพราะมีสมาชิกมาก ยิ่งเจ้าของสามารถทำให้กระแสนักร้องในแนวนี้ได้รับความนิยมมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้ขาดการสร้างสรรค์ในวงการเพลงมากขึ้นเพราะค่ายเพลงจะทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่ไปในนักร้องแนวนี้โดยไม่สนใจนักร้องอื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้

รัฐมนตรีในรัฐบาลและส.ส.ในช่วงปี พ.ศ. 2544-49 ก็ไม่ต่างจาก AKB 48 แต่อย่างใด รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ทำให้ ส.ส.ถูกทดแทนได้โดยง่ายจากการต้องสังกัดพรรคเหมือนในระบบคอมมิวนิสต์ มติพรรคการเมืองที่สังกัดจึงอยู่เหนือการตัดสินใจในฐานะตัวแทนประชาชนอันเนื่องมาจากการเข้าสู่/ขับออกจากสภาฯ ของตัวแทนประชาชนขึ้นอยู่กับพรรค และการตั้งพรรคเอื้อต่อนายทุนมากกว่าประชาชนคนทั่วไป

การถูกขับออกจากพรรคอาจต้องสิ้นสภาพ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา ในขณะที่รัฐมนตรีต้องพ้นมาจากสถานะ ส.ส.ยิ่งขาดอำนาจต่อรองเพราะหากต้องพ้นจากตำแหน่งแม้สภาฯ ก็กลับเข้ามาไม่ได้ ทุกฝ่ายทุกคนจึงขาดอำนาจต่อรองกับเจ้าของพรรคที่สามารถกุมอำนาจผูกขาดได้โดยสิ้นเชิง

ผลเสียภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่ก่อให้เกิดการผูกขาดโดยเจ้าของพรรคให้เห็นเป็นประจักษ์ก็คือ ส.ส.และรัฐมนตรีในรัฐบาลยินดีที่จะร่วมกระทำผิดตามที่เจ้าของพรรคจะสั่งการมากกว่าหน้าที่การเป็นตัวแทนเพื่อประชาชน การเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อเป็นตัวแทนประชาชนจึงเป็นเพียงพิธีกรรมและเป็นการลงทุนที่เมื่อเจ้าของพรรคจ่ายเงินซื้อเสียงให้ไปแล้วก็เป็นอันหมดความผูกพันกับประชาชน ส.ส.จึงเป็นสมบัติของเจ้าของพรรคหาใช่ตัวแทนประชาชนอีกต่อไปไม่

เมื่อองค์กรอิสระที่สร้างไว้เพื่อตรวจสอบคานอำนาจฝ่ายบริหาร เช่น กกต. ปปง. ป.ป.ช. สตง. หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกแทรกแซงโดยฝ่ายบริหาร รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 จึง “ตาย”แล้ว เพราะถูกบิดเบือนและนำไปใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการผูกขาดของทักษิณอย่างชัดเจนและโจ่งแจ้ง

รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจึงมาจากการเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมา แม้จะยังไม่ได้แก้เรื่องการสังกัดพรรคแต่ก็แก้ไขปรับอำนาจฝ่ายบริหารให้ลดลงเพราะเห็นแล้วว่าการใช้องค์กรอิสระมาถ่วงดุลพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล หากรังเกียจที่มาก็ช่วยบอกด้วยว่ามีรัฐธรรมนูญฉบับใดบ้างที่ไม่ได้มาด้วยการปฏิวัติ ทำไมไม่ดูเนื้อหาที่มาเสียก่อน

ดอนคาเลโอเน่ (แสดงโดย มาร์ลอน แบรนโด) ผู้เป็นประมุขมาเฟียใหญ่ในเรื่อง เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ที่โด่งดังได้กล่าวอมตะวาจาอย่างผู้รู้แจ้งเห็นจริงในสันดานโจรกับไมเคิลลูกชาย (แสดงโดย อัล พาชิโน่) ที่เข้ามารับตำแหน่งต่อในช่วงสงครามระหว่างแก๊งมาเฟียของนิวยอร์กในช่วงที่แก๊งตนเองเสียเปรียบเป็นรองแก๊งอื่นว่า หากมีคนใดในแก๊งมาเป็นตัวแทนแก๊งอื่นๆ เสนอให้มีการ “ปรองดอง” โดยการเชิญไปประชุมกับประมุขแก๊งอื่นที่เป็นอริต่อกันเพื่อสงบศึกก็ให้รู้ไว้เลยว่าคนนั้นคือคนทรยศเพราะจะลวงไปฆ่า

แม้เรื่องข้างต้นจะเป็นเรื่องแต่ง แต่ความพยายามยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้วให้นำเอาแนวทางหรือรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 กลับมาใช้แทนโดยอำพรางว่าเป็นการแก้ไขจึงเป็นเช่นเดียวกัน เพราะปัญหาที่แท้จริงของประเทศอยู่ที่การผูกขาดอำนาจการเมืองโดยพรรคการเมืองที่ประชาชนไม่ว่ากลุ่มใดไม่ได้เป็นเจ้าของแต่อย่างใด ยิ่งเอาฉบับที่พิสูจน์แล้วว่าเอื้อให้เกิดการผูกขาดยิ่งแสดงถึงเป้าหมายซ่อนเร้นได้เป็นอย่างดีว่า “พูดอย่างทำอย่าง”
กำลังโหลดความคิดเห็น