xs
xsm
sm
md
lg

ดร.โกร่ง...อย่าโกง...(5)

เผยแพร่:   โดย: ดร.ประยูร อัครบวร

ในห้วงเวลาที่ ดร.โกร่งเป็นที่ปรึกษาธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (บีบีซี) เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าหนองการเงินระบม ด้วยระยะเวลาในช่วง 2 ปีจากกลางปี 2536 ถึงต้นปี 2539 ตามที่หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2539 สรุปพาดหัวข่าวว่า “ฉีกหน้ากาก ‘นักธุรกิจ-การเมือง’ รุมทึ้ง ‘แบงก์-ตลาดหุ้น’ ฉก 10,000 ล้าน” ซึ่งนักธุรกิจประกอบด้วยนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ นายราเกซ สักเสนา นายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ นายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ นายอัดนัน คาช็อคกี้ รวมทั้งนายเอกชัย อธิคมนันทะ ซึ่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารบีบีซี และที่ปรึกษาส่วนตัวนายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนนักการเมืองประกอบด้วยนายสุชาติ ตันเจริญ นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม นายสนธยา คุณปลื้ม นายสุชน ชาลีเครือ และนายฉัฐวัสส์ มุตตามระ ซึ่งนักธุรกิจการเมืองเหล่านี้ต่างอาศัยช่องทางการเงินของธนาคารบีบีซี และบริษัทในเครือในการเข้าไปรุมทึ้ง ‘แบงก์-ตลาดหุ้น’ ซึ่งมีวิธีการดังนี้

1. แบ่งคนออกเป็นกลุ่มๆ แล้วจัดตั้งบริษัทขึ้นมา เพื่อเล่นบทเป็นผู้เทกโอเวอร์หรือเข้าไปซื้อกิจการทั้งหมด บางครั้งเล่นบทเป็นผู้รับซื้อบริษัทต่อจากผู้เทกโอเวอร์ครั้งแรก

2. ทั้งผู้เทกโอเวอร์และผู้ซื้อกิจการต่อหรือเทกโอเวอร์ในรอบที่สอง ล้วนแต่ใช้เงินกู้และที่ปรึกษาการเงินแหล่งเดียวกัน คือ บีบีซีและบริษัทในเครือซึ่งเท่าที่ตรวจสอบพบข้อมูลและเอกสารจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต่ำกว่า 7,600 ล้านบาท และถ้ารวมแหล่งเงินทุนอื่นที่บีบีซีหาให้อาจถึง 10,000 ล้านบาท

3. ระหว่างการเข้าเทกโอเวอร์หุ้นจะมีการผลักดันให้หุ้นบริษัทนั้นๆ มีราคาสูง แล้วจะมีการเทขายหุ้นทิ้งเพื่อทำกำไร นั่นคือการทำกำไรรอบที่หนึ่ง เมื่อเข้าเทกโอเวอร์ได้เพียงครึ่งปีหรือหนึ่งปีก็จะขายหุ้นต่อทั้งหมดในราคาสูง เพื่อทำกำไรในรอบที่สอง

4. การเข้าซื้อหุ้นนั้น หุ้นบริษัทส่วนใหญ่จะมีปัญหาขาดทุนขนาดหนักหรือมีแนวโน้มแย่เช่น เอเชี่ยน ฟุตแวร์ เซมิคอนดัคเตอร์ฯ เทคโนโลยี่แอพพลิเคชั่น เอิร์ธ อินดัสเตรียลหรือชลประทานซีเมนต์ที่เผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงในขณะนั้น ซึ่งผู้เข้าเทกโอเวอร์มักจะแสดงตัวว่าต้องการเข้าไปบริหารและปรับปรุงกิจการอย่างจริงจัง แต่เพียงครึ่งปีหรือหนึ่งปีก็จะขายกิจการทิ้งอย่างหน้าตาเฉย

5. มีการรับซื้อหุ้นหรือเทกโอเวอร์รอบสองในราคาที่สูง โดยเฉพาะนายอัดนัน คาช็อคกี้ นักค้าอาวุธก้องโลกและมีความเป็นมาค่อนข้างลึกลับ ต่างได้รับเงินสนับสนุนจาก บีบีซีกว่า 5,000 ล้านบาทในการเทกโอเวอร์ 3 บริษัท (เซมิคอนดัคเตอร์-25 พ.ย. 2537, มรกตอินดัสตรี้-18 พ.ค. 2538 และชลประทานซีเมนต์- 9 ธ.ค. 2538)

จากวิธีการข้างต้นจะเห็นได้ว่าเป็นการเอาอัฐยายซื้อขนมยาย เป็นการโยกย้ายเงินภายในเครือข่ายธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (บีบีซี) ทั้งสิ้น และการโยกย้ายเงินหรือการให้สินเชื่อขนาดใหญ่หมื่นล้านบาทตลอดระยะเวลาสองปีในฐานะที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์อย่าง ดร.โกร่งไม่เคยได้กลิ่นอะไรเลยหรือ

ถ้า ดร.โกร่งเป็นแค่อาจารย์สอนหนังสือ คนทั่วไปคงไม่ต้องตั้งคำถาม แต่ดร.โกร่งมีประสบการณ์เป็นกรรมการธนาคารสยามปี 2527-2528 เป็นกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2528-2530 เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ ไทยฟูจิ จำกัด ปี 2538 จึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า “ดร.โกร่งไม่รู้เพราะเขาไม่บอกให้รู้ หรือรู้แต่ไม่ใส่ใจ หรือรู้แต่แกล้งเป็นไม่รู้ หรือโง่ที่ไม่รู้ตามไม่ทัน หรือฯลฯ”

นอกจากนี้ในฐานะอาจารย์สอนทางด้านเศรษฐศาสตร์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าเขย่าขวัญสถาบันทางการเงิน ทางเศรษฐกิจ นั่นคือการบีบให้นายเอกกมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คนแรกลาออกและปลดออกจากรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ก็ต้องถามว่า ดร.โกร่งไปอยู่ตรงไหน ไม่รู้เลยหรือว่านายเอกกมล คีรีวัฒน์เป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. ปี 2535-2538 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับ ดร.โกร่งเป็นที่ปรึกษากรรมการธนาคารบีบีซี เป็นรองผู้ว่าการ ธปท.คนแรกของประเทศไทยที่ถูกปลดกลางอากาศ

รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชาถูกวิจารณ์อย่างหนัก สิ้นปี 2538 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถูกผู้สื่อข่าวตั้งฉายาว่า “วิญญูชนจอมปลอม” นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โพลสำรวจก็ออกมาเป็น “ยี้” ระดับต้นๆ และมีข่าวที่เสียหายแก่ภาพลักษณ์ ธปท. มาตลอดหลายเดือนอย่างมติชน วันที่ 2 ก.พ. 2539 พาดข่าว “กรรมมาธิการยำ ‘วิจิตร’ เละ แฉบิ๊กแบงก์ชาติงาบหุ้น” และยังมีบทวิจารณ์รัฐบาลหรือที่นักการเมืองล้วงลูกใน ธปท.และหากินกับสถาบันทางการเงินอีกหลายฉบับ อย่างคุณอภิชาติ ชอบชื่นชม รายงานในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับกุมภาพันธ์ 2539 ว่า “ในอดีตนั้นจะมีแต่ตัวผู้ว่าการฯ ลาออกเพื่อประท้วงรัฐบาลอย่างอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือถูกปลด เพราะรัฐบาลไม่ชอบหน้าอย่างนุกูล ประจวบเหมาะหรือกำจร สถิรกุล แต่ไม่เคยลามปามถึงรองผู้ว่าการฯ”

ดร.โกร่งครับ ความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (บีบีซี) ในครั้งนั้น ลุกลามไปถึงความไม่น่าเชื่อถือของสถาบันการเงินไทยทั้งหมด จึงเป็นจุดอ่อนที่นักค้าเงินเห็นช่องทางการหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะ ธปท.ตกต่ำที่ขาดภูมิต้านทาน และการถูกโจมตีค้าเงินนั้นจึงยากต่อการต่อกร ไม่มีใครกล่าวโทษ ดร.โกร่ง...โกงหลอกครับ ที่ผู้เขียนเขียนมาทั้งหมด เพื่อเตือนใจคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ พูดอะไรระวังคำพูด ซึ่งถ้าจำได้ในคอลัมน์ “คนเดินตรอก” ของดร.โกร่งเองในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 16 พ.ค. 2548 เขียนว่า “ธปท.ไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ยเพราะไปฟังนโยบายจากฝั่งการเมือง ทั้งที่ธนาคารไม่ควรไปกำหนดนโยบายเพื่อสนองความต้องการของรัฐบาล” พอมาถึง พ.ศ.นี้ ดร.โกร่ง กลับยั๊วแบงก์ชาติเพราะไม่ฟังคำแนะนำให้รับโอนหนี้สาธารณะหรือฟังฝั่งการเมืองสั่ง พูดอย่างนี้จะเรียก ดร.โกร่งว่าอะไรดี???

บทความชุด “ดร.โกร่ง...อย่าโกง” ก่อนจบลงนี้ ผู้เขียนบอกได้เลยว่าเขียนด้วยความเป็นห่วงครับ ไม่เคยโกรธ เกลียด ดร.โกร่งเป็นการส่วนตัวและที่จบลงตอนที่ 5 เป็นการตั้งใจเขียนย่อให้จบ เพื่อให้ ดร.โกร่งและเผื่อแผ่ไปถึงคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ระลึกถึงเลข 5 รัชกาลที่ 5 ที่พระนามของพระองค์เป็นชื่อ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นสถาบันที่ดร.โกร่งหรือคุณกิตติรัตน์ ณ ระนองได้รับการศึกษาและโปรดระลึกว่า พระองค์สร้างคุณูปการต่อประเทศไทยมาก รวมทั้งการเลิกทาสให้เป็นไทย แต่ไฉนเลยคนไทย พ.ศ.นี้กลับกลายเป็นทาส “เงิน” โดยไม่สนใจต่อจริยธรรม คุณธรรมที่ดีงาม
กำลังโหลดความคิดเห็น