ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
สังคมไทยมีความสนุกสนานเป็นวัฒนธรรมหลักประการหนึ่ง เราสามารถทำเรื่องราวที่ดูจริงจัง หนักหนาสาหัส รันทดหดหู่ให้กลายเป็นเรื่องราวที่สนุกสนานได้ และรูปแบบหนึ่งของการสร้างความสุขสนุกสนานคือ การจัดงานเลี้ยงซึ่งมีดนตรีขับกล่อม
งานเลี้ยงเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่วันเกิดจวบจนไปถึงวันตาย พรมแดนของงานเลี้ยงก็กว้างขวางครอบคลุมในหลากหลายมิติของชีวิต งานเลี้ยงบางอย่างถูกจัดขึ้นในโอกาสสำคัญของชีวิต เช่น วันเกิด วันแต่งงาน วันบวช วันสำเร็จปริญญา และวันตาย บางอย่างถูกจัดอันเนื่องมาจากวันสำคัญตามประเพณี เช่น วันปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ บางอย่างเชื่อมโยงกับการทำงาน เช่น เลี้ยงต้อนรับ เลี้ยงฉลองสองขั้น เลี้ยงส่ง เลี้ยงเกษียณ เลี้ยงฉลองความสำเร็จหรือชัยชนะขององค์การ บางอย่างเชื่อมโยงกับความมีโชคของตนเอง เช่น เลี้ยงเมื่อถูกล้อตเตอรี่ หรือ เลี้ยงเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจอย่างไม่คาดฝัน บางอย่างเชื่อมโยงกับการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มบุคคล เช่น งานเลี้ยงรุ่น งานเลี้ยงระหว่างคนมีอยู่จังหวัดเดียวกันหรือภาคเดียวกันในต่างถิ่น แต่งานเลี้ยงบางอย่างมีความเชื่อมโยงกับอำนาจ
ในทางการเมืองก็มีการจัดงานเลี้ยงอย่างแพร่หลาย แต่การจัดงานเลี้ยงแต่ละครั้งอาจมีวัตถุประสงค์มากกว่าการเข้ามาร่วมสนุกและแบ่งปันความสุขระหว่างกันของผู้ร่วมงานเลี้ยง การจัดงานเลี้ยงทางการเมืองของนักการเมืองแต่ละครั้งย่อมมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากงานเลี้ยงถูกจัดโดยกลุ่มผู้มีอำนาจและผู้เข้าร่วมเป็นผู้มีอำนาจที่ใกล้เคียงกันและจัดในแวดวงจำกัดกลุ่มเข้าร่วม เป้าหมายของงานเลี้ยงแบบนี้คือการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจและการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ ส่วนการจัดงานเลี้ยงโดยนักการเมืองและเปิดให้ผู้คนทั่วไปเข้าร่วม เป้าหมายหลักคือการตรวจสอบอำนาจบารมีของตนเอง รวมทั้งเป็นการตรวจสอบว่าใครเป็นพวกใครไม่ใช่พวก
สำหรับการจัดงานเลี้ยงขององค์การหรือหน่วยงานยังอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนเข้าสู่องค์การนั้นๆ ในระยะหลังการจัดงานเลี้ยงแบบนี้เป็นที่นิยมของพรรคการเมืองไทย เพราะสามารถทำให้สามารถประกาศอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะได้ว่าเงินของพรรคมีที่มาอย่างไร
การจัดงานเลี้ยงทุกงานย่อมมีต้นทุนและมีเจ้าภาพ แหล่งทุนในการจัดงานเลี้ยงอาจมีที่มาหลากหลาย ประเภทแรก เจ้าภาพผู้จัดงานเลี้ยงเป็นผู้ออกทุนเองทั้งหมดโดยผู้เข้าร่วมไม่จำเป็นต้องออกเงินใดๆทั้งสิ้น ไปดื่มกินและรับความสนุกสนานอย่างเดียว งานเลี้ยงประเภทนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างภาพลักษณ์และความนิยมแก่ผู้เป็นเจ้าภาพไม่ว่าในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล กลุ่มหรือองค์การ ประเภทที่สอง เป็นเจ้าภาพใช้เงินของผู้อื่นหรือเงินงบประมาณแผ่นดิน แต่จัดงานเลี้ยงในนามตนเอง และผลพวงจากงานเลี้ยงตนเองก็จะได้ไป ประเภทที่สาม เจ้าภาพออกทุนไปก่อนและผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงให้เงินตามแต่ศรัทธา เช่น งานแต่งงาน หรืองานบวช เป็นต้น ประเภทที่สี่ เจ้าภาพออกทุนไปก่อนแต่มีการกำหนดราคาในการเข้าร่วมงานเลี้ยง เช่น งานเลี้ยงพรรคการเมืองบางพรรคกำหนดโต๊ะละหนึ่งแสนบาท บางพรรคโต๊ะละหนึ่งล้านบาท เป็นต้น และประเภทที่ห้า ผู้ร่วมงานเลี้ยงช่วยกันออกทุนเท่ากันหรือในสัดส่วนใกล้เคียงกัน เช่น งานเลี้ยงระหว่างเพื่อนฝูง
รัฐบาลไทยก็มีการจัดเลี้ยงเฉกเช่นเดียวกับองค์การอื่นๆในสังคม งานเลี้ยงของรัฐบาลที่กระทำกันอย่างประเพณีมาช้านานในสังคมไทยคือ งานเลี้ยงสโมสรสันนิบาต ซึ่งหมายถึงงานชุมนุมใหญ่อย่างเป็นทางการที่จัดโดยรัฐบาล งานเลี้ยงสโมสรสันนิบาตเป็นงานที่พัฒนามาจากงานเลี้ยงฉลองวันชาติในอดีตโดยตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา ประเทศไทยถือว่าวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันชาติ
รัฐบาลไทยได้เริ่มจัดงานฉลองวันชาติในนามของรัฐบาลสมัยที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเรียกว่า “งานสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” รัฐบาลในชุดต่อมาก็ได้จัดงานสโมสันนิบาตอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์พระประมุขของประเทศ รัฐบาลจัดงานนี้ทุกปีในวันที่ 7 ธันวาคม แต่บางปีอาจเลื่อนไปวันที่ 9 ธันวาคม ขึ้นอยู่กับพระราชกิจขององค์ประธาน
ในบางปีรัฐบาลอาจจัดงานเลี้ยงสันนิบาตเพิ่มขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์เนื่องในโอกาสสำคัญ เช่น รัฐบาลอภิสิทธิ์จัดงานสโมสรสันนิบาตและงานถวายพระกระยาอาหารค่ำเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล “มิตรนานาชาติสิบอันดับแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน” ในวันที่ 7 มีนาคม 2553 เป็นต้น
งานสโมสรสันนิบาตเป็นงานที่รัฐบาลเชิญบุคคลผู้มีตำแหน่งสำคัญของประเทศจากสถาบันหลักของชาติเข้าร่วมงาน ทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ องค์การอิสระ หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนองค์การภาคเอกชน สื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศ คณะทูตานุทูต และหัวหน้าองค์การระหว่างประเทศที่มีสำนักงานตั้งในประเทศไทย จึงกล่าวได้ว่าเป็นงานที่รวบรวมบุคคลชนชั้นนำของประเทศไทยและต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยมาพบปะและร่วมกันเฉลิมพระเกียรติแด่องค์ประมุขของชาติและพระบรมวงศานุวงศ์
แต่งานเลี้ยงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่จัดขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 255 เป็นงานเลี้ยงอย่างเป็นทางการของรัฐบาลที่จัดขึ้นมาภายใต้ชื่อ “รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย” โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างออกไป คุณยิ่งลักษณ์นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า งานเลี้ยงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเลี้ยงขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหลังมหาอุทกภัย และเพื่อฟื้นฟูสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย
ในงานเลี้ยงนี้มีอาหารรับรองแบบค็อกเทล มีการแสดงดนตรีวงไทยแลนด์ฟิลฮาโมนิกออร์เคสตรา และมีนักร้องประสานเสียงของวิทยาลัยดุริยางศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และซิมโฟนี่ออร์เคสตราของเหล่าทัพ รัฐบาลจัดให้มีการถ่ายทอดสดถึง 2 สถานี คือสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ เรียกได้ว่าเป็นงานเลี้ยงที่หรูหรามีอาหารอย่างดีและดนตรีชั้นเลิศมาบรรเลงกล่อมผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงให้เพลินเพลินสนุกสนานจนลืมความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกภัยพิบัติน้ำท่วมให้ได้
ผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงก็เป็นบุคคลสำคัญที่มาจากคณะองคมนตรี ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทูตานุทูต นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง ผบ.เหล่าทัพ ผบ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม สื่อมวลชน รวมแล้วหลายร้อยคน ส่วนกลุ่มคนที่รัฐบาลไม่เชิญคือพรรคฝ่ายค้าน ญาติของผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม และตัวแทนของประชาชนกลุ่มที่ถูกน้ำท่วม งบประมาณที่ใช้ในการจัดงานเลี้ยงนี้เป็นงบประมาณแผ่นดิน ไม่ใช่เงินส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคาดว่าทรัพยากรต่างๆที่ใช้เพื่อจัดงานเลี้ยงนี้คงมีมูลค่าหลายล้านบาท
งานเลี้ยงแบบนี้ควรจัดหรือไม่ หากใช้สามัญสำนึกคิดสักนิดก็คงวินิจฉัยได้ว่าควรหรือไม่ควรที่รัฐบาลจะเผาผลาญเงินงบประมาณของประเทศทั้งที่ประชาชนจำนวนมากยังได้รับความเดือดร้อนจากการถูกน้ำท่วมและบางส่วนก็ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ อีกทั้งยังบอกต่อสังคมว่ารัฐบาลไม่มีเงินจนต้องออกพระราชกำหนดไปกู้เงินมาใช้อีก 3.5 แสนล้านบาท เมื่อบอกสังคมว่าไม่มีเงิน แล้วทำไมจึงเอางบประมาณแผ่นดินมาใช้ในสิ่งที่ไม่ควรใช้เช่นนี้
วิธีคิดที่ว่าการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศไทยเกิดขึ้นได้จากการจัดงานเลี้ยง เป็นวิธีคิดที่ขาดความสมเหตุสมผลอย่างสิ้นเชิง เป็นวิธีคิดแบบเด็กเล่นขายของ แคบและตื้น เต็มไปด้วยมายาคติและอคติของจิตที่มืดมน
ความเชื่อมั่นของประเทศใดเป็นผลมาจาก ผู้นำประเทศนั้นมีวิสัยทัศน์ชัดเจน มียุทธศาสตร์ถูกต้อง สอดคล้องกับสภาพของปัญหาและความเป็นจริง มีแผนงาน โครงการเชิงรูปธรรมซึ่งสอดประสานกันอย่างเป็นระบบ มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อันทรงพลังและมีการบริหารภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่เน้นประสิทธิภาพ ความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน และความรับผิดชอบต่อสาธารณะ
แต่ที่น่าเศร้าใจคือสิ่งเหล่านี้ไม่ปรากฏอยู่ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์แม้แต่น้อย สิ่งที่รัฐบาลทำมีแต่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง อาทิ การเสนอขอกู้เงินจำนวนมหาศาล แต่ขาดยุทธศาสตร์และแผนงานโครงการที่ชัดเจนในการดำเนินงาน ดังที่นายปราโมทย์ ไม้กลัด หนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.)ได้ระบุว่า การทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลมีความล่าช้าและไม่มีแผนงานที่ชัดเจน คิดแต่จะใช้งบประมาณ
เมื่องานเลี้ยง “รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย” ไม่อาจทำหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นได้แล้ว งานนี้มีนัยอะไรทางการเมืองบ้าง ประการแรกเป็นการสร้างภาพเชิงมายาคติแก่สาธารณชนว่าขณะนี้รัฐบาลมีสัมพันธภาพที่ดีกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีที่ตอบรับเข้าร่วมงานเลี้ยงนี้ อันนำไปสู่การอ้างว่าขณะนี้ประเทศมีความปรองดองแล้ว และอาจถูกนำไปอ้างต่อเพื่อสนับสนุนการออก พ.ร.บ.ปรองดอง ที่จะยกเลิกโทษทุกอย่างของทักษิณ ชินวัตร
ประการที่สอง เป็นการแสดงให้สังคมเข้าใจว่ารัฐบาลสามารถควบคุมและบัญชาการเหล่าทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จ การถ่ายทอดสดทางทีวีจะทำให้เห็นภาพบรรดาเหล่าข้าราชการซึ่งรวมทั้งผบ.เหล่าทัพแสดงท่าทีอ่อนน้อมต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา และภาพนี้ย่อมจะถูกใช้ขยายผลต่อไป อันเป็นการแสดงถึงอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่มีเหนือเหล่าทัพทั้งปวง
ประการที่สาม มีความเป็นไปได้สูงที่ประชาชนบางส่วนจะสับสน ตั้งข้อสงสัยและคำถามต่อจุดยืนทางการเมืองของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อันอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาที่กลุ่มคนเหล่านั้นมีต่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยนัยนี้จึงอาจตีความได้ว่าเป็นแผนการของรัฐบาลที่ใช้งานเลี้ยงนี้สร้างรอยร้าวขึ้นในกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล รวมทั้งทำให้เกิดการสั่นคลอนเกี่ยวกับความเชื่อเชิงจริยธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะท่าทีกับคนชั่ว ว่าเราควรมีท่าทีอย่างไร ควรคบกับเขาหรือไม่
และประการสุดท้าย เป็นการจำแนกว่ามีกลุ่มใดและใครบ้างที่เป็นพวกเดียวเหนียวแน่นกับรัฐบาล กลุ่มใดเมื่อได้รับเชิญแล้วเข้าร่วมงานเลี้ยงก็จะถูกนับว่าเป็นพวกรัฐบาล ส่วนใครกลุ่มใดที่ได้รับเชิญแล้วแต่ไม่เข้าร่วมงานเลี้ยงก็จะถูกนับว่าเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล
งานเลี้ยงบางอย่างเป็นงานที่เจ้าภาพจัดขึ้นมาเพื่อใช้กำจัดหรือบ่อนทำลายผู้ที่ถูกระแวงสงสัยว่าเป็นศัตรูกับตน แต่บางครั้งผู้ที่เข้าร่วมงานเลี้ยงก็เป็นฝ่ายที่จัดการเจ้าภาพ กระนั้นก็ตามไม่ว่าใครจะถูกบ่อนทำลายระหว่างเจ้าภาพและฝ่ายที่ถูกเชิญมา งานเลี้ยงประเภทนี้ก็ถูกเรียกว่า “งานเลี้ยงมรณะ” ที่สร้าง “ความหายนะ” แก่ผู้ร่วมงานและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
งานเลี้ยงวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นงานเลี้ยงที่สร้างความหายนะหรือสร้างความเชื่อมั่น ก็คงต้องดูผลกระทบที่ตามมาภายหลังว่าจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นฝ่ายได้ และใครเป็นฝ่ายเสีย และความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีมากน้อยเพียงใด