xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมจ่อแก้กม.เพิ่มสัดส่วนต่างชาติลงทุนดอนเมืองผุด"ศูนย์ซ่อมอากาศยาน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "ชัชชาติ" เล็งแก้พ.ร.บ.เดินอากาศ 2497 ปรับเพิ่มสัดส่วนต่างชาติ จูงใจลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานดอนเมือง ชี้ต้องเร่งแก้ข้อกฎหมายทางอากาศ หวั่นมีปัญหาเปิด AEC เนื่องจากไม่เสรีตามเงื่อนไข มั่นใจ ดอนเมืองฟื้นขาดทุน เน้นสร้างรายได้จาก 6 กิจกรรม เหตุรันเวย์ดอนเมืองมีศักยภาพมาก

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังตรวจพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองตามแผนฟื้นฟู วานนี้ (6 ก.พ.) ว่า ได้ติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูฯ ทั้งในส่วนที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลและส่วนที่ใช้งบประมาณของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เอง เพื่อให้เป็นไป ตามยุทธศาสตร์แผนฟื้นฟูน้ำท่วมนอก จากนี้จะดูศักยภาพของท่าอากาศยาน ดอนเมืองในปัจจุบันว่า มีความพร้อมในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ อย่างไร ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่า ตามแผนการใช้ประโยชน์ จากท่าอากาศยานดอนเมืองนั้นอาจจะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ที่กำหนดสัดส่วนของต่างชาติไม่เกิน 49% คนไทย 51% เนื่องจากทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจไม่เข้ามาลงทุน

นอกจากนี้ ข้อจำกัดด้านการขนส่งทางอากาศ ยังจะเป็นปัญหากับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC: ASEAN Economic Community) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ซึ่งจะต้องมีการปิดเสรีในด้านการขนส่ง

"ทอท.มีแผนพัฒนาดอนเมือง 6 โครงการ แต่ปัญหาคือ ไม่รู้จะมีคนมา ลงทุนหรือไม่ เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยว ข้องมาก โดยเฉพาะ พ.ร.บ.เดินอากาศ ปี 2497 ที่เน้นทุกอย่างต้องคนไทย ทำให้โรลสรอยซ์ ไปลงทุนที่สิงคโปร์มูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐแทนแล้ว แต่ถ้ามีคนไทยลงทุนหรือต่างชาติสามารถหาพาร์ตเนอร์คนไทยร่วมทุนได้ ก็ไม่ต้องแก้พ.ร.บ. ดังนั้นสิ่งที่ต้องดูคืออะไรบ้างที่เป็นปัญหาเป็นอุปสรรค โดยคาดว่า หลังจากตรวจพื้นที่สนามบินทั้งหมดรวมถึงคลังสินค้าแล้ว ภาย ใน 1-2 เดือนนี้ สามารถสรุปแนวทางการแก้ปัญหาอุปสรรคและการพัฒนาดอนเมืองที่ชัดเจนได้" นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า เป้าหมายเพื่อให้ใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเองเต็มศักยภาพ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อสร้างรายได้เพิ่มจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน เพราะศักยภาพของดอนเมืองคือ รันเวย์ ดังนั้น การเป็นศูนย์กลางด้านการซ่อม บำรุงอากาศยานจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ซึ่งที่ผ่านมา ดอนเมืองต้องประสบกับการขาดทุนมาก เพราะมีสินทรัพย์ด้อยค่า และต้องลงบัญชีเป็นขาดทุน กว่า 4,000 ล้านบาทในปี 2552 ดังนั้นถ้าสร้างกิจกรรมที่ทำให้สินทรัพย์มีมูลค่าขึ้นมาได้ ก็จะทำให้มีกำไรกลับคืนมาได้ ส่วนการตั้งศูนย์ค้า ส่ง-ค้าปลีก ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เห็นว่าไม่ใช่กิจกรรมที่เหมาะสมกับท่าอากาศยานดอนเมือง และไม่แน่ใจว่าประสบความสำเร็จหรือไม่

สำหรับแผนการใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานดอนเมือง 6 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน 2.โครงการบริหารจัดการอะไหล่อากาศยานในภูมิภาค 3. โครง การศูนย์ปลอดอากร หรือ Free Zone 4.โครงการศูนย์ขนส่งกระจายสินค้า 5. โครงการศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการ และ 6.โครงการอาคารผู้โดยสารสำหรับอากาศยานส่วนบุคคล หรือ Private Jet Terminal ซึ่งหลังจากพิจารณารายละเอียดทั้งหมด จะมีความชัดเจนว่าโครงการใดจะสามารถ พัฒนาได้ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น