xs
xsm
sm
md
lg

ชิงปิดสภาหนีกระทู้สด ส.ส.รัฐบาลตะเพิดประธานพ้นเก้าอี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฏร เมื่อเช้าวานนี้ (26 ม.ค.) มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฏร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งเป็นวาระการตั้งกระทู้ถามสดของสมาชิก ซึ่งในครั้งนี้มีการบรรจุวาระกระทู้สด 4 เรื่อง คือ 1. ผลกระทบจากนโยบายด้านเศรษฐกิจต่อต้นทุนการผลิต และราคาสินค้าของนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก 2 . ปัญหานโยบายการขายหุ้นปตท. ของ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ 3. ความเหมาะสมในการแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และ 4. นโยบายเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงมหาดไทย ของนายพงศกร อรรณพพร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แต่ปรากฏว่า ที่ประชุมสามารถชี้แจงกระทู้สดได้เพียง 2 เรื่อง คือกระทู้ของนายจุติ ที่เลื่อนมาหลายสัปดาห์ เนื่องจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถมาชี้แจงได้ และกระทู้ของนายพงษกร ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย
ส่วน 2 กระทู้ของนายกรณ์นั้น นายเจริญได้แจ้งว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง ติดภาระกิจไปต่างประเทศ จึงขอเลื่อนไปก่อน เพราะมีความประสงค์จะตอบเอง แต่นายกรณ์ได้แย้งว่า เรื่องนี้อยู่ในความกังวลของประชาชน เพราะมีผลต่อการดำรงชีวิต จึงควรมีความชัดเจนในนโยบายของรัฐบาล และควรจะมีความกระจ่างโดยเร็ว ซึ่งตนได้ตั้งกระทู้ถามนายกฯ แต่ก็มีสิทธิ์มอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดมาชี้แจงก็ได้ เพราะเรื่องนี้อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรี 3 คน และทุกคนมีสิทธิ์ และหน้าที่มาชี้แจง
ดังนั้นแม้ รมว.คลัง จะติดภาระกิจ แต่ยังมีรัฐมนตรี 2 คน คือ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมว.พลังงาน ที่รับผิดชอบปตท.โดยตรง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้เรื่องนี้และยังอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นควรจะมาตอบคำถามในสภา อยากให้ประสานไปยัง รมว.พลังงาน มาชี้แจงแทนที่จะซื้อเวลาไปอีก 1 อาทิตย์
ดังนั้นนายเจริญ จึงได้เลื่อนกระทู้ของนายกรณ์ ไปอยู่ลำดับสุดท้าย เพื่อประสานไปยังรมว.พลังงาน ให้ดินทางมาชี้แจงต่อสภา
ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อมาถึงกระทู้สดของ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่า ที่ประชุมเริ่มมีแรงกดดันขึ้นมาทันที เมื่อนายเจริญได้ชี้แจงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ติดภาระกิจไปต่างประเทศ และได้มอบหมายให้บุคคล 3 คน มาตอบแทน คือ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ในฐานะรักษาการนายกฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ และนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงแทน
แต่น.ส.รัชดา ค้านว่า ตนต้องการกระทู้ถามนายกฯโดยตรง ในฐานะที่เป็นผู้แต่งตั้งรัฐมนตรี เพราะการปรับครม. ถือเป็นอำนาจและดุลยพินิจของนายกฯ แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นรัฐมนตรีคนอื่นจึงไม่สามารถชี้แจงแทนได้
นายเจริญ จึงได้กล่าวว่า หากน.ส.รัชดา ยืนยันเช่นนั้น ก็ต้องถามผู้ตอบว่าพร้อมที่จะชี้แจงหรือไม่ ถ้าไม่พร้อม ก็ต้องเลื่อนกระทู้นี้ออกไป แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านได้แย้งว่าตามข้อบังคับที่ 147 นายเจริญไม่มีสิทธิ์ถามความพร้อมของผู้มาชี้แจง แต่ต้องถามความพอใจของเจ้าของกระทู้ ว่าจะถามต่อหรือไม่ ขณะที่นายเจริญ พยายามวินิจฉัยโดยอ้างว่า กรณีที่นายกฯ มีเหตุจำเป็น ก็สามารถให้คนอื่นมาตอบแทนได้ อีกทั้งนายยงยุทธ ก็เป็นรักษาการนายกฯ ก็พร้อมที่จะมาตอบด้วยตนเอง แม้ผู้ยื่นกระทู้ประสงค์จะถามนายกฯ เอง แต่ถ้าผู้ได้รับมอบหมายพร้อมที่จะชี้แจงก็ต้องกระทู้ถาม ถ้าไม่กระทู้ถามวันนี้ ก็ถือว่ากระทู้ต้องตกไป ตนจึงต้องถาม น.ส.รัชดาว่า ยินดีที่จะกระทู้ถามหรือไม่ ถ้าไม่ ก็เลื่อนไปเท่านั้นเอง
ต่อมา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นแสดงความเห็นว่า น.ส.รัชดา ยื่นกระทู้สดในช่วงเช้า ทั้งที่ก็รู้ว่านายกฯไม่อยู่ ไม่ใช่ไม่มาตอบ ถ้าต้องการกระทู้ถามจริงๆ ไม่เอามาเป็นประเด็นการมืองก็ต้องทราบอยู่แล้วว่า ไม่อยู่ เพราะไปอินเดีย หากจะยื่นก่อนล่วงหน้า ก็ยังพอแปลได้ว่าไม่ทราบ ถ้าอยู่เมืองไทยไม่มาตอบ ค่อยวิพากษ์วิจารณ์
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา กล่าวตำหนิการทำหน้าที่ประธานฯ ของนายเจริญ ว่ารักษาผลประโยชน์ของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะการตั้งกระทู้ถามสด มีเจตนารมณ์ในการซักถามฝ่ายบริหารในประเด็นที่เป็นที่สนใจของประชาชน และสังคม ดังนั้นในเมื่อนายกฯไม่สามารถมาตอบในเรื่องที่มีความจำเป็นโดยตรงที่นายกฯจะต้องมาตอบต่อสภาฯได้ ในข้อ 147 ระบุว่า นายกฯหรือรัฐมนตรีที่ถูกตั้งกระทู้ถาม ต้องเข้ามาตอบด้วยตนเอง เว้นแต่มีเหตุจำเป็น แต่ต้องแจ้งเหตุจำเป็นโดยทำหนังสือมาถึงประธานก่อน และให้กำหนดเวลาว่า จะตอบได้เมื่อใด แต่ประธานไม่อ่านตรงนี้ว่า ต้องทำอย่างใด คือ ต้องแจ้งว่าจะมาตอบเมื่อใด ไม่ใช่จะให้ใครมาตอบแทน และนส.รัชดา ก็ไม่ได้ตำหนินายกฯ แต่ที่ยื่นกระทู้ถามวันนี้ เพราะกระทู้ถามสดต้องยื่นถามในขณะที่เป็นประเด็นความความสนใจในสังคม หากนายกฯ มาไม่ได้ไม่ว่าอะไร เพราะทราบว่ามีภาระกิจ แต่สิ่งที่บอกคือ ต้องทำตามข้อบังคับ
" ผมยอมรับว่า จะให้นายกฯ ตอบเองทุกเรื่องไมได้ และบางเรื่องถามลึกลงไปในระดับกระทรวง ก็ไม่สามารถตอบแทนได้ แต่เรื่องนี้ถามว่าใครนำขึ้นทูลเกล้าฯ ใครรับผิดชอบ แม้ไม่ขัดคุณสมบัติ แต่อาจขัดรัฐธรรมนูญ เรื่องการแต่งตั้งบุคคลขัดหลักจริยธรรม ถ้ารัฐมนตรีทั้ง 3 ท่าน รู้ว่านายกฯ มีหลักเกณฑ์อย่างไรในการตั้งรัฐมนตรี ก็ยังพออนุโลมได้ แต่ความจริงไม่ใช่ ต่อไปคนที่รอคิวจะเป็นรัฐมนตรี คงต้องวิ่งไปหา ดังนั้นประธานควรวินิจฉัยเลื่อนไป ไม่ควรสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาใหม่ในทางที่ผิด" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ขณะที่น.ส. รัชดา เจ้าของกระทู้กล่าวว่า ตนต้องการถามนายกฯ ถึงการใช้ดุลพินิจ ตั้งครม.ปู 2 ดังนั้นผู้อื่นไม่น่าจะมีบทบาทตอบแทนได้
" แม้จะได้รับหน้าที่รักษาการนายกฯ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มีบทบาทรักษาการวิญญาณ และดุลยพินิจได้ และที่ยื่นกระทู้สดในวันนี้ ไม่ได้ต้องการกลั่นแกล้งนายกฯ เพราะเข้าใจว่าติดภารกิจในต่างประเทศ และพร้อมที่จะรอ ไม่ได้กล่าวตำหนิอะไร เพราะเราเป็นลูกผู้หญิงด้วยกัน การที่นายกฯ มาตอบจะเป็นการแสดงถึงความสง่างาม และยังได้ปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ถูกกล่าวหาและการรักษาการนายกฯไม่ได้หมายความว่า จะทำหน้าที่รักษาการดุลยพินิจ และวิญญาณของนายกฯ"
ด้านนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ลุกขึ้นยืนยันว่าพร้อมที่จะตอบกระทู้ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งตามข้อบังคับพรรคเขียนไว้ชัดเจนว่า ตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง ไม่ว่านายกฯ หรือรมต.ประจำสำนักฯ ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรค การแต่งตั้ง นางนลินี ทวีสิน เป็นรมต.ประจำสำนักฯ ครั้งนี้ ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของหัวหน้าพรรคและตัวนายกฯ ถ้าประธานเห็นว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็พร้อมที่จะดำเนินการในฐานะหัวหน้าพรรค ส่วนหนึ่งและรักษาการนายกฯ ส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นายเจริญ พยายามอภิปรายโน้มน้าวให้ น.ส.รัชดา ถอนกระทู้ถามดังกล่าว เพื่อไปยื่นถามอีกครั้งในสัปดาห์หน้า หรือไม่ต้องให้นายยงยุทธ ตอบแทน แต่นายอภิสิทธิ์ และส.ส.ฝ่ายค้าน หลายคนอภิปรายแสดงความไม่พอใจ เพราะการถอนกระทู้ถามสดวันนี้ จะทำให้ฝ่ายค้านเสียสิทธิ์ ในการยื่นกระทู้ถามสดในการประชุมครั้งต่อไป
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเข้าใจนายยงยุทธ ที่ประสงค์จะตอบ แต่สภาจะ ต้องยึดหลักการของรัฐธรรมนูญ นายยงยุทธ อ้างว่าเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยนั้น ตนไม่ปฏิเสธ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสภาในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ก้าวล่วงไปถึงพรรคการเมือง แม้คณะกรรมการบริหารพรรค มีมติตามข้อบังคับพรรคอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่การดำเนินการของนายกฯ จะไม่เกี่ยว หรือยึดติดกับมติพรรค ถ้านายกฯ เห็นว่ามติพรรคไม่เหมาะสม ก็ต้องเลือกว่าจะฝืนมติ หรือตัดสินใจทูลเกล้าฯ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัว จึงยืนยันให้วินิจฉัยให้เลื่อนกระทู้ออกไป และให้นายกฯ กำหนดวันมาตอบ
หลังจากมีการโต้เถียงนานกว่า 1 ชั่วโมง นายเจริญ จึงได้วินิจฉัยว่ากระทู้ถามสดของ น.ส.รัชดา จะเลื่อนให้ไปถามในสัปดาห์หน้าแทน
จากนั้น นายเจริญ ได้แจ้งให้เลื่อนกระทู้ถามสดของนายกรณ์ จาติกวณิช เรื่อง ปัญหานโยบายการขายหุ้นปตท. ออกไปเป็นสัปดาห์หน้าทำให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล หลายคนแสดงความคัดค้าน เพราะจะทำให้มีกระทู้สดถึง 5 เรื่องโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ กำหนดการกระทู้ถามสด กระทำได้เพียง 3 กระทู้ โดยถ้าต้องการถามกระทู้สดมากกว่านั้น ต้องขอที่ประชุมสภาฯ ยกเว้นข้อบังคับ ซึ่งการวินิจฉัยของนายเจริญในครั้งนี้ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวก่อน
นายเจริญ ชี้แจงว่า ในเมื่อได้วินิจฉัยแล้วไป ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดไม่มีสิทธิ์มาประท้วงคำวินิจฉัยของประธาน ซึ่งไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงต้องเอาชนะประธานการประชุมขนาดนี้ ในเมื่อห้องประชุมมีสมาชิกเพียงแค่นี้ จากนั้นได้สั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 13.40 น. ท่ามกลางเสี่ยงตะโกนด่าของส.ส.เพื่อไทย ว่า ควรจะเปลี่ยนตัวประธานไปเลย
สำหรับการประชุมสภาฯประจำวันพุธ และวันพฤหัสบดี นับตั้งแต่เดือนม.ค.เป็นต้นมา เป็นที่น่าสังเกตว่า มีการสั่งปิดประชุมสภาฯ ก่อนเวลาอันสมควรหลายครั้ง ในแต่ละครั้งเพิ่งดำเนินการประชุมไปได้เพียง 2-3 ชั่วโมง แต่กลับมีการสั่งปิดประชุมสภาฯ ซึ่งการประชุมสภาฯในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. และสั่งปิดประชุมเวลา 13.30 น.โดยข้อตกลงของสภาฯ ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเวลาการประชุมกำหนดเอาไว้ว่า วันพุธเริ่มประชุมตั้งแต่ 13.00 น.-21.00 น. ส่วนวันพฤหัสบดีเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น.-18.00 น.
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีความวุ่นวายที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมสภาฯในครั้งนี้ ว่า การที่นายกฯ ต้องมอบหมายให้บุคคลอื่นตอบกระทู้ถามสดแทนตนเองนั้น หากเป็นกระทู้ที่มีรายละเอียดเกี่ยวข้องกับกระทรวงต่างๆ ก็สามารถทำได้ แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ก็ควรที่จะเข้ามาตอบเอง
ส่วนการทำหน้าที่ของนายเจริญนั้น ตนมองว่า ประธานพยายามที่จะปกป้องนายกฯ เพื่อที่จะไม่ต้องมาตอบคำถามของฝ่ายค้านในสภาฯ ผู้ที่ทำหน้าที่ประธานในสภาฯ คือประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะอยู่สังกัดพรรคการเมืองใดก็ตาม แต่จะต้องทำหน้าที่เป็นกลาง
ทั้งนี้บรรยากาศช่วงท้ายก่อนที่จะมีการปิดประชุมนั้น ได้เกิดความขัดแย้งกันเองของทางรัฐบาล ซึ่งมี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย จากทางภาคอีสานหลายคน ลุกขึ้นประท้วงประธาน และมีช่วงที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นตะโกนใส่ประธานว่า “ประธานก็เปลี่ยนประธานไปเลย” จึงเป็นเหตุผลทำให้นายเจริญ สั่งปิดประชุมในที่สุด
ด้านนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า บรรยากาศในสภาฯ เหมือนการขัดแย้งกันเองของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจะเป็นการขัดแย้งของทางรัฐบาล กับฝ่ายค้านมากกว่า
ส่วนกรณีที่นายกฯไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภาฯนั้น นพ.วรงค์ กล่าวว่า นายกฯคือตัวแทนของปวงชน ตนจึงอยากจะถามว่า นายกฯ จะกลัวและหนีสภาไปถึงไหน เพราะถ้าวันนี้คุณยังเป็นนายกฯอยู่ สักวันหนึ่งก็ต้องเข้ามาร่วมประชุมสภาฯ อยู่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น