xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อวันที่พระเจ้าอยู่หัวทรงเดือดร้อน !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เห็นขบวนการในการเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยประเด็นที่น่าสนใจจึงอยู่ทีว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นปัญหาของประเทศจริงหรือไม่?

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติเอาไว้ว่า:

มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

เมื่อพิจารณาดังนี้ก็แสดงให้เห็นว่าตราบใดที่ไม่มีใครไป “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ แสดงความอาฆาดมาดร้าย” แล้ว ก็ไม่สมควรจะถูกลงโทษตามกฎหมายดังกล่าวได้เลย ดังนั้นการอ้างว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพใน”การวิจารณ์” จึง”ไม่ใช่เรื่องจริง” ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ประชาชน เจ้าพนักงาน ผู้พิพากษา และบุคคลสำคัญ ต่างก็ได้รับการคุ้มครองในกรณีที่ถูกหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น ทั้งสิ้นจากประมวลกฎหมายอาญา ดังเช่นประชาชนทั่วไปได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393, 326, และ 328

มาตรา 393 ผู้ใดหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำการความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท

จะเห็นได้ว่าแม้แต่ประชาชนทั่วไปยังต้องได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายกรณีการถูกดูหมิ่น และหมิ่นประมาทแล้ว พระมหากษัตริย์ก็ย่อมสมควรได้รับการคุ้มครองกรณีการถูกดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท หรือกรณีการถูกอาฆาดมาดร้ายเช่นกัน

คำถามประการถัดมาก็คือบทลงโทษมากไปหรือไม่ เพราะในขณะนี้มีคณะบุคคลได้พยายามเสนอแนวคิดให้ลดบทลงโทษ ให้ใกล้เคียงกับประชาชนโดยทั่วไป?

ก็ต้องตั้งคำถามว่าการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาดมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย(ทั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 8 และ ทั้งตามความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ) จะก่อให้เกิดความวุ่นวาย ขัดแย้งและการเผชิญหน้าจนถึงขั้นเป็นกลียุคหรือไม่?

ข้อสำคัญเหตุใดบุคคลต่างๆที่ออกมาเคลื่อนไหวยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เหล่านี้กลับไม่คิดจะไปแก้ไขบทลงโทษบุคคลต่างๆที่มีความสำคัญในหลายระดับซึ่งมีบทลงโทษมากกว่าประชาชนทั่วไป แต่กลับมาสนใจในกรณี ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือ อาฆาดมาดร้ายเฉพาะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แต่เพียงอย่างเดียว เช่น

มาตรา 136 ผู้ใดหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 198 ผู้ใดหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีหรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135 ผู้ใดกระทำการใดๆ ต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใด อันมีความหมายถึงรัฐต่างประเทศซึ่งมีสัมพันธไมตรี เพื่อเหยียดหยามรัฐนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา134 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายผู้แทนรัฐต่างประเทศ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 133 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้นหากเป็นไปตามที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลดอัตราโทษขั้นสูงต่อพระมหากษัตริย์ไม่เกิน 2 ปี จะอธิบายได้อย่างได้ว่า บทลงโทษในการถูกหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น ของพระมหากษัตริย์นั้น ต่ำกว่าราชาธิบดีหรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต่ำกว่าผู้แทนรัฐต่างประเทศ และต่ำกว่าผู้พิพากษา ดังนั้นการเสนอที่ไม่ครบรอบด้านนี้ย่อมถูกสังคมตั้งคำถามถึงเจตนาได้ว่าต้องการสนับสนุนให้เกิดการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาดมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ มากกว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ใช่หรือไม่? ทั้งๆที่บุคคลเหล่านี้ต่างจากพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 8 ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า:

“มาตรา 8 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”


และความจริงที่ยิ่งไปกว่านั้น ที่นักวิชาการหรือสื่อมวลชนบางแขนงได้กล่าวร้ายและถากถางว่าประเทศไทย กำลังจะทำตัวไปอยู่นอกโลก เพราะสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกนั้นถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี แต่ในความเป็นจริงแล้วสหรัฐอเมริกาซึ่งมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการลงโทษในประเทศไทยนั้น ก็มีกฎหมายคุ้มครองประธานาธิบดีไม่ให้ถูกดูหมิ่น หรือ อาฆาดมาดร้ายเช่นกัน และมีการบังคับใช้กฎหมายแล้ว หลายกรณี เช่น

กรณีที่นายจอห์นนี่ โลแกน สเปนเซอร์ ได้เขียนกลอนลงในเว็บไซต์ เมื่อ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 และอีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552 ซึ่งกลอนดังกล่าวได้เขียนในลักษณะการบรรยายการใช้ปืนสไนเปอร์ยิงไปยังประธานาธิบดี ซึ่งไม่ได้ระบุว่าชื่ออะไร ศาลมลรัฐแคนตักกี้ได้ตัดสินว่าผิดและให้จำคุกนายจอห์นนี่ โลแกน สเปนเซอร์ 33 เดือน (จากโทษจำคุกสูงสุดได้ถึง 15 ปี)

เช่นเดียวกันกับกรณีของนายลุก แองเจิล ซึ่งเป็นวัยรุ่นชาวอังกฤษอายุ 17 ปี ได้ส่งอีเมล์ไปยังทำเนียบขาวของสหรัฐอเมริกา โดยเรียกประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า prick ซึ่งหมายถึง อวัยวะเพศชาย ผลปรากฏว่าสหรัฐอเมริกาได้ใช้มาตรการตอบโต้ขึ้นบัญชีดำห้ามนายลุก แองเจิล เข้าประเทศสหรัฐอเมริกา

ขนาดประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งและมีวาระคราวละ 4 ปี แต่ไม่เกิน 2 สมัย ยังมีบทลงโทษผู้ที่ดูหมิ่นและหมิ่นประมาทที่เข้มงวดขนาดนี้ แต่พระมหากษัตริย์ไทยซึ่งอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะและยังต้องดำรงสถานภาพและพระเกียรติจนหมดวาระเมื่อเปลี่ยนรัชกาลเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมายในการปกป้องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐเช่นกัน


คำถามในประเด็นถัดมาก็คือการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มากลั่นแกล้งประชาชน หรือกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งคนที่น่าจะให้คำตอบในเรื่องที่ถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองมากที่สุดในยุคนี้ชื่อ “สนธิ ลิ้มทองกุล”

เมื่อคืนวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ แล้วได้นำเนื้อหาการปราศรัยของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล (ดา ตอปิโด) เพื่อให้สังคมได้รับทราบการดูหมิ่น และอาฆาดมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างไร โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ดำเนินการจับกุมอะไรทั้งสิ้น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับดำเนินคดีอาญากับนายสนธิ ลิ้มทองกุล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แสดงออกเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งความแตกต่างกันคนละขั้วกับเจตนาของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล อย่างสิ้นเชิง ซึ่งได้พูดดูหมิ่น อาฆาดมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ แต่ทั้งสองคนกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีความอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เหมือนกันได้อย่างไร?

ในทางตรงกันข้ามแกนนำ นปช. บางคนยังได้แถลงข่าวส่งเสริมให้ถอนประกันตัวนายสนธิ ลิ้มทองกุล โดยอ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยอ้างว่าเพื่อความเท่าเทียมกัน ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น นักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในวันนี้ กลับไม่ได้แสดงออกในทางสาธารณะหรือทางวิชาการ ในเรื่องความไม่เป็นธรรมกรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในเวลานั้นเลยแม้แต่น้อย

เช่นเดียวกับกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ได้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร เมื่อพ.ศ. 2548 แล้วแสดงความเห็นการกระทำไม่เหมาะสมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อพระราชอำนาจและสถาบันพระมหากษัตริย์ ผลปรากฏว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ น.ส. สโรชา พรอุดมศักดิ์ กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายพื้นที่ทั่วประเทศไล่ฟ้องเอาผิดตามประมวลกฎหมาอาญามาตรา 112 ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทั้งๆที่พฤติกรรมของทั้งสองคนตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

แต่เรากลับไม่เห็นนักวิชาการที่อ้างความไม่เป็นธรรมในเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในเวลานี้ ได้ออกมาสู้และแสดงความเห็นเพื่อให้ความเป็นธรรมให้กับนายสนธิ ลิ้มทองกุล และน.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ในเวลานั้นแต่ประการใด ?

จึงย่อมทำให้เกิดความสงสัยได้ว่า นักวิชาการเหล่านี้เขาเคลื่อนไหวเฉพาะคนที่ถูกดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาที่ได้กระทำผิดจริงๆ แต่กลับไม่เคยเคลื่อนไหวให้กับคนที่ถูกกลั่นแกล้งรังแก เพียงเพราะเขาเหล่านั้นแสดงออกด้วยเจตนาปกป้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ใช่หรือไม่?

เมื่อถึงประเด็นนี้จึงย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าปัญหาที่แท้จริงในวันนี้ไม่ใช่ “ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” แต่ปัญหาอยู่ที่ “การบังคับใช้กฎหมาย” ซึ่งอยู่ที่การตัดสินใจของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่อยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองต่างหาก ในการพิจารณาเส้นแบ่งและเป้าหมายระหว่าง “การวิจารณ์และพูดถึงพระมหากษัตริย์” กับ “การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาดมาดร้าย” ซึ่งสองประการนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ความจริงแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เคยทรงปิดกั้นเรื่อง “การวิจารณ์”พระองค์ท่าน โดยในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีกระแสพระราชดำรัสในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นผลทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศต้องหยุดการดำเนินคดีความอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับนายสนธิ ลิ้มทองกุล และ น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ในวันถัดมา โดยพระราชดำรัสในครั้งนั้นความตอนหนึ่งว่า:

“แต่อย่างไรก็ตามเข้าคุกแล้ว ถ้าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เองเดือดร้อน เดือดร้อนหลายทาง ทางหนึ่งต่างประเทศเค้ามองเมืองไทยพูดวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ก็เข้าคุก มีเข้าคุก เดือดร้อนพระมหากษัตริย์ ต้องบอกว่า เข้าคุกแล้วต้องให้อภัย ที่เค้าด่าเราอย่างหนักๆ ฝรั่งเค้าบอกว่าในเมืองไทย พระมหากษัตริย์ถูกด่าเข้าคุก ที่จริงควรจะเข้าคุก แต่เพราะฝรั่งบอกอย่างนั้น ก็ไม่ให้เข้า ไม่มีใครกล้าเอาคนที่ด่าพระมหากษัตริย์เข้าคุก เพราะพระมหากษัตริย์เดือดร้อน เพราะเค้าหาว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนที่ไม่ดี อย่างน้อยๆที่สุดก็เป็นคนที่จั๊กจี้ ใครมาว่าสักนิดก็บอกให้เข้าคุก ที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุก...

“อันนี้นักกฎหมายก็สอนนายกฯ บอกว่าต้องฟ้อง ต้องลงโทษ นี่ขอสอนนายกฯว่า ใครบอกว่าให้ลงโทษ อย่าลงโทษเค้า ลงโทษไม่ดี ลงท้ายไม่ใช่นายกฯเดือดร้อน แต่พระมหากษัตริย์เดือดร้อน หรืออยากให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน ก็ไม่รู้นะ เค้าทำผิดด่าพระมหากษัตริย์ เพื่อที่จะให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน แล้วเดือดร้อนจริงๆเพราะใครมาด่าเราชอบหรือไม่ ไม่ชอบ แต่ถ้านายกฯเกิดลงโทษแย่เลย แล้วนักกฎหมายต่างๆ ก็จะให้ลงโทษที่ด่าพระมหากษัตริย์ ทำไปทำมาเลยต้องเอาวะ เค้าด่านายกฯ ถ้าด่านายกฯ เดือดร้อนไหม ไม่ควรจะเดือดร้อน แต่ถ้าด่านายกฯ พระมหากษัตริย์ไม่เดือดร้อน เพราะว่าเป็นเรื่องของนายกฯ แต่ถ้าเค้าด่าพระมหากษัตริย์นายกฯเดือดร้อน เพราะว่าต้องเป็นคนจัดการ เรื่องมันยุ่งอย่างนี้”


สำหรับคนไทยแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจและจิตวิญญาณของคนในชาติ ที่ปวงชนชาวไทยต่างเคารพสักการะ ไม่ใช่เพราะบรรพบุรุษได้สั่งสอนตกทอดกันมา หรือเป็นเพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ หากแต่เป็นเพราะเหล่าปวงชนชาวไทยได้เห็นประจักษ์ชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรมและทรงพระราชกรณียกิจอย่างมากมาย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ ประชาชนชาวไทยจึงได้เคารพสักการะ เทิดทูน และพร้อมปกป้องด้วยชีวิต โดยไม่ต้องมีกฎหมายใดๆ มาบัญญัติทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น