xs
xsm
sm
md
lg

ความกลัวและระแวงพฤติกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

หากเราจะต้องพิจารณาพระราชกำหนด 4 ฉบับ ที่รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะออกกฎหมาย 4 ฉบับนี้ให้ได้นั้น เราคงจะต้องชำแหละ พ.ร.ก.ฉบับที่รัฐบาลต้องการปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้กู้ เพื่อช่วยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. .... เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น 1.14 ล้านล้านบาท

ก่อนอื่นต้องวิเคราะห์ว่า “การบริหารหนี้เงินกู้” ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้กู้นั้น ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้โอนความรับผิดชอบในการบริหารหนี้ซึ่งฝ่ายบริหารเป็นผู้ก่อเอง ไปให้กับองค์กรอิสระซึ่งเป็นผู้ควบคุมระบบการเงินการคลังของชาติ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบแทนรัฐบาลเป็นเรื่องใหญ่และแน่นอนต้องมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง

หน้าที่รับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารชาติ ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ตามมาตรา 7 ระบุว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินภารกิจ อีกทั้งเป็นงานของธนาคารกลาง เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน” โดยมีพันธกิจหน้าที่ 9 ประการ คือ

1. ออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร

2. กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน

3. บริหารจัดการสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

4. เป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล

5. เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน

6. จัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน

7. กำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน

8. บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมทั้งบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา

9. ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน

ตามนัยแห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 จะเห็นได้ชัดเจนว่าธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ในการควบคุมมากกว่าการมาบริหารหนี้ให้รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ก่อไว้ตามนโยบายของรัฐบาลเอง เพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาลเอง เช่น เป็นหนี้ใช้ในการบริหารแต่เกิดผิดพลาดก็กลายเป็นหนี้ทับถม หรือเพื่อประโยชน์ของนโยบายพรรค เช่น ใช้หลักประชานิยมประยุกต์สร้างฐานการเมือง ก็จะเป็นการสร้างหนี้แบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ปรัชญาของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธนาคารชาติมาแต่อดีตนั้น คือ เป็นตัวกลาง เป็นสื่อกลางในทางการค้า ทางเศรษฐกิจ และการเงินการคลัง รวมทั้งเป็นผู้ควบคุมการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ มิให้เอาเปรียบประชาชนหรือผู้บริโภค รวมทั้งไม่ให้ต่างชาติเข้ามาเอาเปรียบระบบการเงินของประเทศ

แนวคิดนี้มีมาตั้งแต่ครั้งรัฐสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เริ่มสัมฤทธิผลอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ. 2481 โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้นดำเนินการจัดตั้งธนาคารชาติไทยขึ้น อันเป็นก้าวแรกด้วยความมุ่งหวังที่จะให้เป็นสากล และควบคุมนโยบายการเงินอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาล เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับต่างชาติ ว่ารัฐบาลจะไม่แทรกแซงกิจการของธนาคารแห่งชาติ หรือปัจจุบันคือธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารชาติเปิดทำการอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 และในปีต่อมากองทัพญี่ปุ่นก็เปิดศึกมหาเอเชียบูรพา บุกประเทศไทย และบังคับให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมเป็นวงษ์ไพบูลย์รบกับชาติพันธมิตรตะวันตก และบังคับให้รัฐบาลไทยยอมรับระบบการจัดการธนาคารกลางแบบของญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งบุคคลระดับหัวหน้าเข้ามาบริหารทับซ้อนกับหัวหน้างานของไทย แต่รัฐบาลไทยไม่ยอม ได้มอบให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ดำเนินการร่างกฎหมายเพื่อเป็นธนาคารกลาง และออก พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2485

เพราะว่ารัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไม่ต้องการให้ญี่ปุ่นเข้าครอบงำนโยบายการเงินการคลังของไทย จึงให้เป็นธนาคารกลางดำเนินการอย่างอิสระ เพื่อเสถียรภาพนโยบายการเงินของไทยและญี่ปุ่นจะครอบงำไม่ได้

การออก พ.ร.ก.ของรัฐบาลนี้เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมี พ.ร.บ.กำกับไว้เป็นแม่บทกฎหมาย ถึงแม้ว่าไม่ใช่นักกฎหมายก็ย่อมรู้แล้วว่า เอากฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่ามาบังคับกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า มีขั้นตอนมากกว่า และมีผลทางการเมืองต่างกัน จึงอนุมานได้ว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ กำลังแทรกแซงการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะในร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้และฉบับอื่น จะเปิดช่องให้ ครม.มีอำนาจสามารถสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย โอนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือที่ดิน และทุกอย่างที่กำหนดในมาตรา 5 ตามที่คณะรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ 1/1 ได้ออกแบบไว้ ที่จะเข้าไปยึดอำนาจ หรือมีอิทธิพลเหนือธนาคารแห่งประเทศไทย

เพราะฉะนั้นการโอนย้ายหนี้เงิน การหนีภาระความรับผิดชอบของรัฐบาล เพราะกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน อันเป็นภาระหนี้ที่หนักหนาสากรรจ์ ดูแล้วทำให้เห็นว่าเป็นหนี้สาธารณะมากเกินไป และเมื่อโอนหนี้แล้วทำให้รัฐบาลดูมีเครดิตดีขึ้น กู้เงินเพื่อนโยบายพรรคเพื่อไทยและเพื่อทักษิณได้มากขึ้น สะดวกขึ้น เพราะหากเป็นหนี้ล้นเพดาน ต่างชาติไม่ให้กู้แน่นอน แต่นัยสำคัญก็คือว่าหากต่างชาติรู้ทัน และยิ่งกลัวอำนาจของรัฐบาลเหนือธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสื่อกลางการควบคุมนโยบายการเงินของรัฐและภาคเอกชน ต่างชาติก็จะปฏิเสธนโยบายการเงินของไทยโดยปริยาย

พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ มีความสัมพันธ์กันทั้งในเชิงการเมืองและการสร้างอำนาจ ซึ่งสอดคล้องกับการปรับคณะรัฐมนตรีปูแดง 1/2 เมื่อมีแกนนำเสื้อแดง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะมาดูแล พ.ร.ก. แก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อปล่อยเงินกู้ 3 แสนล้านบาท พ.ศ. .... เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยกู้แก่ผู้ประสบอุทกภัย และ พ.ร.ก. 3.5 แสนล้านบาท เพื่อโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาลช่วงเดือน ธ.ค.2555 – 2557 ซึ่งเป็นเงินกู้ทั้งในและนอกประเทศ

ความหมายสำคัญของพ.ร.ก. 4 ฉบับนี้ก็คือการซื้อประเทศ ซื้อ อบต. อันเป็นสังคมการเมืองย่อยของชาติด้วยเงินกู้เหล่านี้ตาม พ.ร.ก. 2 ฉบับนี้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีลุ่มน้ำตลอดแนวเหนือใต้อันเกิดจากแหล่งน้ำ 4 สาย ไหลลงอ่าวไทยก็ดี และทุกภาคมีแม่น้ำลำธารผ่านหมู่บ้านทั้งหมดในประเทศ

เงินก็จะสะพัดมหาศาลไหลลงสู่หมู่บ้านทั้งหมดทั่วประเทศเพื่อโครงสร้างพื้นฐานป้องกันน้ำท่วม ประกันน้ำท่วม การกักเก็บน้ำ ซึ่งรมว.สมศักดิ์ เทพสุทินและคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็เคยคิดมาแล้ว อบต.ทุกแห่งก็จะมีเงินจากรัฐบาลท่วมท้น

ยุทธศาสตร์กลืนชาติของทักษิณ เสื้อแดง และกลุ่มนายทุนสามานย์กำลังจะสัมฤทธิผล หากพระราชกำหนดนี้มีผลบังคับใช้ เรื่อง 7.75 ล้านต่อศพของคนเสื้อแดง จะกลายเป็นเรื่องเล็กไปทันที เพราะว่าอำนาจเงินเป็นแสนๆ ล้านบาท จะกระจายซื้อคนไทยทุกหย่อมหญ้าอย่างง่ายดาย

นี่คือความกลัวของผม จินตยุทธ์ทางการเมืองของทักษิณ เสื้อแดง และนายทุนสามานย์เป็นเรื่องน่ากลัว และคนไทยต้องต่อต้านอย่าให้เกิดขึ้น แต่หากเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้ว ควรจะนำเข้าสภาผู้แทนราษฎรให้ตรากฎหมายเป็นพระราชบัญญัติจะดีกว่า ได้เห็นกันชัดเจนว่าจะเอาเงินไปทำอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น