xs
xsm
sm
md
lg

TTAเล็งลดสัดส่วนถือหุ้นยูนิคไมนิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ เล็งทยอยขายหุ้น ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส หลังปั้นมีกำไรเติบโตดี เพื่อลดสัดส่วนถือหุ้นจากปัจจุบันถือ 89% เล็งซื้อเรือเพิ่มเป็น 25-30 ลำ จากปัจจุบัน 16 ลำ รองรับปี57 ธุรกิจเดินเรือขาขึ้น “ผู้บริหาร”แย้ม 2-3 ปี เตรียมสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศ พร้อมคาดรายได้ปีนี้ใกล้เคียงปีก่อน จากธุรกิจเดินเรือยังไม่ฟื้น
 

ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน)หรือ TTA เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะขายหุ้น บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน)หรือ UMS ออกมาในอนาคต ซึ่งขณะนี้บริษัทจะมีการบริหารงานให้ทาง UMS มีกำไรเติบโตที่ดี เพื่อที่จะสะท้อนกลับมาที่ราคาหุ้นให้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น TTA ก็จะทยอยขายหุ้นออก โดยเป็นการลดสัดส่วนการถือหุ้นลง เหลือไม่ต่ำกว่า 51% จากปัจจุบันที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 89%

ทั้งนี้สาเหตุที่บริษัทจะมีการขายหุ้นUMS ออกมานั้น เนื่องจาก ช่วงแรกที่บริษัทเข้าไปลงทุนไม่ต้องการที่จะถือหุ้นในสัดส่วนที่สูง แต่ต้องการที่จะถือหุ้นที่สามารถบริหารจัดการได้ แต่พอบริษัทเข้าไปซื้อหุ้น34% ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้บริษัทจะต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด ส่วนการที่ราคาหุ้นของUMS ปัจจุบันไม่ค่อยเคลื่อนไหวเนื่องจาก ปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai)น้อย

สำหรับในวันที่ 23 มกราคมนี้ ตนจะไปให้ข้อมูลกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษตามหมายเรียก หลังจากที่ทางผู้ถือหุ้นรายย่อยได้มีการยื่นคำร้อง โดยประเด็นส่วนใหญ่จะเป็นการตอบคำถามเกี่ยวกับการเข้าไปลงทุนในยูนิค ไมนิ่ง ที่บริษัทเข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่แพง แต่บริษัทมองว่าเป็นโอกาสในการลงทุนและต่อยอดธุรกิจและทำให้บริษัทมีการทำธุรกิจที่ครบวงจร คือ บริษัทมีเหมืองถ่านหิน ซึ่งยูนิคไมนิ่ง นำถ่านหินของบริษัทไปจำหน่ายโดยขนส่งผ่านเรือของบริษัท ที่สามารถนำไปขายกับลูกค้าได้โดยตรง

นอกจากนี้ในอนาคตอีก 2-3 ปี เมื่อบริษัทสามารถผลิตถ่านหินหลังจากที่มีการจำหน่ายให้ลูกค้าและ บริษัท ยูนิคไมนิ่ง แล้วมีปริมาณถ่านหินเหลือ 5 ล้านตันต่อปี บริษัทจะมีการสร้างโรงไฟฟ้า ถ่านหิน โดยจะเป็นการสร้างในต่างประเทศ มีความเป็นไปได้ที่ประเทศอินโดนีเซีย และ ฟิลลิปปินส์ จากที่บริษัทมีเหมืองถ่านหินในประเทศดังกล่าวและสะดวกและประหยัดในการขนส่ง

ม.ล. จันทรจุฑา กล่าวว่า ในประเด็นเรื่องการไม่ใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอแรนท์)หุ้น UMS เพราะ มองว่าไม่คุ้มค่าในการลงทุน เพราะ หากบริษัทใช้สิทธิแปลงสภาพฯจะต้องใช้เงินจำนวน 480 ล้านบาท ซึ่งจะได้หุ้นเพิ่มมากอีกเพียง 2% เท่านั้น จากในช่วงแรกที่บริษัทใช้เงินลงทุน 3,900 ล้านหุ้น โดยได้หุ้นUMS มาจำนวน 89% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
ทั้งนี้บริษัทคาดว่ารายได้ปีนี้ 2555 (ต.ค.54-ก.ย.55)คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนหรือปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ที่มีรายได้ 1.75 หมื่นล้านบาท จากที่ธุรกิจเดินเรือในปีนี้ยังไม่ดี จากดัชนีค่าระวางเรือ (DBI)ไม่สูงจากปีก่อนเพราะ ปัญหาเศรษฐกิจโลก และ จำนวนกองเรือที่มีอยู่จำนวนมากสูงกว่าความต้องการใช้ และ บริษัทมีจำนวนเรือที่ต่ำกว่าในช่วงปีก่อน แต่ธุรกิจที่จะเข้ามาชดเชยรายได้ธุรกิจเดินเรือคือธุรกิจพลังงาน ซึ่งรายได้หลักจากบริษัทเมอร์เมด มาริไทม์จากการฟื้นตัวของธุรกิจวิศวกรรมไต้น้ำ และ ราไยด้จากประเทศเวียดนามในการทำธุรกิจขนส่งอย่างครบวงจร แต่ในส่วนของกำไรปี 55 คาดว่าจะเติบโตมากกว่าปี 54 จากที่บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นมาร์จิ้น (มาร์จิ้น)สูงขึ้น และไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรอง จากเรือที่ไม่มีสัญญาว่าจ้าง

“รายได้ของบริษัทจะปรับตัวดีในช่วงไตรมาส2-4 ปีนี้ แต่ในช่วงไตรมาส1/55 (ต.ค.-ธ.ค.54)ไม่ดีจากเป็นช่วงโลซีซัน ที่เมอร์เมดไม่สามารถที่จะทำงานได้จากเป็นช่วงมรสุม ส่วนการเข้ามาถือหุ้นของนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท จากที่มองเห็นโอกาสในการลงทุนและที่ผ่านมาได้มีการพคุยกันแล้ว 2-3 ครั้ง โดยที่นายเฉลิมชัย ไม่ได้พูดถึงการเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท และทางบริษัทมีความสัมพันธ์กับครอบครัวมหากิจศิริ ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในบริษัทปิโตรลีฟ 40% ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่ฟิลลิปปินส์เป็นของนายลอร์เน ลี โอนีโอ สามีของนางอุษณี มหากิจศิริ มาก่อนหน้านี้แล้ว ”ม.ล.จันทรจุฑา กล่าว

สำหรับธุรกิจเดินเรือในปีนี้ที่ยังไม่ดีนั้นถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทที่จะเข้าไปซื้อเรือเพิ่มจากที่จะมีบริษัทเดินเรือที่ประสบปัญหาทางการเงินนำเรือออกมาขาย ทำให้บริษัทสามารถซื้อเรือได้ในราคาถูก โดยบริษัทมีเป้าหมายจะมีกองเรือจำนวน 25-30 ลำ จากปัจจุบันที่มีเพียง 16 ลำ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจจากที่บริษัทประเมินว่าในปี 2556-2557 ธุรกิจเดือนเรือจะอยู่ในช่วงขาขึ้นจากจำนวนกองเรือในตลาดจะน้อยลงขณะที่ความต้องการใช้เรือเพิ่มขึ้น โดยเงินที่จะนำมาซื้อเรือจากกระแสเงินสด ที่บริษัทมีจำนวน 3 พันล้านบาท และเงินกู้จากสถาบันการเงิน
กำลังโหลดความคิดเห็น