xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

2555 จับตาแผ่นดินไหว อย่ากระพริบตา 5 รอยเลื่อนมรณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เหตุแผ่นดินไหวนั้น ถือเป็นภัยพิบัติหนึ่งที่คนไทยกำลังหวาดวิตกอย่างมากในขณะนี้ เนื่องจากกระแสเรื่อง 'คำทำนายของเด็กชายปลาบู่' ที่ทำนายว่า “ในช่วงเวลายามสองของคืนปีใหม่ พ.ศ.2555 นี้ จะเกิดเหตุการณ์เขื่อนที่จังหวัดตากพัง รวมทั้งการเกิดแผ่นดินไหวจนผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง” ซึ่งกำลังดังกระฉ่อนไปทั่วโลกไซเบอร์ ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตากต้องออกมาประกาศจัดงานเคาท์ดาวน์ บริเวณสันเขื่อนภูมิพล ในคืนวันที่ 31 ธ.ค.2554 เพื่อสยบคำทำนาย

ด้วยเหตุดังกล่าว คนส่วนใหญ่อยากรู้ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ ? และหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นจริงผลกระทบที่ตามมาจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด ?

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าเหตุแผ่นดินไหวในประเทศไทยนั้นมีจุดกำเนิดจากการที่แผ่นดินของประเทศอินเดียเคลื่อนตัวมาชนกับทวีปเอเชียเมื่อ 15 ล้านปีที่แล้วทำให้เกิดรอยเลื่อนใหญ่จำนวนมากในประเทศแถบเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย แต่นับว่าประเทศไทยโชคดีที่โดนแค่หางของแผ่นดินไหวเท่านั้น ทั้งนี้งานวิจัยรอยเลื่อนในไทย เมื่อปี 2546 ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ บันทึกไว้ว่าทั่วประเทศมีรอยเลื่อนทั้งหมดถึง 121 รอย กระจายอยู่ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ แต่ส่วนใหญ่เป็นรอยเลื่อนที่ไม่มีพลัง

ขณะที่ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่มีพลัง ทั้งสิ้น 13 รอย ประกอบด้วย

1.รอยเลื่อนแม่จันและแม่อิง ครอบคลุม จ.เชียงรายและเชียงใหม่
2.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ครอบคลุม จ.แม่ฮ่องสอนและตาก
3.รอยเลื่อนเมย ครอบคลุม จ.ตากและกำแพงเพชร
4.รอยเลื่อนแม่ทา ครอบคลุม จ.เชียงใหม่ ลำพูนและเชียงราย
5.รอยเลื่อนเถิน ครอบคลุม จ.ลำปางและแพร่
6.รอยเลื่อนพะเยา ครอบคลุม จ.ลำปาง เชียงรายและพะเยา
7.รอยเลื่อนปัว ครอบคลุม จ.น่าน
8.รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ครอบคลุม จ.อุตรดิตถ์
9.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และราชบุรี
10.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรีและอุทัยธานี
11.รอยเลื่อนท่าแขก ครอบคลุม จ.หนองคายและนครพนม
12.รอยเลื่อนระนอง ครอบคลุม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนองและพังงา และ
13.รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ครอบคลุม จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่

นอกจากนั้นยังมี 'รอยเลื่อนองครักษ์' ในจังหวัดนครนายก ซึ่งล่าสุดจากการศึกษาของหลายหน่วยงานระบุตรงกันว่ารอยเลื่อนดังกล่าวมีโอกาสที่จะเคลื่อนตัวได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นคำยืนยันจาก 'รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ' หัวหน้าหน่วยวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งชี้ว่ารอยเลื่อนองครักษ์เป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง ขณะที่จากภาพถ่ายดาวเทียมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่ารอยเลื่อนองครักษ์นั้นมีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนแม่ปิง ที่พาดผ่าน จ.นครสวรรค์ มาทาง จ.กำแพงเพชร ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันออกเฉียงใต้ โดยแนวดังกล่าวมีความยาว 50-100 กิโลเมตร และเมื่อ 600 ถึง 700 ปี ที่ผ่านมามีหลักฐานทางธรณีวิทยาว่า บริเวณนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์มาแล้ว และมีความเป็นไปได้ในการอุบัติซ้ำ พร้อมทั้งได้เสนอให้กระทรวงทรัพยากรฯ ดำเนินการสำรวจและเพิ่มแนวรอยเลื่อนที่มีพลังของประเทศไทย จากเดิมที่มี 13 แห่ง เป็น 14 แห่ง

ทั้งนี้ การจะระบุว่ารอยเลื่อนใดเป็น “รอยเลื่อนมีพลัง” (active fault) หรือไม่นั้น หน่วยสำรวจธรณีวิทยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey: USGS) ให้นิยามว่า ต้องเป็นรอยเลื่อนที่จะทำให้แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในอนาคต และต้องมีการเคลื่อนที่อย่างน้อย 1 ครั้งภายในระยะเวลา 1 หมื่นปี

สำหรับลอยเลื่อนที่น่าจับตาเนื่องจากพบว่ามีสติการเคลื่อนตัวบ่อยครั้งกว่ารอยเลื่อนอื่น ได้แก่
1.รอยเลื่อนแม่จัน ครอบคลุม จ.เชียงรายและเชียงใหม่ เคยเกิดแผ่นดินไหวในระดับ 5 ริกเตอร์
2.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และราชบุรี เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้กับเขื่อนเขาแหลม และเขื่อนศรีนครินทร์
3.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี ตาก และอุทัยธานี เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้กับเขื่อนภูมิพล เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง เคยเกิดแผ่นดินไหวที่มีความแรงถึง 5.9 ริกเตอร์ ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุด และแรงสั่นสะเทือนส่งถึงกรุงเทพนอย่างชัดเจน
4.รอยเลื่อนแม่ปิง เป็นจุดที่อยู่ใกล้กรุงเทพ
5.รอยเลื่อนองครักษ์ เป็นรอยเลื่อนที่มีหลักฐานทางธรณีวิทยาว่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์ในช่วง 700 ปีที่ผ่านมา และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอีก

“ รอยเลื่อนที่นักธรณีวิทยาให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้มีอยู่ 4-5 รอย อย่างรอยเลื่อนเจดีย์ 3 องค์และรอยเลื่อนแม่ปิง เป็นที่จับตาเนื่องจากอยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ ส่วนรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ก็เป็นจุดที่ตั้งของเขื่อนพอดี ทำให้ผู้คนวิตกว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวจะทำให้เขื่อนแตกหรือเปล่า ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ ซึ่งเราก็ต้องช่วยกันคิดว่าหากรอยเลื่อนต่างๆขยับตัว เราจะอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นอย่างปลอดภัยได้อย่างไร จะรับมือยังไง เพราะต้องยอมรับว่าลอยเลื่อนจากแผ่นดินไหวนั้นก่อให้เกิดแขนงเละแนวเส้นที่มีความเปราะบางขึ้นมากมาย ในพม่าก็ดี จีนก็ดี ลาวก็ดี เขามีแนวเส้นที่เปราะบางอันก่อให้กิดแผ่นดินไหวใหญ่ๆอยู่มากมาย แต่ไทยโชคดีที่มีแนวเส้นเปราะบางอยู่ไม่กี่เส้น” 'รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ' หัวหน้าหน่วยวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูล

สำหรับรอยเลื่อนในประเทศเพื่อนบ้านที่น่าจับตา ได้แก่รอยเลื่อนสกาในประเทศพม่า ซึ่งส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในประเทศพม่าทุกๆ 40 ปี ส่งผลให้เมืองต่างๆที่ตั้งอยู่แถบลุ่มน้ำอิรวดี ไม่ว่าจะเป็น พระโค หงสาวดี หรือกรุงอังวะ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งแขนงของรอยเลื่อนสกาที่วิ่งมายังประเทศไทยนั้นมีอยู่ 2 แขนง คือรอยเลื่อนแม่ปิง และรอยเลื่อนเจดีย์ 3 องค์ ซึ่งเดินขนานกับรอยเลื่อนแม่ปิง โดยแขนงดังกล่าวพาดพ่านจากพม่าเข้ามาทางภาคตะวันตกของไทย ผ่านภาคกลาง แล้วเลยไปถึงกัมพูชา ออกไปยังทะเลจีน หากแต่ยังไม่ได้แผลงฤทธิ์อะไรมากมายนัก

ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งระบุว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานั้น มีการเกิดแผ่นดินไหวเฉพาะในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวนถึง 15,000 ครั้ง แต่ที่น่าสังเกตคือบริเวณที่มีความปลอดภัยสูงที่สุดคือประเทศกัมพูชา เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวพบว่าประเทศกัมพูชาเป็นจุดปลอดแผ่นดินไหว ขณะที่ประเทศที่มีแผ่นดินไหวมากที่สุดคือประเทศพม่า โดยรอยเลื่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงคือรอยเลื่อนสกา ซึ่งครั้งที่หนักมากนั้นมีความรุนแรงถึง 8 ริกเตอร์ เมืองหลวงเก่าอย่างกรุงย่างกุ้งนั้นเคยเกิดแผ่นดินไหวถึง 7.3 ริกเตอร์ แม้จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เนปิดอว์ก็ยังอยู่ในแนวรอยเลื่อนที่มีพลัง ส่วนแผ่นดินไหวในลาว ครั้งที่รุนแรงมากเกิดใกล้กับเมืองชัยบุรี ความแรง 6.5 ริกเตอร์

ขณะที่แผ่นดินไหวในไทยซึ่งถือว่ารุนแรงมาก มีอยู่ 2 จุดด้วยกัน คือที่ อ.ท่าสองยาง ความแรง 5.6 ริกเตอร์ และที่ด่านเจดีย์สามองค์ ความแรง 5.9 ริกเตอร์ เมื่อปี 2526 ส่วนบริเวณที่ปลอดจากแผ่นดินไหวคือพื้นที่ภาคอีสานซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเลย

อย่างไรก็ดี การจะคาดการณ์ว่าเหตุแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร และเกิดจากรอยเลื่อนใดนั้นนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา รวมถึงนักวิชาการจากศูนย์เตือนภัยพิบัติ ต่างก็ยืนยันตรงกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถคำนวณเหตุแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้

“ เรามีเพียงสถิติที่บอกว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวที่นั่นที่นี่ ขนาดกี่ริกเตอร์ แต่บอกไม่ได้ว่าอนาคตจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร บริเวณไหน” ดร.สมิทธ ธรรมสาโรช อดีตประธานกรรมการอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุ

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ปัญญา ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ผลกระทบอันเนื่องมาจากแผ่นดินไหวประการหนึ่งซึ่งน่าวิตกแต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงคือกรณีที่ 'น้ำกระฉอกออกจากเขื่อน' อันเนื่องมาจากการที่แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวส่งผลให้เกิดรอยร้าวในเขื่อน ทำให้ดินภายในเขื่อนยุบตัว น้ำในเขื่อนจึงเกิดการเคลื่อนไหวและกระฉอกออกมา ซึ่งผลกระทบจากกรณีนี้ไม่รุนแรงมากนัก เพราะน้ำที่กระฉอกออกจากเขื่อนมีปริมาณไม่มาก ต่างจากกรณีเขื่อนแตก อีกทั้งยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ก็เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่บริเวณท้ายเขื่อนต้องระมัดระวัง

ทั้งนี้ ไม่ว่าในปี 2555 จะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นหรือไม่ หากเกิดจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ โดยสิ่งที่ควรดำเนินการเป็นอันดับแรกคือหน่วยงานภาครัฐต้องทำการสำรวจว่ามีบริเวณใดบ้างที่เป็นทางผ่านของรอยเลื่อน พื้นที่ใดที่มีสถิติการเกิดแผ่นดินไหว และจัดทำเป็นข้อมูลแจกจ่ายให้ประชาชนได้รับทราบ ขณะที่ประชาชนก็ต้องเตรียมพร้อม โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้แนวรอยเลื่อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างบ้านเพื่อรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว การซักซ้อมการอพยพ สำรวจเส้นทางที่จะใช้อพยพกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว เพื่อความไม่ประมาทหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น !!
กำลังโหลดความคิดเห็น